Home » ข่าว » ‘นพ.สุภัทร’ให้ของขวัญปีใหม่ชาวสะบ้าย้อยจัดรถบริการ-ลดความเหลื่อมล้ำการแพทย์

‘นพ.สุภัทร’ให้ของขวัญปีใหม่ชาวสะบ้าย้อยจัดรถบริการ-ลดความเหลื่อมล้ำการแพทย์

“หมอสุภัทร” มอบของขวัญปีใหม่ชาวสะบ้าย้อย “ลดความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์” จัดรถรับส่งผู้ป่วยระหว่างรพ.สะบ้าย้อย-รพ.สงขลา ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเช่าเหมารถวันละ 2,000 บาท และให้เข้าถึงแพทย์เฉพาะทางมากขึ้นโดยการแพทย์ออนไลน์ ทั้งยังพัฒนาระบบอื่นๆ ต่อเนื่อง

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย เปิดเผยถึงโครงการจัดรถตู้ขนาด 13 ที่นั่ง บริการผู้ป่วยระหว่างรพ.สะบ้าย้อย-รพ.
สงขลา ที่จะให้บริการในปีหน้า (2567) หรือปีใหม่นี้ว่า ที่มาของโครงการเริ่มจากการได้ตรวจคนไข้ แต่จริง ๆ ก็รับรู้เรื่องปัญหาการส่งตัวผู้ป่วยมาพักหนึ่งแล้ว ว่าการเดินทางของผู้ป่วยจากสะบ้าย้อยไปยังรพ.หาดใหญ่หรือรพ.สงขลาลำบาก แต่มาเจอกับผู้ป่วยรายหนึ่ง แกก็บอกว่าต้องจ่ายค่าเหมารถตู้ 2,000 บาท เดินทางไปยังรพ.หาดใหญ่

“ผมจะเปลี่ยนการส่งตัวผู้ป่วยรายนี้จากรพ.หาดใหญ่ไปที่รพ.สงขลา เนื่องจากมีความแออัดน้อยกว่า ก็เลยถามผู้ป่วยว่าลำบากมั๊ย แกก็บอกว่าไม่ลำบากอะไร เพราะยังไงแกก็ต้องเหมารถอยู่แล้ว ผมถามว่าเหมารถเท่าไหร่ ผู้ป่วยบอก 2,000 บาท”

ไม่ว่าจะไปรพ.หาดใหญ่หรือรพ.สงขลาราคาเหมาก็ 2,000 บาท เพราะเหมาทั้งวัน เนื่องจากอำเภอสะบ้าย้อยไกลไป-กลับค่าน้ำมันประมาณ 1,000 บาท ที่เหลือ 1,000 บาท เป็นค่าคนขับ สอบถามเจ้าหน้าที่ได้รับคำตอบว่าเป็นอย่างนี้จริง ๆ เพราะผู้ป่วยที่ไปไม่ได้ ไม่ได้ไป มีใบส่งตัว ก็ไม่ยอมไป ก็เลยมานั่งจัดระบบว่าจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ละวันมี 5-10 ราย

“ก็เริ่มจากรถตู้ของโรงพยาบาลที่มีอยู่ ทำเป็นต้นแบบ เผื่อองค์กรหรือหน่วยงานไหนเห็นแล้วว่ามีประโยชน์จะนำไปทำก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยเฉพาะการทำในระยะยาวถ้ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารับก็จะดี เราก็จะได้ไปทำภารกิจอื่นที่ยังรออยู่”

โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถเดินทางไปพบแพทย์เฉพาะทาง ตามใบส่งตัวของรพ.ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ทุกรายควรจะพบแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากรพ.สะบ้าย้อยไม่มีแพทย์เฉพาะทางแม้แต่คนเดียว มีแต่แพทย์ทั่วไป เช่น มีปัญหาเรื่องตามัว เราคิดว่าเป็นต้อกระจกแน่ ๆ น่าจะต้องการผ่าตัด ก็ต้องเขียนใบส่งตัวให้เขาไปรพ.สงขลา เมื่อเขาได้ใบ
ส่งตัวไป เขาก็อาจจะไม่ไป เพราะอาจจะไม่มีเงินค่าเหมารถ เพราะเขาต้องไปเอง ไม่มีบริการรถรับส่ง

