สงขลา-อบจ.สงขลา ขอ 20 ล้าน ศึกษาความเป็นไปได้โครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ตามนโยบาย “นายกประยุทธ์” และคำสั่งจังหวัดสงขลา “นายกไพเจน” บอกเห็นด้วยอย่างยิ่ง ชี้อำนวยความสะดวกประชาขนในการสัญจร 24 ชั่วโมง แต่ปีงบประมาณ 2566 ไม่ได้ตั้งเรื่องนี้ไว้ พร้อมเผยแพขนานยนต์ขาดทุนหนัก น้ำมันขึ้นราคา และไม่ปรับค่าบริการ
นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดเผยความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเชื่อมต่ออำเภอเมืองสงขลากับอำเภอสิงหนคร จ.สงขลา หลังจากที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงมาดูพื้นที่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 ว่า
หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีลงมาพื้นที่เพื่อจะให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาระหว่างอำเภอเมืองสงขลากับอำเภอสิงหนคร เพื่อแก้ปัญหาในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลานายเจษฎา จิตรัตน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาสมในเบื้องต้น
และมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาศึกษาความเป็นไปได้ (Feassibility Study) ทั้งด้านวิศวกรรม ขนส่ง การจราจร สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ สังคม และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องในปี 2567 นั้น ซึ่งในประเด็นเรื่องการสร้างสะพานทางอบจ.สงขลาเห็นด้วยอย่างยิ่ง
“การเดินทางข้ามสะพานจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถที่สัญจรไปมาทุกชนิด จะได้เดินทางข้ามทะเลสาบสงขลาระหว่างอำเภอสิงหนครกับเทศบาลนครสงขลาได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอันนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาเห็นด้วยอย่างยิ่ง” นายกไพเจนกล่าว และว่า
การที่จะก่อสร้างสะพานดังกล่าวมีขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกคือ ต้องศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อนว่าจุดที่จะกำหนดให้มีการก่อสร้างฝั่งอำเภอเมืองสงขลาอยู่ตรงไหน ฝั่งอำเภอสิงหนครอยู่ตรงไหน จุดขึ้นลงของทั้งสองฝั่งอยู่ตรงไหน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเบื้องต้น รวมถึงรูปแบบของสะพาน ทำประชาคมให้ประชาชนทั้งสองฝั่งเห็นชอบ
“ถ้าได้ทางเลือกแล้วเราก็ต้องไปศึกษาความเหมาสม ออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ว่าถ้าจะสร้างสะพานดังกล่าวจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านไหนบ้าง และมีมาตรการในการป้องกัน การแก้ไข การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร”
ซึ่งการดำเนินการทั้งสองอย่างจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 ปี เพราะฉะนั้นในการก่อสร้างสะพานเบื้องต้นจะต้องศึกษาเบื้องต้นก่อน แต่เนื่องจากงบประมาณของอบต.สงขลาไม่ได้ตั้งโครงการนี้ไว้
ฉะนั้น ถ้าจังหวัดสงขลา หรือส่วนกลางสนับสนุนงบประมาณมาทางอบจ.สงขลาก็พร้อม และยินดีในการเป็นเจ้าภาพในการศึกษาให้ ส่วนในการศึกษารายละเอียดศึกษาผลกระทบอาจจะไปให้ทางหน่วยงานที่จะมาก่อสร้างสะพาน ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวงแผ่นดิน หรือกรมโยธาธิการและผังเมือง
“เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ประมาณก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกำลังขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งตอนนี้งบประมาณปี 2566 เราไม่ได้ตั้งเรื่องนี้ไว้ ในการศึกษาเบื้องต้นเราเป็นเจ้าภาพให้ได้ ถ้าจังหวัดหรือส่วนกลางสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาเบื้องต้นประมาณ 20 กว่าล้านบาท”
นายกไพเจน กล่าวต่อว่า ถ้าถามว่าทางอบจ.สงขลาเห็นด้วยกับโครงการนี้หรือไม่ ต้องบอกว่าทางอบจ.สงขลาเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับโครงการนี้ เนื่องจากโครงการนี้ถ้าก่อสร้างแล้วความสะดวกจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมา
“แพขนายยนต์ที่ให้บริการพี่น้องประชาชนในปัจจุบันขาดทุนทุกเดือน เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มีการปรับค่าบริการเพิ่ม และไม่มีการเก็บค่าโดยสารสำหรับผู้โดยสาร แต่จะเก็บเฉพาะรถจักรยานยนต์ รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง รถยนต์ และรถบรรทุกเท่านั้น”
และทางอบต.สงขลาไม่ได้ปรับค่าโดยสารมานานนับ 10 ปี ถือเป็นการให้บริการพี่น้องประชาชน ให้บริการสาธารณะ เนื่องจากเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มาใช้ก็เป็นเงินที่เก็บจากภาษีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น
สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