“เฉลิมวุฒิ เจริญวิศาล” มอบบ้านเขียนเจริญให้เป็นเสวนาคารของเมืองสงขลา บ้านโบราณทรงคุณค่าบนถนนนางงามกลางเมืองเก่าสงขลา
ถือเป็นเรืองความยินดีของเมืองสงขลา เมื่อนายเฉลิมวุฒิ เจริญวิศาล ได้มอบพื้นที่บ้าน “เขียนเจริญ” บ้านโบราณที่อยู่บนถนนนางงามกลางเมืองเก่าสงขลา บ้านที่มีกำแพงภายนอกด้านทิศเหนือ มีภาพสตีทอาร์ตแรก ภาพผู้คนของเมืองสงขลานั่งกินน้ำชา นั่งอ่านหนังสือพิมพ์กัน
“ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเชิญชวนให้ผู้คนได้มาเที่ยวสงขลา มาถ่ายภาพกันที่ตรงนี้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน”
ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการให้เป็นเสวนา
คารบ้านเขียนเจริญ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มี พระครูสุวัฒนาภรณ์ (สุภัทร อริโย) รองเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เจ้าอาวาสวัดนาทวี มาเป็นผู้บรรยายธรรมในหัวข้อ “มรดกโลกกับทะเลสาบสงขลา”
นายเฉลิมวุฒิ เจริญวิศาล ได้กล่าวถึงบ้านหลังนี้ในพิธีเปิดว่า อาคารหลังนี้สร้างมานานแล้ว เมื่อจะทำการปรับปรุงพัฒนา ทำให้เห็นว่าบ้านหลังนี้ มีการก่อสร้างที่ไม่ธรรมดา บ้านหลังนี้ไม่มีเสา ซึ่งจะมีอิฐที่ก่อมาจากพื้นสูง จนกระทั่งถึงหลังคา จะเห็นพื้นที่ภายในบ้านเป็นสี่เหลี่ยม และไม่มีเสาเลย
“บังเอิญในช่วงเวลาที่คิดจะบูรณะในเวลานั้น มีช่างของกรมศิลปากรมาช่วยซ่อมศาลเจ้าอยู่พอดี เลยได้ปรึกษาในการซ่อมบ้านหลังนี้ จึงได้รับการแนะนำให้ได้รู้ว่า การสร้างบ้านหลังนี้เป็นลักษณะของการขุดดินลงไป แล้วสร้างก่อกำแพงขึ้นมา”
เมื่อได้ขุดดินลงไปปรากฏว่า ฐานที่อยู่ด้านล่างนั้นเป็นหินสีดำเป็นก้อน ๆ จึงได้ให้น้องชาย คือ ชนินท์ มาดูลักษณะหินว่า มาจากที่ไหน จึงได้คำตอบว่า หินดังกล่าวไม่มีในสงขลา สันนิษฐานว่าจะเป็นอับเฉาที่ถ่วงเรือมาจากเมืองจีน
สมัยก่อน คุณแม่และคุณย่าเล่าให้ฟังว่า มีการค้าขายรับเส้นด้ายมาจากเมืองจีน และนำไปให้ทางคนฝั่งเกาะยอ ลำปำ เป็นคนทอแล้วนำมาส่งไปขายที่สิงคโปร์ เป็นอาชีพหนึ่งของเมืองสงขลา
บ้านหลังนี้ทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่ามากกับสิ่งที่เรามองเห็น และสิ่งที่เรามองไม่เห็นที่อยู่ใต้ดิน และยังมี
อะไรอีกมากมาย เมื่อเริ่มบูรณะก็เห็นว่า อิฐกำแพงของอาคารนี้หนามาก เป็นอิฐที่ผลิตที่เกาะยอที่ มีความสวยงาม มีชื่อเสียงมาก
“ผมได้อ่านเรื่องราวของอิฐ ได้พบเรื่องราวหนึ่งว่า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไปสร้างอาคารที่ถนนสุขาภิบาล แล้วประตูทางเข้าพระองค์ให้เอาอิฐจากทั่วประเทศ มาทำเป็นกำแพงประตูทางเข้าที่สูงใหญ่แล้วอธิบายเรื่องอิฐว่า เป็นอิฐที่มาจากจังหวัดพิจิตร อ่างทอง ลพบุรี และอิฐจากเกาะยอ สงขลาจากสีของอิฐจากที่ต่าง ๆ ลักษณะและคุณภาพไม่เหมือนกัน”
“อิฐเกาะยอ” มีความพิเศษและสวยงามมาก ยิ่งใช้งานไปจะยิ่งมีความแวววับ ยิ่งมันแล้วจะมีลายเป็นก้นหอย แล้วที่ดูมันแวววับนี้ เพราะดินเกาะยอที่นำมาทำอิฐจะมีเศษของเปลือกหอย ซึ่งทับถมกันมานาน สิ่งนี้ทำให้มันเกิดแวววาวขึ้น
