Home » ข่าว » เลือก‘กอจ.’ปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ร่วมทีมเก่ายึด3จว.-ดันแก้พ.ร.บ.อิสลาม

เลือก‘กอจ.’ปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ร่วมทีมเก่ายึด3จว.-ดันแก้พ.ร.บ.อิสลาม

อกจ. ชายแดนใต้ สงขลา-ปัตตานี-นราธิวาส ได้ทีมเดิมบริหาร ขณะที่ยะลา-สตูลเป็นทีมใหม่ นักวิชาการอิสลามมองวิธีการไม่สอดคล้องยุคสมัย ชี้ควรแก้ “พ.ร.บ.อิสลาม” เปิดทางคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม

การคัดสรรคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด(กอจ.) 27 พ.ย. 66 ในพื ้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ทีมเก่าได้รับการคัดสรรเข้าบริหาร 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ได้ทีม นายแวดือราแม มะมิงจิ อดีตประธาน กอจ.ปัตตานี และ นราธิวาส ได้ทีม นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ อดีตประธาน กอจ.นราธิวาส และสงขลา ได้ทีม นายศักดิ์กรียา บิลแสละ อดีตประธาน กอจ.สงขลา
ขณะที่ จ.ยะลา ได้ทีม นายอับดุลบาซิ เจ๊ะมะและ จ.สตูล ได้ทีม นายยำอาด ลิงาลาห์ อ.อับดุลชุโกร ดินอะ นักวิชาการศาสนากล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอิสลามของจังหวัดสงขลาถือว่าเป็นหน้าด่านและเป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญที่เชื่อมร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ และกับส่วนกลาง

ดังนั้น หากใครได้เข้ามาบริหารก็ย่อมมีผลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ยิ่งในยุคที่การสื่อสารทันสมัย ก็ยิ่งทำให้เกิดความสนใจและความคาดหวังจับตามองของประชาชน ที่คาดหวังให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้น “ทุกคนหวังการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในครั้งนี้ก็มีทีมใหม่เข้าร่วมคัดสรร คือทีมของอิหม่ามกิ๊บ เอกพงศ์ ยีหล๊ะ ที่ได้เตรียมตัวมาสองปีกว่า ด้วยนโยบายต่างๆ ทำให้คนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายคน
ในคณะกรรมชุดเก่าเป็นมาติดต่อกันหลายสมัยแล้ว”


อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิในการคัดสรรคือ อิหม่ามของแต่ละมัสยิด ที่มีหน้าที่ในการบริหารมัสยิดกับศูนย์ตาดีกา ซึ่งตรงนี้ก็เป็นไปตามความต้องการของอิหม่ามแต่ละท่านที่จะเลือกใคร อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน
“คณะกรรมการชุดเก่าย่อมจะมีเครือข่ายอยู่ในทั้งสองงานหลักของอิหม่าม คือมัสยิดและตาดีกา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง” การคัดสรรครั้งนี้มีมิติใหม่ตรงที่มีการฟอร์มทีมใหม่ขึ้นมาแข่งขันที่เสนอนโยบายชัดเจน ทำให้คนเก่าก็ต้องตื่นตัว ชูนโยบายบริหาร เช่น เรื่องการศึกษาศาสนาขึ้นมาบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีข้อสังเกตุจากหลายๆ ฝ่าย เรื่องวิธีการแบบการเมืองที่เข้ามาแทรกในการคัดสรร ซึ่งในกิจการของศาสนาไม่ควรมีเรื่องเหล่านี้ “ความจริงอิสลามไม่ปฏิเสธเรื่องการเมือง แต่ต้องไม่ใช่การใช้อามิสสินจ้าง อิหม่ามต้องทำหน้าที่อย่างซื่อตรง เดินทางไปเองไม่ใช่ต้องมีการขนกันไปซึ่งประชาชนก็ย่อมรู้”


อ.อับดุลชุโกร มองว่า เมื่อการคัดสรรผ่านไปแล้ว สังคมก็ต้องยอมรับมติของอิหม่าม แล้วเดินหน้าต่อไปด้วยกัน
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ที่ได้รับคัดเลือกก็ต้องฟังเสียงของชาวบ้านในการทำงาน และมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะภาคประชาชนก็ต้องติดตาม ว่าได้ทำตามที่ได้ทำนโยบายไว้ หรือไม่อย่างไร หรือในการดำเนินงานเรื่องตราฮาลาล ค่าจัดการแต่งงาน หรือการบริหารงบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะเครื่องมือสื่อสารในปัจจุบันสามารถทำได้ไม่ยาก และแม้ว่าบางอย่างประชาชนตรวจสอบไม่ได้ แต่ทุกท่านรู้ว่าพระเจ้าก็ทรงตรวจสอบตลอดเวลา


