เปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ “พี่หลวงคร” สำรวจพื้นที่เสี่ยง 31 จุด สถานีวิทยุ ม.อ.88 เปิดรายการสนทนาสื่อกลางสื่อสาร มูลนิธิมิตรภาพสามัคคีพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่-อุปกรณ์ช่วยประชาชน
18 ตุลาคม 2567 เทศบาลนครหาดใหญ่ ทำพิธีเปิด “ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ ประจำปี 2568”
พล.ต.ท. สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า เทศบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและเฝ้าระวังน้ำท่วม ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ซึ่งได้มีการวางแผนและเตรียมการในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงระบบระบายน้ำ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์และบุคคลากรให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยบริหารจัดการผ่านศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ ประจำปี2568 เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารและประสานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่
ซึ่งแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเตรียมการป้องกันฯ ฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายฟื้นฟูบูรณะ โดยมั่งเน้นให้ความพร้อมในการปฏิบัติงานเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ ครอบคลุมทุกมิติ
“ต้องยอมรับพื้นที่หาดใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตอนนี้เราได้สำรวจตรวจสอบพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมทั้งสิ้น 31 จุด เราเตรียมความพร้อม
ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำและมีการประชุมประธานชุมชนและกรรมการชุมชน”
รวมทั้ง เตรียมความพร้อมในการซ้อมแผนเผชิญเหตุ โดยทำการซ้อมเสมือนจริง เมื่อเกิดเหตุจริงเราจะได้ปฏิบัติให้ได้กับตอนซ้อม โดยการซ้อมแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ทั้งคนและอุปกรณ์ การบริหารจัดการ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ได้มีการเตรียมความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์
“ผมมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าเราสามารถรับมือได้ในระดับที่ประชาชนเกิดความพึ่งพอใจ”
สำหรับการแจ้งเตือนภัย ขณะนี้ เทศบาลฯมีช่องทางในการแจ้งเตือนภัยหลายส่วน อย่างเช่น ธงสัญญาลักษณ์ ทางโซเชียลต่าง ๆ ที่ได้เตรียมไว้
“เราแจ้งเตือนประชาชนว่าอย่าตระหนก แต่ให้ตระหนัก ในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น” พี่หลวงคร กล่าว และว่า
อยากจะฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า การทำงานต้องอาศัยทุกภาคส่วน จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน จะป้องกันได้ดีกว่า
นายบัญชร วิเชียรศรี นักวิชาการศึกษาศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม 2567 สถานีวิทยุ ม.อ.88 ได้จัดรายการสนทนาสดเกี่ยวกับความพร้อมในการรับมือน้ำท่วม และทุกปีเมื่อถึงฤดูฝนใหญ่ของพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ก็จะมีการจัดรายการ ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างกันไป โดยในปีนี้ ทางสถานีฯได้ออกแบบเป็นรายการสด สนทนาสดในพื้นที่และในสตูดิโอ
“ที่จัดรายการสนทนาสดเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนที่เราไปถึงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักตื่นตัวว่าปรากฎการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าจะมากมายขนาดไหน รุนแรงขนาดไหน”
ซึ่งจริง ๆ เขาก็เตรียมไว้หมดแล้ว องค์กร หรือพื้นที่ ๆ เราจะไปคุยด้วย แต่เป็นเหมือนสัญญาลักษณ์ของการเตือนว่าทุก ๆ คน จะต้องรับรู้เรื่องนี้ ขณะที่ผู้ฟังที่อยู่ในชุมชนอื่น พื้นที่อื่น ก็จะได้รับรู้เรื่องนี้ไปด้วย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในพื้นที่ ๆ อาจจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ถ้าจะเกิดขึ้น นี่คือหลักคิดในการจัดรายสนทนาสดที่ทำต่อเนื่องมาทุกปี
“ฐานรายการจะเป็นรายการสภากาแฟ 10 โมงเช้า ถึง 11 โมง ปีนี้เราตั้งใจจะจัดสัปดาห์ละครั้ง คือในทุกวันจันทร์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคมเป็นต้นไป”
แล้วจะจัดต่อเนื่องตามเหตุปัจจัยที่เราจะมีข้อมูลมาจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกหรือกรมชลประทานว่าจะมีภาวะเสี่ยงถึงระดับไหน ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน โดยไปคุยในพื้นที่ ถามความพร้อม
ซึ่งอาจจะกระตุ้นบางสิ่งบางอย่างที่ชุมชนหรือองค์กรยังขาดอยู่ แล้วอาจจะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม
