Home » ข่าว » “พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด”

“พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด”

“พิพิธภัณฑ์โนราเติม วิน วาด”

            ข้าพเจ้าห่างเหินการเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนสพ.ทั้งออนไลน์และกระดาษไปนาน ก่อนหน้านี้เคยทำหน้าที่นี้ในไทใต้ กรุงเทพธุรกิจรายวัน ภาคใต้ ผู้จัดการรายวัน ภาคใต้  คมชัดลึก ผู้จัดการออนไลน์ และโฟกัสภาคใต้  รู้สึกมีอิสระไม่ต้องหมกมุ่นกังวลกับการส่งต้นฉบับทุกสัปดาห์ หันไปทำหนังสือเล่ม รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนายหนังตะลุงและงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ตามหานายหนัง : นักเล่านิทานในยามวิกาล เล่ม ๑ เล่ม ๒/  ท่าข้าม : ชุมชนร่วมสมัยอยุธยาตอนปลาย  /ประเคียง ระฆังทอง : นายหนังตะลุงการเมือง “เพื่อชีวิตและสังคม ฯลฯ

            เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดินทางไปร่วมคารวะศพบิดาของเพื่อนรุ่นน้องและลงขันร่วมรับหนังตะลุงกับเพื่อนๆ กลุ่มนาครที่มีประเพณีรับหนังตะลุงแสดงเพื่อคารวะศพบุพการีที่วัดขอนหาด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากทีมงานนสพ.โฟกัสภาคใต้ เชิญชวนให้มาทำหน้าที่คอลัมนิสต์สัปดาห์ละครั้ง  โดยส่งต้นฉบับยาวประมาณ ๒ หน้าครึ่ง กระดาษเอ ๔  ตอนแรกข้าพเจ้าลังเล แต่ไม่รู้เพราะอะไรจึงตกปากรับคำและตั้งชื่อคอลัมน์ว่า “รากเหง้าและเบ้าหลอม” ซึ่งเป็นชื่อรองของหนังสือท่าข้ามที่ข้าพเจ้าจัดทำให้กับสินธพ อินทรัตน์ นายกอบต.ท่าข้ามเพื่อจัดพิมพ์ถวายสมเด็จพระขนิษฐาธิราชฯ

            เป้าหมายในการนำเสนอคอลัมน์นี้คือต้องการบอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับรากเหง้า ภูมิหลัง ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของคนใต้ในทางคติชนวิทยา ศิลปวัฒนธรรม  กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเป็นตัวตนของคนใต้  เพื่อตอกย้ำว่า คนมีความแตกต่างกับเดรัจฉานตรงที่คนมีวัฒนธรรม  มีกระบวนการเรียนรู้  มีคุณธรรม  ศีลธรรม  มีการสั่งสมทางวัฒนธรรมสืบทอดกันมา  มีภูมิปัญญาที่สั่งสมบ่มเพาะจนมาถึงปัจจุบัน  ไม่ใช่สัตว์ที่ไม่มีการเรียนรู้  ไม่มีสถาบันครอบครัว  สถาบันการศึกษา  สถาบันศาสนา  สถาบันการเมืองการปกครองและสถาบันนันทนากรกล่อมเกลาให้เป็นคนที่สมบูรณ์  ที่สำคัญคือคนใต้ถูกสอนให้มีความรู้สึกนึกคิดมาแต่โบราณและรู้เท่าทันคน  เพราะเป็นดินแดนคาบสมุทร  ต้องติดต่อกับนานาชาติพันธุ์  หลากหลายภาษาและนานาวัฒนธรรม

            เรื่องแรกที่อยากนำเสนอในฉบับนี้คือ “ความน่าเป็นห่วงของพิพิธภัณฑ์โนราเติม วินวาด”ที่ข้าพเจ้าได้รับเกียรติให้เข้าไปเป็นกรรมการคนหนึ่งเมื่อปีสองปีที่แล้ว  พร้อมเสนออ.ชัย  เหล่าสิงห์ นายกสมาคมศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลาเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย กิจกรรมแรกที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายหรือขอความช่วยเหลือจากพี่วราภรณ์  อ๋องเซ่ง ทายาทของโนราเติม วินวาดคือการทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ “มุตโตโนราเติม”ที่ต้องการจะจัดพิมพ์เพื่อเฉลิมฉลองในวาระสำคัญ “๑๐๙ ปีโนราเติม”ในเดือนตุลาคม ปี ๒๕๖๖ นี้

