มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) มอบทุนการศึกษาใน “โครงการต้นกล้าสงขลานครินทร์” ประจำปีการศึกษา 2567 สำหรับนักเรียนพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ประสงค์เรียนต่อ ม.4 จนจบปริญญาตรี
โครงการต้นกล้าสงขลานครินทร์ ได้เปิดรับสมัครเมื่อ 1 ก.ย.- 31 ต.ค. 66 และคณะกรรมการจัดสรรทุนได้ประชุม รอบที่ 1 เมื่อ 14 ธ.ค.66 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในวันที่ 18 ธ.ค.66
รศ.ดร. วิโรจน์ ยูรวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เผยว่า ในปีนี้ มีนักเรียนสมัครรับทุน 324 คน และคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อมอบให้ 30 ทุน เป็นอย่างน้อย โดยจะเป็นทุนเล่าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนจบปริญญาตรี รวมค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าเทอมตกทุนละประมาณ 500,000 บาท
ในจำนวนนี้จะเป็นเงินเพื่อใช้จ่าย 247,000 บาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ฯลฯ ที่ทางมหาวิทยาลัยฯ รับดูแล
“เกณฑ์ประเมินสำหรับนักเรียนในโครงการ คือต้องมีความประพฤติดี มีความตั้งใจเล่าเรียน มีฐานะยากจนด้อยโอกาส และตั้งใจจะเรียนที่ม.อ. ซึ่งสามารถเลือกเรียนที่วิทยาเขตใดๆ ของ ม.อ.“
โดยทุนที่ได้รับมาจาก ห้างร้าน ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ รวมทั้งศิษย์เก่าของ ม.อ. ที่ระดมกันมา ทั้งรายเล็ก รายน้อย หรือบางท่านก็ไห้มาทั้งทุนคือจำนวน 247,000 บาท และบางมูลนิธิก็ให้มาจำนวนมาก เช่น มูลนิธิ ชิน โสภณพนิช ที่ให้มาปีละ 14 ทุน อย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า โครงการต้นกล้าสงขลานครินทร์ เริ่มทำเมื่อปี 2548 ซึ่งปีแรกมอบ 3 ทุน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากมหาวิทยาลัยฯต้องการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้ทุนตั้งแต่นักเรียนจบชั้นม.3 ซึ่งเป็นภาคบังคับที่รัฐสนับสนุน
“จะมีนักเรียนบางส่วนที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อ ซึ่งในความเป็นจริง หากเขาได้เรียนต่อจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็จะมีทุนต่างๆ อยู่จำนวนมากที่สามารถขอรับได้”
ดังนั้น ทุนต้นกล้าสงขลานครินทร์ ก็มาจากโครงการที่พยายามต่อยอดการศึกษาให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ เพื่อได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี
“มหาวิทยาลัยฯมีหน้าที่ให้การศึกษาเยาวชนทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต พยายามหาวิธีปิดช่องว่างให้กับเด็กที่ขาดโอกาสเรียนต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปีที่ 4 ซึ่งอาจหลุดวงโคจรไป”
สิ่งที่เราคาดหวังคือ การปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยฯ จึงดำเนินการ โดยมีนโยบายให้เราไปช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มที่ด้อยโอกาส ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับทุนจากโครงการนี้แล้วกว่า 300 คน
“เป็นลักษณะทุนที่ไม่มีข้อผูกมัด ไม่มีเงื่อนไขทำให้มีนักเรียนสนใจสมัครจำนวนมาก งบประมาณที่มีจึงไม่เพียงพอจะให้กับทุกคน สังคมยังขาดโอกาสอีกจำนวนมาก”
การมอบทุนที่มีเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ส่วนสำคัญมาจากความพยายามของผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ และศิษย์เก่า เพราะโดยตัวทุนเองแทบไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องมาจากวิกฤติโควิดฯ แต่เพราะมหาวิทยาลัยและศิษย์เก่าได้ทุ่มเทพยายามรณรงค์จัดกิจกรรมขึ้นมา หาผู้บริจาค ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
“ต้องขอบพระคุณผู้ที่ได้ร่วมบริจาค และร่วมอุดมการณ์กับเรา มหาวิทยาลัยฯเองไม่สามารถดำเนินการสำเร็จหากไม่มีผู้อุปการคุณเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นผู้มีพระคุณต่อนักเรียนและมหาวิทยาลัยฯ ทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ไปได้ เพราะลำพังหากมหาวิทยาลัยดำเนินการฝ่ายเดียวจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เราก็ได้มาช่วยกัน”
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ช่วยเยอะ เนื่องจากนักเรียนที่ได้รับทุนมักจะเป็นเยาวชนที่ขาด ไร้ทั้งความรัก ความอบอุ่นของครอบครัวถูกทอดทิ้งพ่อแม่เสียชีวิต หรือครอบครัวเลิกรากันไป อาศัยอยู่กับปู่ย่าญาติพี่น้องซึ่งนอกเหนือจากเม็ดเงินที่ให้ เราเองก็ต้องดูแลพวกเขาในลักษณะเหมือนเป็นผู้ปกครองด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ผู้อุปการะทุนให้กับเด็ก จึงถือว่ามีพระคุณกับพวกเขา และเราก็จัดให้มีการพบปะสื่อสารระหว่างกัน เพื่อสร้างความรักความผูกพันธ์ความกตัญญู” รศ.ดร.วิโรจน์ กล่าว