แต่กรณีที่เป็นผู้ป่วยใน ป่วยหนัก อยู่ห้องฉุกเฉิน ที่ต้องส่งตัว มีรถของโรงพยาบาลจะนำส่ง แต่ผู้ป่วยนอก วันละ 5-10 คน ที่ต้องเขียนใบส่งตัวเพื่อให้ไปพบแพทย์เฉพาะทาง อาทิ โรคไต โรคลมชักครั้งแรกที่ต้อง
ไปเอกซเรย์สมอง จะถูกส่งแบบผู้ป่วยนอก เนื่องจากเขายังช่วยเหลือตัวเองได้ เดินได้ ดูดี รอได้ ต้องหารถไปเอง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต้องพบแพทย์ แต่ไม่มากนัก

“แต่ที่แย่คือ เขาไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ เนื่องจากไม่มีค่ารถ อันนี้แหละคือความเสี่ยง ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์เฉพาะทาง ว่ามีอะไรมากกว่าที่ปรากฏและได้รับการตรวจเบื้องต้นจากแพทย์ทั่วไป”

ซึ่งหากแพทย์เฉพาะทางวินิจฉัยแล้วต้องรักษาต่อเนื่อง ทางรพ.สงขลาก็ต้องนัดต่อเนื่อง ผู้ป่วยก็ต้องเดินทางไปทุกเดือน ทุกสองเดือน เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งการส่งตัวจะเกิดจากพบอะไรที่ผิดปกติและต้องให้แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัย

ที่ผ่านมาเมื่อส่งตัวไปก็จะตัดรักษาต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้จะเป็นภาระของชาวบ้านที่ต้องเดินทางเป็นประจำต่อเนื่องตามที่หมดนัด อันนี้คือที่มาของการคิดทำโครงการรถบริการรับส่งผู้ป่วยส่งต่อของรพ.สะบ้าย้อย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการเงินในการเดินทางที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษา ซึ่งเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ฉะนั้น การให้บริการรถรับส่งผู้ป่วยส่งต่อกลุ่มที่มีปัญหาทางการเงินแล้ว ยังให้ชาวบ้านอีกกลุ่มเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดให้บริการรถรับส่งผู้ป่วยส่งต่อจากรพ.สะบ้าย้อยกับรพ.สงขลา

“เทียบกับตอนที่ผมอยู่รพ.จะนะ เรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหา เนื่องจากระยะทางจากรพ.จะนะไปยังรพ.หาดใหญ่หรือรพ.สงขลาไม่ไกล ค่าเงินทางก็ไม่สูง
และมีรถโดยสารสองแถวประจำเส้นทางที่ให้บริการรถส่วนตัวที่สามารถหยิบยืมจากญาติ พี น้อง เพื่อนฝูงได้มากกว่าคนสะบ้าย้อย ซึ่งมีฐานะลำบากกว่า”

ฉะนั้น โครงการนี้ถ้าไปทำที่รพ.จะนะ ไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากค่าเดินทางที่ไม่สูง มีทางเลือกในการเดินทาง แต่ที่สะบ้าย้อยต้องเช่าเหมารถ 2,000 บาท ในขณะที่รถประจำทางหรือรถตู้ไม่มี ต้องรอรถตู้ยะลา-หาดใหญ่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งยากที่จะคาดหวังว่า จะมีที่นั่งว่าง เนื่องจากเต็มจากต้นทาง และมีเฉพาะช่วงเช้ากับเย็น จึงไม่มีทางเลือกนอกจากเช่าเหมา

“ตอนนี้ มีเวลา 2-3 สัปดาห์ ในการเตรียมการ โดยคำนวณต้นทุนจากการใช้รถตู้โรงพยาบาล 1 คัน มีเก้าอี้ 13 ที่นั่ง ไม่รวมคนขับ ต้นทุนค่าน้ำมันไป-กลับ 200|กิโลเมตร หนึ่งพันบาท ค่าจ้างคนขับ 500 บาท”