            โนราเติม วินวาด เป็นอัครศิลปินโนราที่เยี่ยมยอดและยิ่งใหญ่  เป็นศิลปินโนรา ๔ ชั่วอายุคนสืบทอดกันมา  รุ่นพ่อคือโนราตั้ง  เมืองตรัง  มีลูกชาย  ๓  คนคือ  โนราเติม  ลูกชายคนโต  โนราตุ้ง และโนราเคียง  โนราเติมมีพรสวรรค์ในการขับกลอนมุตโตหรือหลอนสด  พัฒนารูปแบบการแสดงโนราสู่สากลหลายอย่าง  ต่อมาได้แต่งงานกับหนูวินหนูวาดบุตรสาวของโนราวันเฒ่า  ศิลปินโนราจากนครศรีธรรมราช  และมีตำนานเล่าขานมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโนราใหญ่สองคณะนี้

            โนราเติม  เสียชีวิตเมื่อวันที่  ๓  มกราคม  ๒๕๑๔  สิริรวมอายุ  ๕๖  ปี  ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “บูรพศิลปิน”  เมื่อวันที่  ๒๑  กรกฎาคม  ๒๕๕๙  หลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว  ๔๕  ปี 

            ปัจจุบันผู้สืบทอดมรดกโนราเติมวินวาดคือ นางวราภรณ์  อ๋องเซ่ง/นุ่นแก้ว  ลาออกจากคณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อพ.ศ.๒๕๔๗  อายุราชการ  ๒๗  ปี  อายุตัว  ๔๗  ปี  เพื่อมาดูแลพิพิธภัณฑ์ได้เต็มที่  ฝึกทบทวนการแสดงโนราจากแม่หนูวิน  โนรายก ชูบัว  ก่อตั้ง “บ้านสืบสานตำนานโนราเติมวินวาด”(ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตโนราเติม วิน  วาด)  ตั้งอยู่ที่  ๓๘  หมู่ที่ ๔  หมู่บ้านสงขลาลากูน่า  ตำบลคูเต่า  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา

            สภาพปัญหาในปัจจุบันคือ  ผู้ดูแลหลักอายุมากแล้วและมีโรคประจำตัว  ไม่สามารถจะแบกรับภารกิจอันหนักหนาสาหัสนี้ได้อย่างเต็มที่อีกต่อไปในระยะยาว  ประการต่อมาที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ประสบปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายทุกปี  บางปีท่วมถึงสองสามครั้งติดต่อกัน  ประการที่สามขาดผู้สืบทอดในรุ่นต่อไปด้วยข้อจำกัดบางประการ

            ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการที่มีเพียง  ๓  คนจึงหารือกันว่าจะติดต่อประสานงานหาหน่วยงานทางราชการทั้งในท้องถิ่น  ภูมิภาคและส่วนกลางมารองรับดูแลในระยะยาว  แต่เท่าที่ประเมินสถานการณ์เบื้องต้นทั้งโดยประสบการณ์ร่วมและภาวะเผชิญหน้าค่อนข้างจะมืดมน  ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางวัฒนธรรม  สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่  ฯลฯ  ทั้งๆ ที่ทายาทยินดีจะบริจาคทั้งมรดกตกทอดของโนราเติม วิน  วาด  บ้านที่ดินและทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนกิจการของพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มที่

            ไม่คิดไม่ฝันว่าในบั้นปลายชีวิตที่อยากจะพักผ่อน  ทำงานสร้างสรรค์ตามที่ใฝ่ฝันไว้จะต้องเข้ามาแบกรับภารกิจอันหนักหน่วงเช่นนี้  แต่ก็ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาวใต้  ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม  เราก็ได้พยายามแล้ว.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *