ยากยิ่งในสถานการณ์ความรุนแรงการจะได้ชื่อว่า “คนกลาง” ที่ถูกยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ไม่วายยังมีคำปรามาสจากผู้ที่เฝ้ามอง เพราะความยืดเยื้อยาวนานของความขัดแย้งที่ยังไม่ยุติ และค้นพบ “สันติภาพ” ได้โดยง่าย ต่างๆ เหล่านี้มีคำตอบจาก “อาจารย์ศรีสมภพ” นักประนีประนอมที่ส่งเสียงอยู่ท่ามกลางสนามสู้รบยาวนานกว่าสองทศวรรษ
ศูนย์เฝ้าระวังฯ-CSCD
“อาจารย์ศรีสมภพ” หรือ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงจังหวัดภาคใต้เริ่มตั้งแต่ปี 2547 มีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการ ภาคประชาชนต้องการให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำการวิเคราะห์วิจัยนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งในขณะนั้นก็มีนักวิชาการที่ทำอยู่บ้างแล้วแต่เป็นลักษณะส่วนตัว
ผมทำเรื่องของ “ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้” Deep South Watch ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ในช่วงปี 2547-2549 Deep South Watch เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่นภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ฯลฯ
ต่อมาเมื่อปี 2549-2550 ก็มีการก่อตั้ง ขึ้นซึ่งเป็นองค์กรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมุ่งเป็นศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นความร่วมมือระหว่างหลายหน่วย เช่นคณะรัฐศาสตร์การสื่อสาร คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันสันติศึกษา ศูนย์ตั้งอยู่ที่ม.อ.ปัตตานี
CSCD เน้นงานวิจัยในเชิงกว้างเช่นเรื่อง Peace Survey สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องผลกระทบจากนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ความไม่สงบ วัฒนธรรมประเพณีศาสนา ฯลฯ ในพื้นที่ ซึ่ง Deep South ก็อยู่ในองค์กรนี้ด้วย ซึ่งขณะนั้นผมเป็น ผอ.ของ Deep South ด้วย ความแตกต่างคือ Deep South จะเน้นข้อมูลเชิงลึกมากกว่าในแง่ของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำมายี่สิบกว่าปีอย่างละเอียดในเชิงวิเคราะห์สถานการณ์ แนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย
พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนไน
CSCD มีนักวิชาการต่างประเทศคือ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพจากเยอรมนี รับเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ และได้สร้างโครงการ IPP (Insider Peacebuilders Platform) หรือ “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนไน” ซึ่งได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา โดยเชิญองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้นำศาสนา ตัวแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ มาร่วมประชุมกัน พัฒนาศักยภาพกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ประมาณปี 2554 และมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องกันมาตลอดกว่าสามสิบครั้ง ต่อมาดร.นอร์เบิร์ตสก็ได้รับทุนสนับสนุนจากประชาคมยุโรป และรัฐบาลประเทศเยอรมนี และจัดตั้งอีกองค์กรชื่อ “ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ” ซึ่งแยกออกมาจาก CSCD
ตั้งแต่ปี 2554 IPP เปิดพื้นที่กลางเป็นครั้งแรกที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถมานั่งคุยกันพัฒนาแนวคิดเรื่องการสร้างสันติภาพ การเจรจาโดยวิธีการที่มานั่งคุย โดยมีกระบวนการ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ซึ่งต่อมาปี 2555 ก็เริ่มมีการพูดคุยสันติภาพของตัวแทนรัฐบาลและฝ่ายที่เห็นต่างซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้เลย พอปี 2556 รัฐบาลมีการพูดคุยสันติภาพครั้งแรก ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐบาลสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