“ความจริงเรื่องการเมืองกับวงการศาสนาแทรกซึมกันมานาน แต่รับรู้กันแต่วงแคบๆ ต่างกับสมัยนี้ที่การสื่อสารรวดเร็วทำให้ข่าวออกมา แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องระวังการปล่อยข่าวเท็จ”
อีกเรื่องหนึ่งคือ อยากเสนอแก้ไข พ.ร.บ.บริหารอิสลามฯฉบับนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ปี 2540 น่าจะปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น เช่น เรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ควรเข้ามามีตำแหน่งในคณะกรรมการอิสลาม หรือควรลาออกก่อนจะเข้ามาลงสมัคร เพราะอาจมีการนำเอาอำนาจทางการเมืองเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรศาสนา ซึ่งจะเป็นผลเสียตามมาได้


อีกทั้ง เพื่อความสง่างามในการดำรงตำแหน่ง “ความจริงเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาด้วยซ้ำ เพราะเป็นเรื่องของสปิริต กฎหมายควรจะมาหลังเรื่องของจิตวิญญาณ หรือแม้กระทั่งการกำหนดสมัยดำรงตำแหน่ง ซึ่งหลายๆ ประเทศที่เจริญ กำหนดห้ามอยู่ในตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกัน ป้องกันหลายปัญหาที่ตามมา และให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามามีบทบาทสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติด้วย “นั่นก็ย่อมจะดีต่อวงการศาสนาด้วย” อ.อับดุลชุโกร กล่าว นายดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ ผู้บริหารรร.มิฟตาฮุดดีน (บ้านพลีใต้) อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยในการใช้ระบบการเลือกตั้งลักษณะนี้ แต่ควรเป็นการ “ชูรอ” หรือการพูดคุยกันมากกว่า การให้สิทธิแก่อิหม่ามในการคัดสรรก็อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เนื่องจากหลายท่านอยู่ในตำแหน่ง 40-50 ปี และขาดการเชื่อมโยงกับชาวบ้าน


“อยากให้มีคณะกรรมการสรรหา กอจ. รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านมากกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง ในการสรรหาครั้งล่าสุดคิดว่าจะได้คณะกรรมการชุดใหม่จำนวนมาก” นายดุลยรัตน์ กล่าวและว่า
การบริหารงานของกอจ.จะต้องมีการสื่อสารกับสังคม ทำหน้าที่ให้ตรงจุดและควรต้องมีความหลากหลายของคณะทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมพัฒนาการศึกษาเยาวชนอย่างทั่วถึงทั้งตาดีกา และโรงเรียนเอกชนฯ ตนเห็นว่าสิ่งที่น่ากังวลในอนาคตคือ การใช้อำนาจการเมืองมามีอิทธิพลนำองค์กรศาสนา ตรงข้ามกับคำว่า “คุณธรรมนำการเมือง” ที่เคยใช้กันมา


ขณะที่ นายอาหมัด หลีขาหรี ผู้บริหาร รร.สมบูรณ์ศาสตร์ อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า การคัดสรรกอจ.ครั้งนี้ในภาพรวมหลายพื้นที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ เช่น มีภาพข่าวความผิดปกติในการลงคะแนน ที่จ.นราธิวาส ออกมา หรือ ที่จ.ระนอง ก็ไม่มีการแข่งขัน “วิธีการคัดสรรโดยให้สิทธิแก่อิหม่าม ก็จะคล้ายกับการเลือกกำนันที่ให้สิทธิแก่ผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้นโดยเจตนารมย์ความเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่เป็นไปตามนั้น แต่กลับตอบโจทย์ของคนที่เป็นผู้นำมากกว่า ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานก็สามารถสร้างสัมพันธ์เกื้อหนุนกัน การตัดสินใจของอิหม่ามก็ไม่ง่าย” นายอาหมัด กล่าว และว่า กอจ.สงขลา ดูรายละเอียดจากการลงคะแนนจะมีคนที่เลือกชุดเก่าทั้งชุด เลือกชุดใหม่ทั้งชุด และบางส่วนก็เลือกทีมละครึ่ง และอีกส่วนก็เลือกกาตามที่พอใจ
“ความจริงแล้วก็มีการพูดคุยในสังคมในเรื่องการคัดสรรว่าน่าจะจัดการแบ่งเขตจัดสัดส่วนตัวแทนเขตมากกว่า โดยยึดเอาจำนวนมัสยิดเป็นหลัก ก็จะได้กอจ.ที่กระจายและเป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่“ นายอาหมัด กล่าว และว่า
สิ่งที่สังคมคาดหวังจากกอจ.ชุดนี้คือ ความโปร่งใสในการบริหารงาน การใช้จ่ายงบประมาณที่ตอบกับสังคมได้ และการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมให้มากกว่าที่ผ่านๆ มา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *