“วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี”แกนนำประมงพื้นบ้าน นั่ง “เลขาธิการเอ็นจีโอใต้“ คนใหม่ ประกาศล้มร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ขณะที่ “ฮาสนะห์ เก๊ะมาซอ“ เจ้าหน้าที่สนามสมาคมรักษ์ทะเลไทย รับรางวัล ”ช่อดาวลดา“
วันที่ 15-17 ธ.ค. 2566 ณ มูลนิธิอันดามัน จ.ตรัง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) หรือ NGOs ใต้ ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ได้จัดสมัชชา “สานสายใยพี่น้อง กป. ร่วมปกป้องพื้นที่ภาคใต้” เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง ทบทวน สรุปบทเรียน รวมถึงสานสัมพันธ์ความเป็นพี่เป็นน้อง และเลือกคณะกรรมการชุดใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 120 คน
ในงาน มีการแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานขององค์กรสมาชิก , วงเสวนา ”เหลียวหลังแลหน้างานพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้“ โดยนักพัฒนาเอกชนอาวุโส , การวิเคราะห์สถานการณ์ อาทิ เรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมฯ โดย ศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องนักปกป้องสิทธิฯ โดย สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เรื่องสถานการณ์โลกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ผศ.ประสาท มีแต้ม สภาองค์กรของผู้บริโภค
การนำเสนอสถานการณ์เชิงประเด็น เช่น ประเด็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ประเด็นแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ประเด็น SEA จะนะ ประเด็นโรงไฟฟ้า ประเด็นเหมืองแร่ ประเด็นประมง , การมอบรางวัลช่อดาวลดา, การรายงานการดำเนินงานในรอบปี, การทบทวนระเบียบ, การเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่, การอ่านคำประกาศ
ในช่วงกิจกรรม ”ช่อดาวลดา“มที่จัดขึ้นในช่วงงานสมัชชา กป.อพช.ใต้ ทุกปี เพื่อเป็นกำลังใจต่อนักพัฒนาเอกชนในภาคใต้ ในปี 2566 คณะกรรมการช่อดาวลดาได้มอบรางวัลต่อ ”ฮาสนะห์ เก๊ะมาซอ“ เจ้าหน้าที่สนามสมาคมรักษ์ทะเลไทย พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินจำนวน 20000 บาท
ส่วนการเลือกตั้งคณะกรรมการ กป.อพช.ใต้ ชุดใหม่ จำนวน 15 คน ผลการเลือกตั้ง “นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี”ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ “นางบัณฑิตา อย่างดี” ได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการ พร้อมคณะกรรมการ จำนวน 13 คน มีสัดส่วนผผู้ชาย 8 คน ผู้หญิง 7 คน มีความหลากหลายครอบคลุมประเด็นและพื้นที่การดำเนินงานในภาคใต้ มีวาระการดำเนินงาน 2 ปี
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวว่า มียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ดังนี้ (1) กป.อพช.ใต้ เป็นขบวนที่ชี้นำสังคม และปฏิบัติการให้เห็นจริง ตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับนโยบาย (2) ทำงานร่วมกับสมาชิก (3) ฟื้นฟูสัมพันธภาพแนวร่วม สานสัมพันธ์สร้างแนวร่วม (4) เป็นกองกำลังติดอาวุธทางปัญญา (5) พัฒนาการสื่อสาร (6) จัดทำแผนที่ภัยคุกคามและแผนพัฒนาของภาคประชาชน จากภูเขาถึงทะเล (7) หยุดยั้ง ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
“NGOs เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญ ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีเงินเดือนสูงๆ ที่จะเอาไปโอ้อวดกับคนอื่น ไม่อาจไปโม้กับเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องว่าได้เลื่อนขั้นหรือได้เพิ่มเงินเดือน ไม่มีความแน่นอนเรื่องเงินเดือนรายได้ ต้องคิดว่าโครงการหมดแล้วจะหาเงินจากไหน แต่สิ่งนี้คือ จุดแข็งที่ทำให้เรามีจิตวิญญาณเสรีได้ สิ่งหนึ่งที่เราจะได้จากวิชาชีพนี้คือ เกียรติยศ การเคารพตัวเองของเรา และจะได้รับการเคารพจากทุกหมู่เหล่า เราจะเป็นมนุษย์ที่สมศักดิ์ศรี จะไม่ก้มลงกราบเท้าใครเพราะเขามีตังค์มากกว่า จะได้พี่น้องที่แท้จริงจากอาชีพนี้” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายวิโชคศักดิ์ เป็นผู้ทำประเป็นฐานทรัพยากรโดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน เป็นแกนนำสมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
ในช่วงท้าย กป.อพช.ใต้ ได้อ่านคำประกาศสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ “หยุดกฎหมายอภิสิทธิ์ชน ยับยั้งภัยคุกคามภาคใต้ สร้างสรรค์รูปธรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยระบุว่า จากการประมวลสถานการณ์สังคมการเมือง และสิ่งแวดล้อมในเวทีสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. 2566 มีบทสรุปที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอและแลกเปลี่ยนจากองค์กรสมาชิกและภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุม อันหมายถึงข้อห่วงกังวลที่เกิดขึ้นจากแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และรูปธรรมการดำเนินงานของพวกเราที่เชื่อว่าจะเป็นทางรอดให้กับสังคมภาคใต้ ที่พอจะนำเสนอได้เบื้องต้น ดังนี้
- ภัยคุกคาม ที่จะเกิดขึ้นจากแนวคิดการพัฒนาภายใต้นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในพื้นที่ภาคใต้ อย่างเช่น การผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ ร่าง พ.ร.บ. SEC ,โครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร , การแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 , นโยบายการให้สัมปทานเหมืองแร่ , นโยบายคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชายเลนและป่าบก , นโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ , นโยบายด้านพลังงาน ที่รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวนมาก ,โครงการสร้างเขื่อนในหลายพื้นที่ของภาคใต้ เป็นต้น
- รูปธรรมการดำเนินงานที่เชื่อว่าจะเป็นทางรอดในภาคใต้ เราพบว่า แนวทางในการจัดการทรัพยากรที่ชุมชนมีส่วนร่วมกับภาคีพัฒนาต่างๆ ในท้องถิ่น ที่มีการดำเนินการในหลายพื้นที่และหลายมิติ อย่างเช่นการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การจัดการป่าไม้ที่ดิน การจัดการน้ำ ซึ่งรวมถึงการจัดการผลผลิตด้านการประมง การเกษตรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค และหมายรวมถึงการสร้างกระบวนการในการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ท้องที่ท้องถิ่น ภาคเอกชน วิชาการ และประชาสังคมได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนรูปธรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม การเมืองภาคพลเมือง การศึกษา เศรษฐกิจชุมชนที่สร้างสรรค์ อันเป็นการพัฒนาบนฐานศักยภาพของภาคใต้ที่มีอยู่อย่างครบครัน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าแนวทางเหล่านี้จะนำพาประชาชนภาคใต้ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้จริง
โอกาสนี้ พวกเราขอประกาศว่าจะผนึกกำลังร่วมกัน เพื่อหยุดยั้งภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้อย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการยับยั้ง ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเฉพาะกลุ่ม เสมือนเป็นการสร้างทางด่วนพิเศษให้กับอภิสิทธิ์ชน แย่งยึดฐานทรัพยากรของพวกเราได้อย่างชอบธรรม บนความฉ้อฉลของระบบการเมืองที่เลือกปฏิบัติ กฏหมายฉบับนี้จะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง กลุ่มทุนและชนชั้นนำ ใช้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร ที่รัฐบาลกำลังผลักดันและตระเวนเดินสายขายโครงการอยู่ในเวลานี้
และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ รัฐบาลกำลังสร้างมาตรฐานทางการปกครองแบบใหม่ ในลักษณะของ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่เป็นการสถาปนาอำนาจพิเศษให้กับฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุนอย่างชัดเจนภายใต้กฏหมายฉบับนี้ ซึ่งพวกท่านเรียกว่า “คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สามารถสร้างกฏหมายใหม่ เพื่อให้เอื้อประโยชน์กับนักลงทุนได้ง่ายขึ้น ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะเริ่มต้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และยังสามารถประกาศขยายเขตนี้เพิ่มเติมได้อีกอย่างไร้ข้อจำกัด และยังไม่นับรวมถึงการให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนทั้งด้านภาษี การใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ ด้านแรงงาน ด้านการเงิน และอื่นๆ อีกหลายกรณี ซึ่งจากสิทธิดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การละเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่แล้วเกือบ 20 ฉบับ
ทั้งหมดนี้ จึงมีเหตุผลเพียงพอที่พวกเราจะยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ ไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ และในพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศไทย บนหลักการที่ว่า “ประเทศไทยมีสิทธิในการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน” ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือนักการเมืองและนักธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญของพวกเราที่จะขับเคลื่อนและจะสร้างการร้อยรวมพลังประชาชนทุกภาคส่วนให้ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกันนี้พวกเรายังพร้อมที่จะประสานกับเพื่อนต่างภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก ตะวันออก และภาคกลาง เพื่อจะสร้างปฏิบัติการเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด
พวกเรายังยืนยันว่า ศักยภาพของภาคใต้ ทั้งด้านทรัพยากร สังคมวัฒนธรรม ฐานเศรษฐกิจ และความตื่นรู้ของภาคพลเมือง ถือเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการพัฒนาที่นำต้นทุนศักยภาพของพื้นที่ที่มีอยู่มาเป็นฐานและการให้อำนาจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มาจากประชาชนในพื้นที่ มิใช่ให้อำนาจส่วนกลางกำหนดโครงการพัฒนา โครงสร้างอำนาจที่มาครอบอำนาจท้องถิ่น ออกกฎหมายพิเศษมาเป็นส่วนขยายอำนาจของส่วนกลางเพื่อเอื้อต่อกลุ่มทุนและละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ของคนในพื้นที่ รัฐบาลต้องทำความเข้าใจและความชาญฉลาดในการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนอย่างแท้จริง และเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างความสุขของทุกฝ่าย ไม่ใช่เพื่อเอื้อประโยชน์กับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น
สิทธิในการพัฒนาต้องเป็นสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง เราไม่ยอมรับการพัฒนาที่คิดจากส่วนกลางโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมเช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันเป็นต้นทางของกฎหมายพิเศษอย่างเช่นกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ เราจะร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากร สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน สิทธิในการพัฒนาของคนในพื้นที่ เราจะหยุดกฎหมายอภิสิทธิ์ชน ยับยั้งภัยคุกคามภาคใต้ สร้างสรรค์รูปธรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน และจะร่วมเรียนรู้กับภาคประชาชนอื่นๆ ในกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้สิทธิเหล่านี้ถูกรับรองอย่างชัดเจนมากขึ้น