การสร้างพื้นที่กลางของ IPP เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการผลักดันเพื่อนำไปสู่การยอมรับนโยบายการพูดคุยสันติภาพ โดยผู้เข้ารวมประมาณ 50- 60 คน หลังจากนั้นแนวคิดเรื่อง การพูดคุยสันติภาพก็เบ่งบานขึ้นมา
ปี 2563-2564 เกิดสถานการณ์โคลวิด-19 ทำให้ชะงักไป แต่ก็มีการประชุมทางออนไลน์กันอยู่
ตอนหลังภาครัฐเองก็ใช้รูปแบบของ IPP มาทำงานของรัฐด้วย ตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลคสช. ก็ ไม่ได้ ยกเลิกการพูดคุยที่ทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ แต่จะทำเป็น โครงสร้างใหม่ของการพูดคุย โดยใช้คำว่า “การพูดคุยสันติสุข” มีโครงสร้างคือ ในพื้นที่เรียกว่าคณะประสานงานระดับพื้นที่ หรือ สล.3
คณะพูดคุยสล.3 ใช้โมเดลของ IPP ในการเชิญชวนองค์กรต่างๆ ในพื้นที่เนินการโดยรัฐแต่ก็มีอุปสรรคอยู่ เพราะ IPP ดำเนินการโดยองค์กรอิสระก็ได้รับความร่วมมือ
พูดคุย-เหตุการณ์ลดลง
ตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง จนวันนี้ผมคิดว่าการทำงานขององค์กรวิชาการและประชาสังคมที่ผ่านมาประสบความสำเร็จพอสมควร จะเห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดน้อยลงตั้งแต่ปี 2556 นั่นคือเริ่มตั้งแต่การพูดคุยสันติภาพครั้งแรก ซึ่งก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของภาคประชาชนในพื้นที่และส่วนของวิชาการที่ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนนโยบายของรัฐ รัฐเองมีความระมัดระวังมากขึ้นเช่นประเด็นสิทธิมนุษยชน การพูดคุยทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงได้ แม้ว่าภายในปีสองปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่ทิศทางใหญ่ก็ถือว่าลดลง ซึ่งในอนาคตหากมีการรับฟังการพูดคุยกันจริงๆ ความรุนแรงก็น่าจะมีแนวโน้มน้อยลง
สร้างแพลตฟอร์ม ปรับเจตนาทางการเมือง
สิ่งที่ยากที่สุดในกระบวนการสันติภาพคืออะไร? ผมคิดว่าคือเจตนาทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ประเด็นคือทั้งสองฝ่ายต้องการจะสร้างสันติภาพจริงๆ หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าความต้องการนี้ยังไม่เต็มร้อย วันนี้ผมก็ยังคิดว่ายังอยู่ในความไม่เชื่อมั่นวางใจทั้งสองฝ่าย ตรงนี้เองที่ทำให้บทบาทประชาสังคมและองค์กรต่างๆ ยังมีความสำคัญเพื่อที่จะช่วยหาทางให้สถานการณ์ดีขึ้นและสันติภาพให้เกิดขึ้นให้ได้ หรือการที่ประชาชนเองก็อยากจะเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมในพื้นที่ ซึ่งหากไม่มีองค์กรวิชาการมาช่วยสร้างพื้นที่กลางหรือ “แพลตฟอร์ม” ก็ไม่รู้จะทำยังไง ตรงนี้ก็ถือเป็นบทบาทของสถาบันทางวิชาการ ในการเปิดพื้นที่ “ปรึกษาหารือสาธารณะ” public consultation ระหว่างประชาชนชนในพื้นที่ กับฝ่ายที่ขัดแย้งกัน
ผมอยากฝากให้ทุกๆ ฝ่ายรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่จริงๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้หาแนวทางหาทางออกร่วมกันได้ ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่าง ให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สร้างการพูดคุยกันและทำให้ดียิ่งขึ้น
การสื่อสารเผยแพร่ข้อมูล สื่อมวลชนต่างๆ ต้องขยายความเข้าใจถึงสถานการณ์และกระบวนการสันติภาพให้กว้างขวางมากขึ้น หรือพรรคการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งหากมีนโยบายที่ชัดเจนอย่างไรต่อปัญหาสามจังหวัดใช้แดนภาคใต้ก็น่าจะนำเสนอให้ประชาชนพิจารณา ซึ่งดูจากทั้งหมดแล้วแนวโน้มน่าจะดีขึ้น
-เฟาซ์ เฉมเร๊ะ-