ก่อนที่จะมาซ่อมให้สมบูรณ์อย่างที่เห็นในวันนี้ ได้มีการซ่อมแซมด้วยปูนธรรมดา คือ ปูนซีเมนต์มาฉาบ ปรากฏว่าไม่นานปูนที่ฉาบก็จะปูด บวม แล้วจะหลุดออกมาเลย จึงได้สอบถามอาจารย์ที่ดูแลการบูรณะอาคารโบราณของกรมศิลป์ ท่านก็บอกให้ฟังว่า เป็นเพราะอิฐหายใจ พอมันหายใจไม่ออกก็ดันให้ปูดขึ้นมา ซึ่งปูนเดิมนั้นเป็นปูนหมักปูนตำ และบอกว่า “ปูนหมักปูนตำ” แบบนี้ที่สงขลาไม่มีขายแล้ว จะมีที่จังหวัดอยุธยา จึงตัดสินใจนำปูนดังกล่าวมาจากอยุธยา ปรากฏว่า เมื่อได้ปูนมาแล้วช่างปูนที่สงขลาไม่สามารถทำได้ ต้องเป็นช่างปูนพิเศษเท่านั้น
“ผมต้องกลับไปอยุธยาอีกครั้ง เพื่อตามหาช่างปูน ซึ่งพบว่าช่างลักษณะนี้มีเพียง 7 กลุ่ม ที่กรมศิลปากรมีใบอนุญาต แต่ทุกกลุ่มมีงานล้นไปถึง 10 ปีข้างหน้า”
ตนได้ตามสืบหาปรากฏว่า มีอยู่หนึ่งในกลุ่มนั้น กำลังซ่อมพระราชวังของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ บนภูเขาที่ราชบุรี เลยตามไปที่นั่น จึงได้ทราบว่ามีช่าง
ของกลุ่มนี้กำลังซ่อมตำหนักเขาน้อยอยู่ที่สงขลา แต่เมื่อไปพบกับช่างก็ไม่ว่างเช่นกัน ก็อ้อนวอนจนช่างเห็นใจ และได้แบ่งช่างมาช่วยซ่อมบ้านหลังนี้ให้ 3 คน ก็ได้ซ่อมกำแพงด้วยปูนตำ ให้ได้เห็นอย่างสวยงามอยู่แบบนี้
“ผมเลยมีความรู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีคุณค่ามากกว่าที่ตาเรามองเห็น ส่วนที่ไม่เห็นนั้นมีค่ามหาศาลมากนัก เลยมีความรู้สึกว่าต้องเก็บบ้านหลังนี้ไว้ให้อยู่คู่กับเมืองสงขลา ให้เป็นบ้านที่มีคุณค่าที่คู่กับสงขลาให้ตลอดไป”
ต่อมา น้องชนินทร์ ก็ได้ตามไปดูว่าคนจีนฮกเกี้ยนที่สงขลานี้มาจากที่ไหนบ้าง ก็ได้เจอว่ามีตำบลหนึ่ง ลักษณะของบ้านเป็นทรงแบบนี้เหมือนกันหมด ก็เลยคิดว่าช่างที่มาสร้างบ้านหลังนี้ที่สงขลาก็คงจะเป็นช่างจากฮกเกี้ยนเช่นเดียวกัน ก็เลยคิดว่าการที่สงขลากำลังเดินหน้านำเมืองไปสู่เมืองมรดกโลก การอนุรักษ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ “อยากให้บ้านหลังนี้ เป็นที่ทำกิจกรรมของมูลนิธิมรดกโลก ในการจัดกิจกรรมในการดูแลเมือง ดูแลทะเลสาบสงขลา ดูแลเรื่องการอนุรักษ์โลมาที่เหลืออยู่น้อยตัวในทะเลสาบ ได้มาใช้บ้านหลังนี้เป็นการพบ การพูดคุย เป็นเสวนาคารที่บ้านเขียนเจริญ ที่วันนี้ก็ได้เปิดอย่างเป็นทางการ
จากนั้นก็ได้เปิดให้มีการเสวนากันจากให้ได้ร่วมพูดร่วมฟังจนถึงเย็น” สุดท้ายนี้จบลงด้วย นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ประธานมูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก อดีตผู้ว่าราชการ จังหวัดสงขลา ได้กล่าวขอบคุณเฉลิมวุฒิ เจริญวิศาล และทุกท่านที่ได้มาร่วมพิธีเปิด “เสวนาคาร บ้านเขียนเจริญ” ให้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่จะเป็นพลังสำคัญในการนำสงขลาให้เดินหน้าสู่เมืองมรดกโลกให้สำเร็จกันในเร็ววัน ที่คอลัมน์ “สงขลาสู่มรดกโลก” ขอนำมาบันทึกไว้ให้เป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของสงขลา ให้ได้รับรู้เรื่องราวต่อกันต่อไป