บทเพลงสะท้อนวิถี (บ้านเรา) เร คนไท 4
ผู้เขียน : พันธุ์ป่า ณ แดนสรวง
เมื่อฟังเพลง ลูกเขืออ้อร้อ ทำให้ข้าพเจ้าหวนนึกค่ำคืนหนึ่งในบรรยากาศเพื่อนฝูงแวะเวียนมาพบปะกัน ที่หนำปลักควายแห อันเป็นบ้านไม้หลังขนาดย่อมที่บรรดาเพื่อนๆ ต่างเคยแวะมาเยือนเป็นประจำ พี่จัด หรือ กำจัด แก้ววิเชียร ได้ลงแรงสร้างขึ้นในละแวกบ้านคลองปอมในเขต ตำบลบ้านพรุ เมื่อหลายปีก่อน
สถานที่แห่งนั้นเคยเสวนาสารพันเรื่องราวการพุดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะธรรมะ และแน่นอนว่าบทเพลงนับไม่ถ้วนก็ได้ถูกขับขานได้ฟังกันให้ประทับอยู่ในห้วงทรงจำเช่นกัน
เร หรือ เรวัตต์ แก้ววิเชียร กับกีต้าร์คลาสสิค yamaha คู่ใจ ใครแวะมาที่บ้านเร หากยังไม่ได้ฟังบทเพลงก็นับว่ายังมาไม่ถึง ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่าน เรวัตต์ ประพันธ์บทเพลงหลากหลาย นับตั้งแต่เริ่มทำเพลง ในนามวง “คนไท 4” ซึ่งมีสมาชิกวง 4 คน กับค่าย MP sound เพลงชุดแรกในชื่อชุด คืนหนาว มีเพลง คืนหนาว ภาพลวงตา สุดสอย ดอกไม้ความเหงา ถึงเธอ ในช่วงปี 2542 และถัดมาไม่นานกี่ได้ออกอลัมบั้มร่วมกับเพื่อน มนูญ กำเนิดทอง ธา ทักษิณา พงษ์ ลูกคลัก และ หนุ่ย ชัยวัฒน์ โดยใช้ชื่อ “รวมพลคนใต้” กับค่าย MP sound อีกสองชุด เพลงที่ เรวัตต์แต่งในชุดนั้นมี ฟ้าสาง ไร้คำยืนยัน สู่ฝั่งฝัน แรงใจให้เธอ
เร เล่นดนตรีตามร้านรวง ทั้งในหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง กระทั่งระยะหลังเมื่อเริ่มอิ่มตัวก็เพียงเล่นตามงานรับเชิญบ้างเป็นครั้งๆไป ด้วย เรวัตต์ ซึ่งมีพ่อ(พี่จัด) เป็นคนรักการอ่านมาแต่ต้น เขาจึงไม่ต่างกัน เคยร่วมกันทำวารสารรายสะดวกฉบับเล็กๆ กับเพื่อนชื่อ “ดินแดนสู่การงอกงามจากภายใน” และหนังสือบทกวีของตัวเองเล่มหนึ่ง ชื่อ “หรือมิใช่ ? เราคล้ายกัน”
นอกจากสนใจหนังสือเขายังศึกษา ธรรมะ และ ช่วงหนึ่งที่เขาได้ร่วมคลุกคลี กับ ยุทธ คนเล่นดิน หรือไผ่ พันลำ ผู้ดำรงตนในหนทางของพืชพรรณอยู่ก่อน ทำให้เขาหันมาเพลิดเพลินกับผืนดิน การเพาะปลูกและดูแลพืชพรรณ ใช้ชีวิตกรำแดดลม ปลูกพืชผัก จำพวก ถั่ว พริก มะเขือ และพืชอื่น เป็นวิถีเกษตรธรรมชาติ เขารักที่จะสะสมเมล็ดพันธุ์ชนิดต่างๆไว้มากมาย หนทางแห่งผืนดินได้บ่มเพาะจิตวิญญาณด้านในเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผลงาน เพลงจึงบ่มเพาะออกมาในแนวที่ตนสนใจ อย่างเพลง แด่เมล็ดพันธุ์ หลังจากนั้นบทเพลงต่างๆก็ถูกกลั่นกรองออกมาอีกมาอีกหลายเพลง เช่น นิยามที่แตกต่าง ทานตะคืน ระบำเมฆเหงา ถามเธอ และอีกหลายเพลงโดยเฉพาะเพลงเนื้อหาน่ารักๆ อย่างเพลง ผลไม้ฝากเธอ ที่เพื่อนๆบางคนเคยได้ฟังในช่องยูทูบ ซึ่งเรวัตต์ร้องเพลงนี้ที่ขนำปลักควายแหเมื่อ 11ปีที่แล้ว ซึ่งยอดไลต์ ถึงตอนนี้ ราวๆ สี่แสนกว่าๆ
