พลิกแฟ้ม 003 ประวัติศาสตร์หาดใหญ่ ย้อนตำนานศูนย์กลางสถานบันเทิง

พลิกประวัติศาสตร์

ปีที่ 2 ฉบับที่ 60 วันที่ 11-17 มกราคม 2542 พลิกแฟ้มประวัติศาสตร์หาดใหญ่…ย้อนตำนานศูนย์กลางสถานบันเทิง


“หาดใหญ่” เมืองที่แทบจะทุกคนต้องยอมรับว่าเต็มไปด้วยแหล่งสถานบันเทิงนานับประเภท ความรื่นรมณ์ทุกรูปแบบสามารถหาได้ณ ที่แห่งนี้ แต่หากย้อนกลับไปในอดีตก็พบว่า เมืองนี้มีความรุ่งเรืองด้านนี้มานับแต่การสร้างเมือง หาได้เพิ่งเริ่มต้นในช่วง 20-30 ปีนี้ไม่ “เมื่อก่อนกรุงเทพฯ มีอะไรหาดใหญ่ก็มีอย่างนั้น” พิชัย ศรีใส จากศูนย์วัฒนธรรมอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ซึ่งกำลังร่วมเส้นทางรื้อค้นประวัติศาสตร์หาดใหญ่อย่างจริงจังอีกคนหนึ่ง กล่าว
ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย เพราะแม้แต่ “จ้ำบ๊ะ” ที่เกิดขึ้นในหาดใหญ่ และโลดแล่นอยู่ในเมืองนี้ราว 10 กว่าปี ก็เริ่มจากคณะแรกที่ยกลงมาจาก “ศาลาเฉลิมกรุง” กรุงเทพฯ และมาปักอยู่แสดงอยู่ที่ “คิงส์” ซึ่งเคยตั้งอยู่ตรงข้ามโรงแรมวี.แอล. ในปัจจุบันแต่สำหรับ “โฟกัสฉบับนี้คงยังไม่ลงในรายละเอียดของ แหล่งบันเทิงอื่นๆ เพราะต้องการจะเริ่มจาก “โรงภาพยนต์” อันเป็นสถานบันเทิงหลัก

image 7


“คุณชีกิมหยง คุณพระเสน่หามนตรี ขุนนิพัทธ์จีนนคร ต่างก็มีโรงภาพยนต์กันทั้งนั้น” คุณกิตติ จิระนคร ทายาทขุนพิพัทธ์จีนนคร หนึ่งในตำนานคนสร้างเมืองหาดใหญ่ ฟื้นความจำให้ฟัง ก่อนที่จะนั่งลำดับเหตุการณ์ต่างๆพร้อมๆไปกับการแสดงท่าทางประกอบเป็นระยะๆ หน้าบ้านอันเข้มขลังของขุนนิพัทธ์จีนนคร หลังปั๊มเอสโซ่วงเวียนน้ำพุ
“…โรงหนังแห่งแรกชื่อโรงหนังคิงส์” เป็นของคุณซีกิมหยง ซึ่งอยู่บริเวณตรงข้ามกับโรงแรม วี.แอล.ในปัจจุบันแต่สร้างขึ้นมาเมื่อไรนั้นผมจำไม่ได้ เพราะตอนผมเกิดก็รู้ว่ามีอยู่แล้ว(คุณกิตติ เกิดปี 2475)


โรงหนังคิงส์นี้เมื่อก่อน ฉายหนังใบ้ ไม่มีการพากษ์ แต่มีดนตรีประกอบให้คนดูจินตนาการเอาเอง และบางช่วงก็มีนักดนตรี บรรเลงอยู่ข้างๆ นั้น พร้อมๆไปกับการแสดงสดๆ เช่น หนังคาวบอย เมื่อฉายๆไประยะหนึ่งบางครั้งก็ตัดมาเป็นการแสดงสด ที่มีคนขี่ม้าใส่หมวกออกมาไล่กันหน้าเวที พร้อมๆ กับ ดนตรีที่จะสนั่นขึ้นมา


นอกจากนี้ก็ยังมีหนังจีน ซึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืมคือเรื่อง “โอลีจู” ที่ฉายๆ ไปก็ตัดมาที่คนแสดงสด มีคนเหาะเหิน พร้อมๆ กับการฟันดาบเฉ้งฉ้าง เฉ้งฉ้างดังลั่น ซึ่งพระเอก-นางเอก เรื่องนี้จะใส่ชุดดำ และคนที่เป๋าซัมเปท ประกอบคนหนึ่งก็ยังมีชีวิตอยู่ ทราบว่าตอนนี้สอนอยู่ที่โรงเรียนแสงทองแต่คุณกิตติ บอกว่าจำชื่อไม่ได้และนั่นก็คือตำนานของโรงหนังหาดใหญ่แห่งแรก ก่อนที่จะมีโรงอื่นๆตามมาเป็นระยะๆ