“แต่ละปีเราจะพูดถึงเรื่องความรู้ องค์ความรู้เกี่ยวกับทิศทางของน้ำ ความรุนแรง แล้วก็วิธีรับมือกับปัญหา เราพูดกันทุกปี แต่เพราะว่า 5 ปี 10 ปี มันอาจจะท่วมรุนแรงสักครั้งหนึ่ง”
คนที่จะสนใจและเข้าใจจดจำมันได้ แล้วก็ปฏิบัติได้เพื่อรับมือกับปัญหาจริง ๆ บางทีอาจจะไม่เยอะ ฉะนั้นการพูดซ้ำทุก ๆ ปีคงไม่มีความหมาย
“บทบาทของสถานีวิทยุ ม.อ. 88 จะวางตัวให้สื่อกลาง จะไม่เป็นศูนย์กลางที่บริหารจัดการความช่วยเหลือ แต่เราจะเป็นจุดที่รวบรวมข้อมูลเพราะว่า เราเป็นพื้นที่ ๆ มีผู้คนรู้จักค่อนข้างกว้างขวาง”
ตั้งแต่ระดับพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ขยายไปจังหวัดสงขลา แล้วก็ทุก ๆ ที่ ๆ สามารถรับสื่อผ่านทางสถานีวิทยุ ม.อ.88 ได้ รวมถึงผู้ฟังต่างประเทศด้วยก็ส่งข้อมูลให้เรารับรู้และมาใช้ประโยชน์ได้
“หน้าที่ของเราคือก่อนเกิดเหตุ เราจะเตือนภัยอย่างไร มีแนวปฏิบัติอย่างไรให้เขารับมือกับภัยนั้นได้ เพราะเมื่อพูดถึงน้ำท่วมของบางอย่างท่วม5วันอาจจะเสียหาย หรือท่วมเป็นเดือนไม่เสียหาย”
แต่บางอย่างท่วม 10 นาทีก็เสียหายแล้ว จึงมีระดับความจำเป็นในการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกคนต้องรู้เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บางทีเราลืมไปว่า ความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า แม้แต่การเดินลุยน้ำ ก็อาจจะตกท่อที่เรามองไม่เห็นได้ ฉะนั้น ถ้าเรารู้เราก็สามารถดูแลป้องกันได้นั่นคือช่วงก่อนเกิดเหตุ
ในขณะเกิดเหตุมีความฉุกเฉินเกิดขึ้น เราก็จะรับข้อมูลของคนที่ประสบเหตุและมีปัญหาเราจะได้รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน มีปัญหาอย่างไร เราก็ประสานงานความช่วยเหลือว่า ควรจะช่วยเหลือได้อย่างไร
“เราอาจจะเป็นคนที่รับรวบรวมสิ่งของเพื่อการช่วยเหลือได้ แต่ว่าคนที่จะจัดการการช่วยเหลือจริง ๆก็คือหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือจิตอาสาต่าง ๆ ที่เราประสานความร่วมมือด้วยกัน”
ในปีนี้ โดยการคาดการณ์ของคนที่ติดตามความรุนแรงของสภาวะอากาศทุกท่านพูดคล้าย ๆกันว่า ถ้าที่อื่นรุนแรงบ้านเราก็น่าจะไม่น้อยหน้าซึ่งจะเกิดหรือไม่ การเตรียมไว้ไม่เสียหลาย
เพราะฉะนั้นรับรู้ข่าวสาร ติดตามข่าวสาร แล้วก็จัดการดูแลตัวเอง ซึ่งการดูแลตัวเองมีประโยชน์มากต่อการช่วยลดความยากลำบากในการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน
“อีกอย่างที่สำคัญมากด้วยคือก่อนที่น้ำจะมาเราต้องจัดการเรื่องขยะให้ดี ขยะที่จะไปเกิดเป็นขยะสาธารณะ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ทำให้น้ำลดช้าลงนั่นประการหนึ่ง”
และอีกประการหนึ่งคือการจัดการขยะที่เกิดจากน้ำท่วมแล้ว ในพื้นที่การจัดการขยะจะจัดการยากมากแล้วมันจะเพิ่มมาพร้อมกันในปริมาณมหาศาล ฉะนั้น 2-3 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัว
นายอรุณชัย ศิริมหาชัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) หาดใหญ่ กล่าวว่า ทุก ๆ ปีในช่วงหน้าฝน ทางมูลนิธิฯจะประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์สำหรับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเช่น เรือ พร้อมกับอาหารแห้ง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนหากเกิดอุทกภัยขึ้น
“ผมก็ไม่อยากให้เกิดน้ำท่วมหาดใหญ่ขึ้น ซึ่งได้คุยกับเทศบาลนครหาดใหญ่ว่า ให้เร่งการขุดลอกคลองให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก รวมถึงคูระบายน้ำด้วย หากไม่มีพายุเข้ามาเชื่อว่าหาดใหญ่ไม่ท่วม”
แต่หากมีพายุเข้ามาก็ช่วยไม่ได้ แต่มูลนิธิมิตรภาพสามัคคี ก็เตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือสื่อสาร รถ เรือ ซึ่งได้เตรียมพร้อมไว้ 100 เปอร์เซ็นต์
“เราเพิ่งไปช่วยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงมีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ หากมีการแจ้งเข้ามาเราก็พร้อมออกไปทันที ให้แจ้งเข้ามาได้เลยตอนนี้ ทุกวัน 24 ชั่วโมง”
โดยในช่วงนี้ทางมูลนิธิฯ จะไม่อนูญาตให้เจ้าหน้าที่ลาหยุด เพื่อให้เจ้าหน้าพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่
“อยากจะฝากพี่น้องประชาชนว่าอย่าชะล่าใจช่วยกันตรวจสอบคูระบายน้ำหน้าบ้านว่ามีสภาพอย่างไรบ้าง มีสิ่งกีดขวาง ขยะหรือไม่ หากมีก็ให้แจ้งเทศบาลให้รีบมาแก้ไข โดยทรัพย์สินมีค่ายกขึ้นไว้ที่สูงไว้ก่อน กรณีที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง 2-3 วัน”
“อย่าไว้วางใจถ้ามีฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายวัน เคลื่อนย้ายทรัพย์สินมีค่าไว้ในที่ปลอดภัยไว้ก่อน อย่าชะล่าใจ และเพื่อความสบายใจ”
และขอให้ไว้ใจเชื่อมั่นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี (ท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง) หาดใหญ่ เราพร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย 24 ชั่วโมง