วันหนึ่งผู้เขียนได้มาที่บ้านเรวัตต์ในบรรยากาศของตู้หนังสือ และบรรดาพืชพรรณรอบบ้าน เขาเผยว่าแต่ละท่อนเพลงจะผุดมาเองตามห้วงอารมณ์ แต่ละบทเพลงที่ถ่ายทอดออกมาใช้เวลาแตกต่างกัน จนได้ฟังบทเพลง ลูกเขืออ้อร้ออีกครั้ง
ข้าพเจ้าอยากกล่าวถึงบทเพลงที่เรวัตต์ประพันธ์ในลีลาอารมณ์ของความเป็นวิถีบ้านเรา ซึ่งใช้ สำเนียง ถ้อยคำ เป็นภาษาใต้ อย่างเพลง สุดสอย(อยู่ในชุดแรก) ลูกเขืออ้อร้อ เพลง บ้านเรายังคงอุ่นใจไม่เคยเปลี่ยน และ เพลงไอ้หนุ่มผ้าซัก(มีผู้นำไปร้องลงในยูทูป) ในบรรดาเพื่อนฝูงที่ได้ฟังก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบๆ หรอยๆ ถือว่าเป็นเพลงที่ฟังแล้วบายใจมีความไพเราะงดงามในถ้อยคำแบบบ้านเรา หลายๆเพลงในช่วงหลังได้ฟังกันเฉพาะในวงเพื่อนฝูง หรือก็เอาไปร้องในงานต่างๆ บ้างแต่ไม่ได้ตั้งใจทำคนตรีเผยแพร่จริงจัง มีเพลงไอ้หนุ่มผ้าซักที่มีคนขอไปร้องและลงทุน ทำดนตรี เพื่อลงยูทูบ
ผู้เขียนมองว่า ท่วงทำนองการใช้ภาษาในเพลง นับได้ว่า เรวัตต์สรรหาคำใต้มาใช้อย่างพอเหมาะและงดงาม ใช้คำพ้องเสียงและพ้องรูป ให้เกิดภาพพจน์ ในเพลงกล่าวถึงพืชพรรณพื้นถิ่นใต้ชนิดต่างๆ และสอดแทรกสะท้อนวิถีดั้งเดิมหลากหลาย แต่งเติมในแง่ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น อย่างวิถีการร้องขานรับของการร้องเพลงบอก (ว่า เอ ว่า เฮ้ บินหลาร้องเพลงบอก) ในเพลง บ้านเรายังคงอุ่นใจไม่เคยเปลี่ยน และการสอดแทรกลีลาจังหวะของหนังตะลุง ในเพลง ไอ้หนุ่มผ้าซัก
หากจะพูดถึงลีลาการเขียนเพลง ที่สะท้อนวิถี บ้านเราผู้เขียนลงความเห็นว่า งานเพลงของ เรวัตต์ ทำให้ผู้ฟังสัมผัสได้และน่าฟัง สิ่งสำคัญอาจด้วยกาเรวัตต์มีส่วนสัมผัสวิถีวัฒนธรรม(มีโอกาสร่วมบรรเลงดนตรีกับคณะหนังตะลุง เป็นบางครั้ง ) และการได้ลงใช้ชีวิตกับผืนดิน บทเพลงของจึงผสมผสานวิถีที่เขาแนบชิด ทั้งได้อยู่ในบรรยากาศ หนังสือและการอ่านด้วยแล้วจึงอาจบ่มเพาะหนทางแห่งงานดนตรีที่เขารัก ผสมผสานออกมาจนเป็นแบบฉบับของเขาที่หล่อหลอมออกมาได้ลงตัวเพื่อยืนยันสิ่งที่ข้าพเจ้าคิด จึงยังให้นึกถึงบนหน้าแรกของหนังสือกวีรวมเล่มของเรวัตต์ที่เจ้าตัวเขียนคำโปรยไว้ว่า แด่ พ่อ แม่ เพื่อนๆ ต้นมะเขือ ขนำปลักควายแห บทกวี และกีต้าร์คลาสสิคทุกๆ ตัวบนโลก..