ซึ่งต้นทุน 1,500 บาท ไม่รวมค่าบำรุงรักษา ค่าจัดการรถทั้งหลาย ที่เป็นภาระของโรงพยาบาล เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนล้อ ซ่อมบำรุง สรุปว่า เราเก็บจากผู้ป่วยและญาติรวม 2 คน 300 บาท เนื่องจาก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางไปรพ.สงขลา พร้อมกับญาติ จำนวนที่นั่ง 13 ที่นั่ง จะรองรับได้ 12 ที่นั่งหรือ 6 คู่ คิดจากผู้ป่วย 1 คน และญาติติดตามอีก 1 คน ก็จะมีรายได้ 1,800 บาท ซึ่งเพียงพอกับต้นทุน ไม่ต้องเป็นภาระค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาล เพราะรพ.สะบ้าย้อยก็ไม่ได้มีเงินอะไร 2 คน จ่าย 300 บาทไปกลับ หารออกมาแล้ว 75 บาทต่อคนต่อเที่ยวตรงนี้เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่เขาร่วมจ่ายไหว จากเดิมที่ต้องเช่าเหมา

“ตอนนี้ที่ยังไม่ลงตัวคือ เตรียมระบบการจองคิว ที่ผมจะต้องไปพัฒนาระบบกับพยาบาลว่าจะจองคิวกันยังไง แล้วก็มีระบบทะเบียน มีโทรศัพท์ติดตาม จะจองคิวกันที่ไหน ผ่านไลน์ได้มั๊ย หรือจะจอง
ผ่านโทรศัพท์ ตอนนี้รถที่ใช้ผ่าน คนขับรถผ่าน จะให้เปิดบริการได้ปีใหม่เป็นของขวัญปีใหม่”

โครงการนี้จะลดค่าใช้จ่าย แต่หมายถึงการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเงิน เป็นผู้ป่วยที่ยากจน ลำบากจริง ๆ ที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีอยู่แล้ว สำหรับคนที่มีกำลังก็คงไม่อยากใช้บริการรถคันนี้ เพราะมีการกำหนดเวลาไปและกลับ และต้องให้ครบตามจำนวนผู้ป่วย จึงเดินทางออกไปและเดินทางกลับพร้อมกัน

นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากโครงการรถตู้บริการผู้ป่วยส่งต่อที่จะเริ่มดำเนินการในปีใหม่นี้ ก็ยังมีโครงการอื่นๆ เนื่องจากรพ.สะบ้าย้อยมีจุดเด่นก็คือ ไกลมาก ไกลจากหาดใหญ่ และสงขลาประมาณ 100 กิโลเมตร ทำให้โอกาสของประชาชนในการเข้าถึงการบริการทางแพทย์เฉพาะทางน้อยมาก ซึ่งมีโครงการที่จะในอนาคตหลาย ๆ อย่าง

“ขณะนี้มีคนมาช่วยเรา คือแพทย์ที่รพ.นาทวีอย่างน้อย 3 สาขาคือ หมอกระดูก หมอสูตินรีเวช และหมอกายภาพบำบัด มาตรวจที่รพ.สะบ้าย้อยเดือนละครั้ง ทำให้คนไข้กลุ่มนี้บางคนไม่ต้องเดินทางไปรพ.นาทวี หรือรพ.สงขลา อันนี้เกิดขึ้นแล้ว”

สิ่งที่จะทำต่อที่ได้คุยกับผอ.รพ.สงขลาคือ ทำเทเลเมดีซีน (แพทย์ทางไกล) เช่น ทุกวันพฤหัสบดีบ่ายเราจะนัดคนไข้อายุรกรรมที่จะต้องเจอแพทย์เฉพาะทางมาเจอแพทย์เฉพาะทางด้วยแพทย์ทางออนไลน์ คุยผ่านกล้อง โดยให้แพทย์รพ.สะบ้าย้อยประกบด้วย แล้วก็รักษา สั่งยา คนไข้จะได้ไม่ต้องเดินทางไป

แต่สมมุติว่ามียาแปลก ๆ ที่รพ.สะบ้าย้อยไม่มี เราก็จะใช้รถตู้ที่รับส่งคนไข้ส่งต่อไปรับยาในวันรุ่งขึ้นที่รพ.สงขลา รับเสร็จเราก็ค่อยนัดญาติมารับยาที่รพ.สะบ้าย้อยตอนเย็น เพื่อพากลับไปให้คนไข้ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 1-2 เดือนจะเกิดขึ้นได้ ที่เหลือก็เป็นการพัฒนาระบบการบริการภายในโรงพยาบาล ที่ทีมแพทย์และพยาบาลต้องมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพื่อลดการเดินทางที่เป็นภาระของผู้ป่วยมากในหลายรูปแบบ ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริการทางแพทย์เฉพาะทาง ลดความเหลื่อมล้ำ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *