คุณครูกัสมา มะหมัด เป็นรุ่นพี่ของผู้เขียน เธอทุ่มเทสอนหนังสือมาตั้งแต่จบใหม่ ยากจะหาวิธีการมาทดแทนในช่วงเวลาโรคกำลังระบาดนี้
“เราชอบสอนให้เด็ก ๆ เล่นไป คิดไป”
หลักคิดง่าย ๆ ของครูกัส คือสอนผ่านความสงสัยของนักเรียน เริ่มจากเธอมีความเข้าใจปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยที่ว่าเด็กไม่รู้ว่าเรียน(แต่ละวิชา)ไปทำไม ซ้ำยังไม่สนุก เธอเลยนึกหาวิธีออกแบบการเรียนบนธรรมชาติของเด็ก
เธอเริ่มพานักเรียนออกสำรวจตามพื้นที่ธรรมชาติ เอาป่าเขาและชายหาดใกล้ ๆ เป็นห้องเรียน
“ครั้งหนึ่งเราไปเล่นกันที่หาดสวนกง ที่นั่นเต็มไปด้วยกระดองหมึกและพวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ ใช้ชีวิตอยู่ในทราย วิ่งเล่นกันเสร็จ เด็ก ๆ ก็พากันโอบรัดโอบกอดต้นไม้ สงสัยว่ามันโตแค่ไหน
เราให้นักเรียนลองสมมติว่ากอดเป็นวงกลมวงหนึ่ง ไม่ว่าวงกลมจะเล็ก ๆ เท่าฝาขวด หรือใหญ่เท่ากับโลกใบนี้ เอาความยาวแขนของพวกเขาที่กำลังโอบต้นไม้มาตั้งหารด้วยค่าพาย เมื่อได้เลขของเส้นผ่าศูนย์กลาง — เด็ก ๆ จะรู้ขนาดมัน”
เธอยกตัวอย่างให้เห็นวิธีการสอนแบบบูรณาการ กระบวนการเริ่มมาจากนักเรียนสำรวจ ตั้งคำถาม จากนั้นเก็บรวบรวมและขัดเกลาความรู้ เชื่อมโยงวิชาเลข ภาษา ศิลปะและวิทยาศาสตร์ไว้ด้วยกัน แทนที่เรียนแยกเป็นรายวิชา กระบวนการในช่วงต้น หน้าที่ของครูคือทำให้การเล่นสนุกธรรมดาไปสู่ความอยากรู้อยากเห็น พอเข้าสู่บทเรียน นักเรียนจะรับรู้ได้เองว่าบทเรียนนี้สนุกและเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร
…………………………………………….
ไม่ว่าคนจะเล็ก หรือใหญ่เท่าโลก
นับตั้งแต่มาเรียนปริญญาตรีในปัตตานี คณะศึกษาศาสตร์ สาขาชีววิทยา เธอติดตามอาจารย์เดินทางไปให้ความรู้กับชาวบ้านในชุมชนหลายแห่ง และเริ่มเข้าไปเป็นอาสาในกลุ่มรณรงค์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม เฝ้าติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับชีวิตคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างใกล้ชิด จนจบออกมาทำงานสอนหนังสือแล้ว เธอยังคงเป็นเบื้องหลังในหลายโครงการ
ตลอดหลายปี หลายโครงการสร้างความคืบหน้าด้านองค์ความรู้ให้กับชุมชนมากมาย หลายที่ร่วมมือ แต่ที่ยังน่าเป็นห่วง คือหลายชุมชนยังขาดการติดตามความรู้และประเด็นสดใหม่
“หลายที่ไม่เข้าใจปัญหา เลยอนุรักษ์กันไปแบบผ่านๆ ผิดจุด ชุมชนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว พากันกลัวว่าจะถูกทิ้งกลางทางสักวันหนึ่ง”
ถึงแม้ว่าการรับส่งความรู้จะพัฒนาเป็นระเบียบรวดเร็วเมื่อเทียบกับอดีต แต่ชุมชนยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ในการอนุรักษ์พื้นที่และวิถีชีวิต
การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์ทุกคน ในความเป็นจริงแล้วภูเขา แม่น้ำและทะเล ธรรมชาติดำรงอยู่และสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ พูดง่าย ๆ คือ ถ้าหากแม่น้ำเน่าแล้ว ทะเลก็อาจเสีย แม้การหายไปของแมลงพันธุ์หนึ่ง อาจเป็นหายนะของมวลดอกไม้และพันธุ์พืช
ครูกัสเห็นว่าเป็นหน้าที่ของเธอ เพื่อส่งต่อความรู้สึกบางอย่างให้กับลูกหลานของชุมชน เพื่อพวกเขาเองจะได้มั่นใจ มีสิ่งยึดเหนี่ยว เธอจึงริเริ่มกิจกรรมนอกห้องเรียน พานักเรียนไปนั่งเรียนกับธรรมชาติ และสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษณ์ธรรมชาติในแบบที่ถูกต้องและทันการ
“เราสอนให้เด็ก ๆ นำทรัพยากรของอัลลอฮ์ไปใช้ประโยชน์ เราได้อะไรจากพื้นที่ เราตอบแทนกลับไป ”
นอกจากกิจกรรมที่คิดและรวบรวม อย่างการผลิตสีด้วยหินในลำธาร หรือการทำเรซิ่น เธอผลิตสื่อการสอนขึ้นอีกหลายชิ้นและแชร์มันลงสู่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณครูทุกคนในช่วงเวลานี้
“ในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน นักเรียนตกลงกันจัดกิจกรรมหนึ่งชื่อว่า “ของฝากจากทะเล” มา ให้พวกเขาเก็บความรู้สึกจริงในแต่ละครั้งที่ได้ไปทะเล เขียนถึงมันว่าอะไรก็ได้ เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ มาจากความคิด ภาษาของเด็ก ๆ แต่ละคน”
อับดุลฮาดี เฉมเร๊ะ