ประมาณ 2480 โรงหนังสุคนธหงส์ ของคุณพระเสน่หามนตรี (นายอำเภอหาดใหญ่คนแรก) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างห้างสรรพสินค้าโอเดียนช้อปปิ้งมอลล์ กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในปัจจุบัน ก็เกิดขึ้นรับกับการเติบโตของเมือง
จากนั้นประมาณปี 2482-2483 โรงภาพยนตร์ เฉลิมยนตร์ ของขุนนิพิพัทธ์จีนนคร ก็เกิดขึ้นอีก โดยมีที่ตัังอยู่บริเวณสำนักงานใหญ่ของบูริษัทยางไทยปักษ์ใต้ (เต็กบี้ห้าง) จำกัด

ในปัจจุบันทั้งหมดนี้คือแหล่งบันเทิงที่เกิดขึ้นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีราคาค่าตัวประมาณ 25 สตางค์ สำหรับด้านหน้า และ50 สตางค์ สำหรับด้านหลังโดยมีที่นั่งดูเป็นเก้าอี้หวายร้อยติดกับเป็นแถวยาว
“แต่เมื่อเกิดสงครามญี่ปุ่นยกพลขึ้นที่นี่ โรงหนังทั้งหมดก็ต้องปิด เพราะมีทั้งระเบิดและเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น” คุณกิตติปรับเปลี่ยนอารมณ์ได้ทันทีเมื่อถึงเหตุการณ์นี้ ในช่วงปี 2484 ซึ่งระหว่างเหตุการณ์นี้ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนต์เงียบไปสนิท โดยมีรูปแบบการบันเทิงอื่นเข้ามาแทนนั่นคือ”จำบ๊ะ-ลิเก-โรงรำวง-และรถไต่ถัง”(รายละเอียดในเรื่องเหล่านี้เสนอในตอนต่อไป)


ประมาณปีพ.ศ.2500 โรงหนังฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นพร้อมๆ กับฝรั่งที่เริ่มเข้ามาแทนทหารญี่ปุ่นที่แพ้สงคราม “โรงหนังสยา” ที่มีเจ้าของเดิมทำธุรกิจโรงไม้สยา (สยา คือชื่อไม้ชนิดหนึ่ง) คือโรงแรกที่มาเปิดใหม่บริเวณด้านหลังโรงหนังคิงส์ ที่ระยะนั้นได้ปิดตัวไปปรับกับการปรับปรุงใหม่เป็นเรือนไม้แทน
แต่โรงหนังคิงส์ของชีกิมหยง ก็ไม่ได้ล้มเลิกเพียงแต่ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย” แล้วย้ายมาอยู่ที่ตลาดกิมหยงถนนธรรมนูญวิถี ที่ปัจจุบันเป็นอาคารขายสินค้าต่างๆอยู่และระยะต่อมาโรงหนังเฉลิมไทยแห่งนี้ก็ย้ายมาอยู่หน้าหอนาฬิกาในปัจจุบัน


พร้อมกันนี้ ชีกิมหยงก็ยังได้ไปสร้างโรงหนังเพิ่มอีก 1 แห่งในช่วงปีประมาณ 2510 ที่ตลาดชีกิมหยงในปัจจุบัน
ซึ่งผลพวงของความรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมการบริโภคความบันเทิงที่ไหลมากับธรรมเนียมฝรั่งและกรุงเทพฯทำให้โรงภาพยนต์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โรงภาพยนตร์……บริเวณโรงแรม เจ. บี.,โรงภาพยนต์หาดใหญ่พลาซ่าและ มินิเธียร์เตอร์ ที่สมบูรณ์แบบในปัจจุบันที่ก่อตั๋วขึ้นในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มีราคาค่าบริการสูงกว่าเกือบ 1,000 เท่าและนี่คือ อีกฉากหนึ่งของหาดใหญ่ แหล่งที่เรียกว่าเป็นศูนย์กลางความบันเทิงของภาคใต้!!


ขอบคุณรูปภาพจาก : โรงภาพยนต์ในประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *