ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้เตรียมมาตรการรองรับกรณีฝนทิ้งช่วง ป้องกันความเสียหายผลผลิตทางการเกษตร ห่วงปีนี้ฝนตกซ้ำที่เดิม ๆ เชิญชวนประชาชนเฝ้าติดตามสภาวะอากาศและปริมาณน้ำฝนจากเว็บไซด์กรมฝนหลวงฯ
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ตั้งอยู่ ต.มะลวนอ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีขอบเขตพื้นที่การทำงานครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดภาคใต้ คือตั้งแต่ จ.ราชบุรี ลงมาจนถึง จ.นราธิวาส รวมไปถึง จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร นายปิ่นพงษ์ คงชนะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวถึงการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงมีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ เติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน
ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม และสามารถทำฝนได้ โดยต้องอาศัยความชื้นของอากาศเป็นหลัก
“ในขณะนี้ที่ภาคใต้เป็นช่วงฤดูฝน ศูนย์ฯ ยังคงติดตามสภาพอากาศว่ามีพื้นที่ใดที่ฝนตกไม่ทั่วถึงบ้าง โดยประสานงานกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเข้าไปให้การช่วยเหลือให้มีฝนตกที่เพียงพอในพื้นที่ ที่ฝนยังไม่ตกและมีความต้องการน้ำ โดยศูนย์ฯ สามารถตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่นั้นๆ ได้”
โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา พื้นที่ภาคใต้เจอภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก เช่น พื้นที่ จ.สงขลา จ.กระบี่ จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี ซึ่งมีการขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาเป็นจำนวนมาก
โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผลทางการเกษตรเช่น ทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียนที่มีการปลูกเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้และเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอสม่ำเสมอ เพื่อสามารถเจริญเติบโตออกผลผลิตได้จำนวนมาก ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในกรณีที่ฝนตกไม่เพียงพอ หรือฝนทิ้งช่วงนานๆ เป็นการลดความเสียหายของผลผลิต เช่น จังหวัดชุมพร จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังช่วยเติมน้ำต้นทุนเพื่อการผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภค – บริโภค อีกด้วย
นายปิ่นพงษ์ กล่าวต่อด้วยว่า ปีนี้จากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นว่าภาคใต้เริ่มจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันลักษณะฝนจะค่อนข้างหนักและตกซ้ำที่เดิมเยอะขึ้น จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็มีสถานีเรดาร์ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ประชาชนสามารถติดตาม โดยเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกรมฝนหลวงฯ สามารถดูภาพเรดาร์ได้ทุก 6 นาที ซึ่งจะพบว่าขณะนี้กลุ่มฝนอยู่บริเวณไหน จะเคลื่อนที่ไปทิศทางไหน เพื่อให้สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ในการเตรียมการเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัจจุบัน ทางศูนย์ ฯ มีการติดตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา หากมีพื้นที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ หรือในช่วงเวลาใดที่พืชผลขาดน้ำ ฝนทิ้งช่วง ก็จะเป็นภารกิจของศูนย์ ฯที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเรามีการติดตามสภาพอากาศความต้องการน้ำของพืช ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 20 จังหวัด มีการติดต่อกับเกษตรกร อาสาสมัครฝนหลวง และหน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้รับข้อมูล เช่น บริเวณนั้นช่วงนี้มีฝนตกปริมาณมากน้อยเพียงใด หรือพื้นที่ใดมีความต้องการน้ำ ฯลฯ ทำให้สามารถวางแผน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละช่วงเดือนได้อย่างเหมาะสม และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่การเกษตร และพื้นที่กักเก็บน้ำได้” นายปิ่นพงษ์ กล่าว