Home » ข่าว » ปรัชญาใน “คนโซ”

ปรัชญาใน “คนโซ”

โลกศิลปะวรรกรรม

ปรัชญาใน “คนโซ”

——————–

คนุท แฮมซุน นักเขียนชาวนอร์เวย์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปีค.ศ.1920 เกิดเมื่อ 4 สิงหาคม 1859 เสียชีวิต 19 กุมภาพันธ์ 1952  แฮมซุนเขียน “คนโซ” หรือ Sult ในภาษานอร์เวย์ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1890 ขณะแฮมซุนมีอายุ 31 ปี                                                                                                           

“คนโซ” (Hunger) แปลเป็นภาษาไทย โดย มายา สำนักพิมพ์วลีตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 และต่อมาอีกหลายครั้งโดยสำนักพิมพ์อื่นในสำนวนที่ปรับปรุงโดยนักแปลท่านเดิมแต่เปลี่ยนนามเป็น แดนอรัญ แสงทอง

คนโซบรรยายถึงความหิวของชายหนุ่มคนหนึ่ง บอกเล่าโดย “ฉัน”ในสำนวนแปลครั้งแรก หรือ “ข้าพเจ้า”ในสำนวนที่ปรับปรุง ตลอดทั้งเรื่องที่ความหนากว่าสองร้อยหน้าถึงสี่ร้อยกว่าหน้าในการพิมพ์ครั้งล่าสุด มีแต่คำพรรณนาในความคิดของ “ฉัน” ต่อสิ่งต่างๆ ที่เขาพบเจอด้วยสภาพที่หมกอยู่ในความหิวและยากไร้ บางครั้งบางหน(ซึ่งก็น้อยครั้งมาก)เมื่อโชคเข้าข้าง เขาได้รับค่าเรื่องสักเล็กน้อยเมื่อบทความเล็กๆ ที่ส่งให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นผ่านการพิจารณา มันทำให้ท้องของเขาอิ่ม(จนอ้วกแตก)ไปได้แค่วันสองวัน จากนั้นความหิวอันทนทรมานก็กลับมาอีก พระเอกของเราเป็นแบบนี้เกือบตลอดทั้งเรื่อง

ในฐานะคนอ่าน ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อย้อนนึกถึง ขณะเมื่ออ่านวรรณกรรมเล่มนี้คือ ความรู้สึกคล้ายคลึงบางอย่างของตัวละคร “ฉัน” ว่าช่างมีบางอย่างละม้ายกับตัวละครอื่นๆ ของนักเขียนท่านอื่น เช่น “ดอน ฆีโฮเต้”  อัศวินแห่งลามันช่า ของ เซอร์วานเตส หรือ เมอโซหนุ่ม “คนนอก” ของ อัลแบร์ กามูส์ หรือ โฮลเด้น คอลฟิลด์ ผู้ใฝ่ฝันถึงการคอยต้อนจับเด็กๆ ที่ทุ่งข้าวไรย์ ของ เจ.ดี. ซาลิงเจอร์ และรวมไปถึงตัวละครหลายๆ ตัวในหนังสือของ วิลเลี่ยม ซาโรยัน

กระนั้น นอกเหนือไปจากความยากลำบากของตัวละครเช่นนี้ คนโซ มีบางสิ่งแตกต่างจากตัวละครอื่นอยู่เล็กน้อย -อารมณ์ขัน

อารมณ์ขันที่ดูเหมือน คนุท แฮมซุน ผู้เขียนซึ่งใช้ชีวิตวัยหนุ่มที่ไม่ต่างกับตัวละครของเขานักท่านนี้จะมีอยู่อย่างล้นเหลือ อารมณ์ขัน คืออาการหยอกล้อตัวเองของผู้เขียนผ่านตัวละคร และของตัวละครเอง ด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แทรกอยู่ในประโยคพรรณนานึกคิดของตัวละครอย่างชวนติดตาม ภาษากระชับ การเล่าเรื่องที่ไม่ได้เน้นสร้างความรู้สึกสงสารตัวละครให้กับผู้อ่านแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม เรากลับจะรู้สึกลุ้นไปกับชะตากรรมของ “ฉัน” อยู่ตลอดเวลาด้วยถ้อยคำความคิดอันบิดผันผวนเผและรื่นรมย์ และได้เข้าใจความเป็น “นักเลงชีวิต” ของทั้งผู้เขียนและ “ฉัน” ในเรื่อง ซึ่งมีส่วนคล้ายอัศวิน ดอน ฆีโฮเต้ อยู่มากกว่าใคร

อิสรภาพ การไม่ติดยึดกับสิ่งใดจนเป็นทาสภาระ ความเป็นตัวเองที่ถ่อมตนเสมอ ความกล้าต่อความหวังและความงดงามของชีวิต มันมีความหวังอยู่ในวรรณกรรมเช่นนี้ที่ดูเหมือนหมดสิ้น มันแฝงอยู่อย่างแนบแน่น ทั้งตระหนักว่าที่สุดแล้วการมีชัยเหนือตัวเองคือเช่นไร และชีวิตมีเสน่ห์ให้น่าค้นหาเสมอ.

-เฟาซ์ เฉมเร๊ะ-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *