Home » ข่าว » สภาผู้บริโภคเอาจริง จ่อยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน กสทช. เอื้อผูกขาดอินเทอร์เน็ต

สภาผู้บริโภคเอาจริง จ่อยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน กสทช. เอื้อผูกขาดอินเทอร์เน็ต

สภาผู้บริโภคเอาจริง จ่อยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน กสทช. เอื้อผูกขาดอินเทอร์เน็ตสภาผู้บริโภคแถลงเตรียมยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน กสทช. ทั้งคณะ หลังมีมติควบรวม AIS และ 3BB พร้อมยื่นกมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ และการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ เหตุ กสทช.ชุดใหม่ล้มเหลวในการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่งานวิจัยชี้ชัดหลังควบรวมทรู – ดีแทคค่าบริการอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ลงมติมีอำนาจในการตัดสินใจอนุญาตควบรวมระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส (AIS) และบริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือทรีบีบี (3BB) ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจจะต้องแบกรับจากราคาค่าบริการที่เพิ่มมากขึ้น

วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2566) สภาผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว “ความล้มเหลวของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” เพื่อแสดงความผิดหวังและแสดงความเห็นต่อมติของคณะกรรมการ กสทช.  พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมกันและเตรียมเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายบกพร่องและไม่กำกับดูแล ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ทั้งกรณีมีมติรับทราบการควบรวมทรู – ดีแทค และการอนุญาตให้ควบรวม AWN – 3BB

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบัน หากสะท้อนจากมุมมองของคนนอกจะเหมือนเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสองรายใหญ่เพราะคนที่ได้ประโยชน์ชัดเจนคือ ผู้ประกอบการทั้งสองราย ในทางกลับกัน กลับไม่เห็นความพยายามในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคในกสทช. ที่ชัดเจน แม้แต่กรรมการ กทสช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

“สิ่งที่น่าเสียใจคือ การปฏิรูปกิจการคลื่นความถี่โทรคมนาคมในประเทศไทยดูเหมือนจะมีความคืบหน้า แต่ในความเป็นจริงกลับถอยหลัง และเป็นการถอยหลังที่มองไม่เห็นอนาคตว่าจะไปอย่างไรกันต่อ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมือนจะไม่มีความหวัง ไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับการเป็นปากเสียงให้ผู้บริโภคในองค์กรอิสระที่มีศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองความอิสระตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ” นางสาวสุภิญญาระบุ

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาวะความขัดแย้งและความเห็นต่างในองค์กรอิสระเป็นเรื่องปกติเนื่องจากกรรมการแต่ละท่านต่างมีจุดยืนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของกสทช.ชุดนี้กลับมองไม่เห็นว่าเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะอย่างไรและมีผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไร  

  “ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าผู้บริโภคในยุค 5G และ 6G และขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ยุค AI และ Internet of Things ปัญหารุมเร้าทั้งในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพที่มาจากแก๊งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์และสแปมต่าง ๆ รวมไปถึงคุณภาพในการให้บริการ ผู้บริโภคถึงกับมืดมนว่าจะพึ่งใคร ถ้าองค์กรที่ควรจะเป็นที่พึ่งอย่าง กสทช.กลายเป็นทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาที่แสงอาทิตย์ส่องเข้าไปไม่ถึง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นความหวังให้กับเราได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา”นางสาวสุภิญญากล่าว

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ความล้มเหลวของ กสทช.ในการคุ้มครองผู้บริโภคมี 3 ประการ ประการแรกคือ การลงมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างทรู – ดีแทค โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน แต่ในการประชุมลงมติกรณี AWN – 3BB ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 5:2 เห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องมีการตัดสินที่ผิดพลาดในเบื้องต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังได้อนุญาตให้เกิดการควบรวมระหว่างค่าย AWN – 3BB ที่เป็นความผิดพลาดครั้งที่สอง เพราะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในการรับบริการโทรคมนาคมที่ถูกเอาเปรียบการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจเอกชน

“ที่ผ่านมาภาคประชาชน รวมทั้งนักวิชาการและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ ในการคัดค้าน กสทช.ไปจนถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครอง เพื่อให้ กสทช.ใช้อำนาจของตัวเอง แต่สุดท้ายกสทช.ก็ทำหน้าที่เพียงรับทราบ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ กสทช. ไม่สามารถกำกับหรือควบคุมให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามมาตรการที่ตัวเองออกแบบไว้”
สารีกล่าว

ความล้มเหลวประการที่สองคือการมีมติอนุญาตให้ AWN – 3BB ควบรวมกิจการได้ โดยไม่คำนึงว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดอินเทอร์เน็ตตามมา ซึ่งทำให้บริษัทที่ควบรวมได้รับประโยชน์โดยตรงที่สำคัญ กล่าวคือทำให้ บริษัท AWN มีส่วนแบ่งในตลาดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มากถึงร้อยละ 44.44 ในขณะที่ลำดับที่สองและสาม คือ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 37.47 และ 15.44 ตามลำดับ

นอกจากนี้ การควบรวม AWN – 3BB ยังส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายซ้ำซ้อนคิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในเวลา 5 ปี การที่คณะกรรมการ กสทช. ได้กำหนดมาตรการให้นำเงินที่ประหยัดได้นี้ไปลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งหากพิจารณาอย่างผิวเผินจะเห็นว่าประชาชนได้รับประโยชน์ แต่ทางกลับกันจะทำให้บริษัท AWN ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด มีโอกาสใช้เงินทุนที่เหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นผลพวงจากการได้รับอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ทำลายพื้นที่การแข่งขันของผู้ให้บริการเจ้าอื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะ NT

“จากเอกสารที่ กสทช. ใช้ชี้แจงต่อองค์กรผู้บริโภคจะว่าการควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคด้านราคาโดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนผลกระทบด้านราคาเพิ่มขึ้นหลังจากควบรวม และตัวเลขที่ถูกคาดการณ์มีทั้งที่บอกว่า ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 – 13.4 เปอร์เซนต์ หรือบางงานวิจัยบอกว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 – 45 หรืองานวิจัยของ 101 PUB ที่ระบุว่าจะราคาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 22.9  ซึ่ง กสทช.กำลังจะบอกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้สามารถจัดการได้ แต่พวกเราไม่มีความมั่นใจเลยและไม่เชื่อว่ากสทช. จะทำได้จริง” สารีกล่าว

ความล้มเหลวประการที่สาม คือ ความล้มเหลวในการกำกับหรือสั่งการสำนักงาน กสทช. หลักฐานเชิงประจักษ์คือ ถึงแม้กรรมการเสียงข้างมากจะมีมติให้ดำเนินการกับรักษาการเลขาธิการ แต่ก็ไม่มีผลในการใช้บังคับ หรือกรณีการควบรวมทรู – ดีแทคที่สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถกำกับดูแลบริษัทให้ทำตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้ นำมาสู่คำถามและข้อกังขาว่ากรณีการควบรวม AWN – 3BB กสทช. จะสามารถควบคุมไม่ให้บริษัทขึ้นราคาได้หรือไม่ และเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างภาระให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบ

ความล้มเหลวประการสุดท้ายถูกสะท้อนจากการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากปัญหาภายใน ดังนั้น ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน กสทช. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกรรมการ กสทช. ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น มาตรการหลังการควบรวมทรู – ดีแทคที่กำหนดให้บริษัทต้องลดราคาลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังการควบรวม หรือการกำหนดให้แสดงแหล่งที่มาของเอสเอ็มเอสจะต้องบอกเพื่อลดปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถกำกับให้บริษัทปฏิบัติตามมาตรการหรือเงื่อนไขดังกล่าวได้

นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า  ปัจจุบันมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในเรื่องการควบรวมโดยมีข้อมูลการสำรวจตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประมาณ 2,700 คน โดยปัญหาพบปัญหาคุณภาพการใช้บริการลดลง ค่าโปรโมชั่นแพงขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดเผยผลสำรวจที่ลงลึกมากขึ้น

ด้าน นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการควบรวมระหว่างกิจการโทรคมนาคม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการควบรวมระหว่างทรู – ดีแทคซึ่งหลังจากการควบรวมพบว่าตลาดมีความกระจุกตัวสูง ทำให้เหลือผู้แข่งขันหรือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย ทั้งนี้ยังพบว่าดัชนีการกระจุกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากอยู่ในระดับที่ผู้กำกับดูแลโดยทั่วไปของโลกรับไม่ได้ โดยมีการประเมินว่าอาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยในการกรณีที่มีการแข่งขันตามปกติในตลาดโทรคมนาคมอย่างในปัจจุบัน ค่าบริการอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 – 10 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการ “ฮั้วราคา” อาจจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นได้ถึงในร้อยละ 20

“การฮั้วราคากันซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นการฮั้วแบบที่มีลายลักษณ์อักษรแต่มานั่งคุยกันก็ได้ แต่ว่าเมื่อมองตาแล้วรู้ใจว่า ถ้าเราขึ้นราคาแล้วเขาจะขึ้นราคาตามก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะทำให้ราคาแพงขึ้นซึ่งอาจจะเป็นค่าบริการเฉลี่ยแพงขึ้น แพ็กเกจต่ำอาจถูกตัดออก หรือในอนาคตแม้ต้นทุนถูกลงแต่ราคาลดลงไม่เท่าก็เป็นไปได้ รวมไปถึงการให้บริการคุณภาพก็อาจจะแย่ลง เราคาดการณ์สิ่งเหล่านี้ไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างชัดเจน” นายฉัตรกล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *