Home » ข่าว » ความภูมิใจ ‘อาสาสมัครฝนหลวง'”ร่วมสืบสานงานพระบิดาแห่งฝนหลวง”

ความภูมิใจ ‘อาสาสมัครฝนหลวง'”ร่วมสืบสานงานพระบิดาแห่งฝนหลวง”

14 พฤศจิกายนทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง “นางพวงเพ็ญ จันทร์งาม” อาสาสมัครฝนหลวงดีเด่น ปี 2565 เผยความตั้งใจเข้ามาเป็นอาสาสมัครฯว่า แนวทางการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นส่วนสำคัญในการเข้ามาทำงานอาสาฯ

“พี่เป็นอาสาสมัครฝนหลวงเมื่อ ปี 2563 ในพื้นที่ ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่นี่มีกลุ่มปลูกส้มโอทับทิมสยาม เมื่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเปิดอบรมอาสาสมัครฝนหลวง จึงสมัครเข้าอบรม ตั้งใจว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่อ.ปากพนัง เช่น หากเกิดภัยพิบัติฝนแล้งเราก็จะสามารถประสานกับกรมฝนหลวงได้” นางพวงเพ็ญ กล่าว

ซึ่งขณะนั้น ทางอำเภอค้นหาผู้เข้าอบรมจะเป็นอาสาสมัครฝนหลวง พี่เองทำงานอาสาฯในพื้นที่อยู่แล้วจึงน่าจะเป็นประโยชน์กับกลุ่ม จึงส่งรายชื่อพี่เข้าอบรมฯ ใช้เวลาอบรมสามวัน แล้วเราก็ทำงานโดยรายงานเข้าไปในกลุ่มไลน์อาสาฯ

งานที่อาสาสมัครทำ เช่น ในช่วงฝนทิ้งช่วง เรารายงานสถานการณ์ในพื้นที่ จำนวนวันที่ฝนทิ้งช่วง หรือรายงานปริมาณน้ำช่วงฝนตก

“เรื่องดินฟ้าอากาศเป็นเรื่องสำคัญ เราเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ให้กับชุมชนในการติดตามฝนและอากาศ ยิ่งในอ.ปากพนัง เรามักเจอทั้งภัยน้ำท่วม เจอทั้งภัยแล้ง เราก็สามารถประสานกับหน่วยงานที่จะให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้ เราเองถือว่าเป็นลูกของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9เดินตามแนวทางของพระองค์ เมื่อมีโอกาสจึงเข้ามาทำงานนี้”

นางพวงเพ็ญ กล่าวต่อว่า งานอาสาสมัครฯจะคอยสื่อสารส่งต่อข้อมูลของชุมชนให้กับทางศูนย์และส่งข่าวสารการทำงานของศูนย์ฯ ให้กับชาวบ้านและชุมชน ซึ่งพบว่าในปัจจุบันชุมชนเกิดการตื่นรู้มากขึ้น และเรามีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตำบลเกาะทวด และสำนักงานกปร. ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้ามาดูแลส่งเสริมชุมชนอีกหน่วยงาน

“อำเภอปากพนังมีอาสาสมัครฝนหลวงคนเดียว และเราเป็น Young Smart Farmer ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่จังหวัด ประสานข้อมูลของแต่ละอำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฝนแล้ง เราก็ส่งข้อมูลไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงให้ดำเนินการช่วยเหลือ”

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง นอกจากประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือแก้ปัญหาภัยแล้ง เรายังได้เรียนรู้และสามารถติดตามสภาพภูมิอากาศในแต่ละวัน สื่อสารให้ชาวบ้านได้จากการคาดการณ์ที่แม่นยำ เช่นปีนี้ฝนจะแล้งมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นช่วงเวลาไหน

ประชาชนเองสามารถช่วยเหลืองานของศูนย์ฯได้โดยการรายงานสถานการณ์พื้นที่ภัยแล้งให้กับทางศูนย์ฯทราบ การทำงานตรงนี้เห็นว่าเราสามารถช่วยชาวบ้านใด้จริง

“การทำงานอาสาฯหากเราไม่จริงจังกับการทำงานก็จะเป็นแค่หมวกใบนึง“

ดังนั้น เราก็ทำงานให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านอย่างแท้จริง เราเองทำนาอยู่ด้วย เวลาเจอภัยแล้งจริงๆ ก็ลำบาก แต่เมื่อได้เห็นฝนโปรยลงมาในแปลงข้าว เป็นฝนที่เกิดจากการทำฝนหลวงที่เราประสานกับหน่วยงานคือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงสุราษฎร์ธานี เราก็เกิดความภาคภูมิใจว่านี่เกิดขึ้นจริงๆ เกิดฝนจริงๆ ชาวบ้านที่ไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้ก็ได้เห็นว่า ศูนย์ฯมีส่วนทำให้เกิดฝนได้จริงๆ เป็นความภูมิใจที่ได้ช่วยชาวบ้านภูมิใจว่าเราได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือต่อยอดงานของพระบิดา

เมื่อก่อนเราก็คิดเหมือนคนทั่วไปว่า การทำฝนหลวง ยิ่งภาคใต้เราคงไม่ได้มีผลอะไรมาก แต่เมื่อเกิดเหตุภัยแล้งฝนทิ้งช่วงนานๆ เห็นว่าการปฏิบัติการฝนหลวงสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้จริงๆ แม้ว่าสภาพอากาศภาคใต้จะมีความยุ่งยากในการทำเนื่องจากพื้นที่ติดทะเล การคาดการณ์ลมยาก ก่อนหน้านี้บางครั้งวางโลเคชั่นไว้ที่นี่ แต่ฝนกลับไปตกที่อื่น เพราะลมพัดพา

“เดี๋ยวนี้การคาดการณ์ลมทำได้ดีมาก มีความแม่นยำและได้ผลสำเร็จดีมาก” นางพวงเพ็ญ กล่าว

นางพวงเพ็ญ จันทร์งาม อาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นปี 2565 นับว่าเป็นอีกตัวอย่าง ของผู้ที่มีจิตอาสาอุทิศตนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง เพราะการเป็นอาสาสมัครฝนหลวงนั้นไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น โดยอาสาสมัครฝนหลวงหลายท่านมักกล่าวคล้ายๆ กันว่า “ชีวิตนี้ขอเพียงได้มีโอกาส สนองงานให้พระองค์ก็มีความภูมิใจในชีวิตมากที่สุดแล้ว”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *