Home » ข่าว » “รองผู้ว่าฯวิทยา”เร่งแก้! จุดน้ำท่วมขัง-รอระบาย

“รองผู้ว่าฯวิทยา”เร่งแก้! จุดน้ำท่วมขัง-รอระบาย

รองผู้ว่า “วิทยา” นั่งหัวโต๊ะ เคาะเร่งแก้ปัญหาจุดน้ำขังและรอระบาย พร้อมสั่งแต่งตั้งทำงานแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้นในห้วง 18 – 22 พฤศจิกายนนี้ มุ่งลดผลกระทบแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด

     ช่วงบ่ายวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัยและดินถล่มจังหวัดสงขลา ประจำปี 2567 ครั้งที่ 5/2567 เพื่อวางแผน เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยมี นายกมล พรหมสาขา ณ สกลนครผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก นางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ผู้แทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล

     ตามที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แจ้งว่าในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2567 ของทุกปีจะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้เป็นตะวันออกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวของประเทศไทย สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะได้อิทธิพลมาจากมรสุมดังกล่าว ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นประกอบกับในช่วงดังกล่าวมีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อน (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง, พายุดีเปรสชัน, พายุโซนร้อน, พายุใต้ฝุ่น) ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างและเคลื่อนตัวเข้ามาอ่าวไทยส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกรวมถึงจังหวัดสงขลามีฝนตกหนักถึงหนักมาก เป็นบริเวณกว้างและคลื่นลนลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง อาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ 

     โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้รายงานพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ห้วงวันที่ 13 – 19 พฤศจิกายน 2567 มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังกำลังอ่อนอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น ที่ปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอ่อนกำลังลง โดยในช่วงวันที่ 13-18 พฤศจิกายน 2567 มีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ30-40 ของพื้นที่ ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ ช่วงวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2567 มีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ60-70 ของพื้นที่และมีฝนหนักบางแห่ง

      ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ได้รายงานปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่จังหวัดสงขลา ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 1,472.43 มิลลิเมตร ขณะที่ค่าปกติตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน2567 อยู่ที่ 1,700 มิลลิเมตร หากเทียบกับค่าปกติในเดือนธันวาคม 2567 ปริมาณน้ำฝนสะสมยังคงเหลือประมาณ713 มิลลิเมตร สำหรับอำเภอที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมค่อนข้างสูง ได้แก่ อำเภอสะบ้าย้อย นาทวี สะเดา อำเภอเมืองสงขลา ตามลำดับ ส่วนปริมาณน้ำท่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในส่วนของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ได้มีประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำข่าวประชาสัมพันธ์ ผลิตอินโฟกราฟิกประกาศแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ประชาสัมพันธ์รายการวิทยุ ผ่านรายการวิทยุสมิหลานเพลินใจ สถานวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา FM 89.50 MHz ทางด้าน ปภ.สงขลา ก็ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเตรียมรับ อุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมด้วย

     โอกาสนี้ นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้สั่งการ ปภ.สงขลา ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขเฉพาะกิจแบบเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยเลือกพื้นที่บริเวณ 4 แยกคลองหวะ อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา เป็นลำดับแรก เนื่องจากเมื่อวานนี้ (12 พฤศจิกายน 2567) ในเวลาประมาณ 19.00 น. พื้นที่ดังกล่าวได้เกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก ส่งผลให้น้ำท่วมขังพื้นผิวจราจร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากสภาวะที่เกิดขึ้นจึงต้องประชุมวางแผนเตรียมการ นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนไหวที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ พื้นที่บ้านพรุ บ้านควนหิน อำเภอหาดใหญ่ พร้อมกำหนดวันในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ต่อไป ทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่เมินเฉย และเข้าใจในความเดือดร้อนของประชาชน ในฐานะหน่วยงานราชการก็ต้องดำเนินแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด

ณิชารีย์ หนูบุญ / ข่าว

พงศธร บุญสุข / ภาพ

13 พฤศจิกายน 2567

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *