การเปลี่ยนแปลงของภาคใต้
ในเรื่องสั้นกลุ่มนาคร
ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตไทยคดี
ศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชนบทภาคใต้ ที่ปรากฏในเรื่องสั้นของนักเขียนกลุ่มนาคร(จรูญ หยูทอง.2543 : 185-187)
งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชนบทภาคใต้ ที่ปรากฏในเรื่องสั้นของนักเขียนกลุ่มนาคร
โดยมุ่งศึกษา ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงและ
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง โดยศึกษาจากเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วของนักเขียนกลุ่มนาคร จำนวน 8 คน ซึ่งประกอบด้วย กร ศิริวัฒโณ กนกพงศ์
สงสมพันธุ์ เกษม จันทร์ดำ ประมวล มณีโรจน์ ไพฑูรย์ ธัญญา รูญ ระโนด สมใจ สมคิด และอัตถากร บำรุง โดยคัดเลือกเรื่องสั้นที่มีเนื้อหา
เกี่ยวกับประเด็นที่ศึกษาดังกล่าวข้างต้น จำนวน 86 เรื่อง จากเรื่องสั้นทั้งหมดประมาณ 226 เรื่อง ผู้วิจัยใช้วิธีศึกษาจากเอกสาร แล้วเสนอผลการศึกษา
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชนบทภาคใต้
จําแนกได้เป็น 6 ปัจจัย คือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
ทางธรรมชาติ ได้แก่ สภาวะแห้งแล้ง อุทกภัย วาตภัยและสภาพเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องมาจากการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรดิน เช่น ป่าต้นน้ำถูกทำลาย โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนเมืองและนากุ้งปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ธรรมชาติ
ปัจจัยด้านประชากร ได้แก่ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการอพยพย้ายถิ่นของประชากร จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการผลิต การบริโภค และการร่อยหรอ เมื่อ
ทรัพยากรธรรมชาติ เสื่อมโทรม และร่อยหรอ
สิ่งแวดล้อมเกิดวิกฤต ย่อมส่งผลให้ประชากรอพยพ
ย้ายถิ่น เพื่อหางานทำ หาที่ทำกินแห่งใหม่
และศึกษาต่อ
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การผลิตการ
บริโภคและ การจำหน่ายจ่ายแจก เนื่องจากปัจจัยด้าน
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติร่อยหรอและเสื่อมโทรม ปัจจัยด้านประชากรเพิ่มขึ้น และปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้วัฒนธรรมการผลิตและ
วัฒนธรรมในการบริโภคของชาวชนบทภาคใต้เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีด้านถนนหนทางและระบบการคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกล เทคโนโลยีด้านศูนย์การค้า สถานเริงรมย์ โรงแรมและตลาด และเทคโนโลยีด้าน
สารสนเทศ
สิ่งเหล่านี้ แพร่ขยายเข้ามาในชนบทภาคใต้ตามนโยบายการทำให้ทันสมัย ให้มีความเจริญ ตามแบบตะวันตกภายใต้กรอบของแนวนโยบายแห่งรัฐและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชนบทภาคใต้ ทั้งระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและแบบแผนในการดำเนินชีวิต
ปัจจัยด้านการศึกษา ได้แก่ ระบบการศึกษา เป้าหมายของการศึกษาและโอกาสทางการศึกษา ระบบการศึกษาที่ลอกเลียนจากชาติตะวันตก
เป้าหมายของการศึกษา เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน และโอกาสทางการศึกษา และโครงสร้างทางอาชีพที่ไม่เท่าเทียมกัน ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชนบทภาคใต้ ยิ่งศึกษา มากขึ้นยิ่งห่างไกล
จากรากเหง้าอันเป็นพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของชนบทภาคใต้มากขึ้น
ปัจจัยด้านการเมือง ได้แก่ ความขัดแย้งทาง
การเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองและการเข้าสู่ อำนาจทางการเมือง เป็นการเมืองที่ไม่ตอบสนองความต้องการของชนบท เพราะเป็นการเมืองแบบตัวแทนและปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบและเป็นชาวเมือง มากกว่าจะเป็นตัวแทนและปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชาว
ชนบท เน้นให้ความสำคัญ กับวัตถุมากกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยมาก
การเปลี่ยนแปลง จำแนกเป็น 4 ลักษณะ คือการ
ทำให้เป็นอุตสาหกรรม ได้แก่ การใช้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการมาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดขนาดใหญ่หรือเพื่อการค้ามากกว่า เพื่อการยังชีพ การทำให้เป็นเมือง ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนน หนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ระบบคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร
โทรคมนาคม และสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมการลงทุน
และสนับสนุนความต้องการบริโภคตามแนวนโยบาย ของการตลาดในสังคมบริโภคนิยม การทำให้เป็นประชาธิปไตย ได้แก่ การแพร่ขยายของแนวคิด ปรัชญาและระบอบการเมืองการปกครองที่เน้นสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ของประชาชน แต่ยังเป็น การเมืองแบบตัวแทนและเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ผู้ได้เปรียบและเป็นคนส่วนน้อย ในสังคมมากกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
กระบวนการสร้างคนชายขอบ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เกิดจาก
ความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม ในการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับที่ผ่านมา ทั้งการทำ ให้เป็นอุตสาหกรรม การทำให้เป็นเมืองและการทำให้เป็นประชาธิปไตย มีคนส่วนน้อยเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว แต่คนส่วนใหญ่ต้องเสียประโยชน์ และเสียเปรียบ กลายเป็นคนชายขอบของการพัฒนา
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง จำแนกเป็น 3 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ วิถี การผลิต และ
การบริโภคของชาวชนบทภาคใต้ เปลี่ยนแปลงไป จากการผลิตแบบยังชีพ และพึ่งพิงตนเองไปเป็นการผลิตเพื่อการค้าและพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอกมากขึ้น ทั้งในด้านการผลิต และการบริโภค ด้วยอิทธิพลของการตลาดในสังคมบริโภคนิยม
ผลกระทบด้านการเมือง การปกครอง เกิดการเมืองเมืองการปกครองแบบอำนาจนิยม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ของตนเอง และพวกพ้อง มีการแสวงหาอำนาจทางการเมืองทุกวิถีทางเพื่อรักษาและได้มาซึ่งผลประโยชน์ แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่นักการเมืองอาศัยความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นเครื่องมือ และช่องทางในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง โดยมีเงิน ถาวรวัตถุและสิ่งแลกเปลี่ยนอื่นๆ เป็นสิ่งจูงใจ
ผลกระทบด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในสังคม ครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป เช่น หน้าที่
ของครอบครัว ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติเปลี่ยนไปเป็นแบบทางการมากขึ้น
ส่วนแบบแผนในการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะคตินิยมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น
คตินิยมเกี่ยวกับอำนาจรัฐ มีการต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของกองกำลังติดอาวุธและ การชุมนุมประท้วงเพื่อการต่อรอง คตินิยมเกี่ยวกับการนับถือศาสนา เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งความเชื่อเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอน กำเนิดของศาสดา บาปบุญคุณโทษ คตินิยมเกี่ยวกับ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เกิดการท้าทายกับอำนาจลึกลับที่เคยมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครอง รักษาสังคมชนบท และคตินิยมเกี่ยวกับความเป็นคนนักเลงที่เคยเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็น คนเข้มแข็ง มีลักษณะเป็ผู้นำและเป็นที่พึ่งของครอบครัวและชุมชนได้กลายเป็นคนล้าสมัย และไม่มีคุณค่าต่อสังคมชนบทภาคใต้ในปัจจุบัน เป็นต้น