สงขลา – สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ คัดค้านและต่อต้านสายการบินนกแอร์เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ปฏิเสธตั๋วเดินทางอ้างเงื่อนไขการจำกัดคนตาบอดต่อเที่ยวบิน เรียกร้องสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเคร่งครัดในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการให้บริการของทุกสายการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากพบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้โดยสารตาบอด
แถลงการณ์สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย คัดค้านและต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการในทุกรูปแบบอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถ่ายทอดโดยคนตาบอดที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากสายการบินหนึ่ง ที่นักบินและพนักงานของสายการบินปฏิเสธตั๋วเดินทางเหตุเพราะเงื่อนไขการจำกัดคนตาบอดต่อเที่ยวบิน เรื่องนี้สะท้อนสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ เหตุใด? “สยามเมืองยิ้ม” ที่ทั่วโลกชื่นชม กลับยังมีการกระทำที่น่าละอายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองเพียงแค่ความบกพร่องทางร่างกายเช่นนี้
” เมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายน 2566 ผมนายศิลปชัย วัชรชวกุล กำลังจะเดินทางไป หาดใหญ่ จ. สงขลา เพื่อไปร่วมงานสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติครั้งที่ 26 ณ โรงแรม หรรษา เจบี โดยได้จองตั๋วเดินทางไปกับสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD508 เส้นทาง ดอนเมือง – หาดใหญ่ เวลา 19.00 น. – 20.25 น. (เครื่องดีเลย์)
แต่เมื่อไปเช็คอินที่เคาน์เตอร์ของสายการบินนกแอร์กลับถูกพนักงานปฏิเสธการเดินทาง โดยให้เหตุผลว่า ในเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้โดยสารตาบอดครบ 8 คนแล้ว ซึ่งผมเป็นคนที่ 9 เกินจากเงื่อนไขในการจำกัดผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษของสายการบินนกแอร์ หลังจากที่ตัวผมเอง และกลุ่มเพื่อนตาบอดที่จะเดินทางไปในสายการบินนี้ด้วยกัน ได้เจรจาต่อรองกันอยู่เป็นเวลานาน พนักงานที่หน้าเคาน์เตอร์ แจ้งว่าจะขออนุญาตนักบินก่อน ซึ่งก็ถูกปฏิเสธจากนักบินอีกเช่นเคย
ต่อมาผมก็ได้รับทางเลือกจากพนักงานว่า ถ้าไม่เดินทางต่อจะสามารถรีฟันด์ตั๋วเครื่องบินได้เต็มจำนวน ยื่นเรื่องและรอรับเงินอีก 1-2 เดือน แต่ถ้าจะเปลี่ยนตั๋วเป็นเที่ยวบินอื่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ปัญหาผมคือ ผมในฐานะนายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นผู้แทนของคนตาบอดทั้งจังหวัดสระแก้ว มีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติ ครั้งที่ 26 ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 23 – 26 เมษายนนี้ การคืนตั๋วจึงไม่ใช่ตัวเลือกของผม ซึ่งผมได้ถามต่อไปว่าถ้าผมขอเปลี่ยนเที่ยวบินไปเดินทางวันพรุ่งนี้ ผมจะยังได้สิทธิขึ้นเครื่องเป็น 1 ใน 8 ของคนตาบอดในเที่ยวบินดังกล่าวหรือไม่ และผมก็ไม่ได้รับคำยืนยันที่จะเป็นหลักประกันว่าผมจะได้เดินทางไปกับสายการบินนกแอร์แน่นอน นอกจากว่าให้ผมรีบมาเช็คอินเร็ว ๆ ???? สำนักข่าวโฟกัส/ขอบคุณข่าว เพจเฟซบุ๊ก สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
ด้วยภาระหน้าที่ที่มีต่อคนตาบอดจังหวัดสระแก้ว ผมเลือกการเดินทางที่ลำบากแต่มั่นใจว่าจะมีโอกาสไปได้ทันเวลาแน่นอนคือ เปลี่ยนเที่ยวบินไปลงที่สนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช และเนื่องจากเป็นเวลาที่ดึกมากแล้วและไม่มีรถให้ผมได้โดยสารไปยังจุดหมายที่ต้องการ จึงจำเป็นต้องนอนพักค้าง 1 คืนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และนั่งรถตู้ไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในเช้าวันถัดมา รวมแล้วผมต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาทั้งค่าที่พัก ค่ารถโดยสารรวม 810 บาท และยังเสียเวลาอีกเกือบ 1 วันกับการเดินทางที่ยากกว่าเดิม ซึ่งบอกได้เลยว่าลำบากกว่าคนตาดีมาก เพราะผมเป็นคนตาบอดที่ต้องเดินทางคนเดียว …. คำถามที่เกิดขึ้นในหัวผมมาจนวันนี้คือ
1. ผมได้จองตั๋วเครื่องบินมาตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านเว็บไซต์ Traveloka พร้อมกับได้โทรไปแจ้งโดยตรงกับสายการบินว่าผมเป็นผู้โดยสารตาบอดที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งพนักงานผู้รับสายก็รับทราบ แต่พอถึงเวลาแล้วผมกลับเป็นผู้ถูกปฏิเสธโดยไม่เป็นธรรม ถ้าผมคือคนที่เกินทำไมไม่แจ้งผมตั้งแต่ขั้นตอนการจองนั้น หรือว่าความจริงแล้วสายการบินนกแอร์ไม่มีระบบการบันทึกและตรวจสอบตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าคนตาบอดอยากเดินทางไปจะต้องรีบมาเช็คอินให้เร็วกว่าคนอื่น มาแย่งที่นั่งกันที่หน้าเคาน์เตอร์ใช่หรือไม่
2. ในกรณีเช่นนี้ ผิดที่ผมเป็นคนตาบอดใช่หรือไม่จึงถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ไม่มีการเยียวยาหรือความช่วยเหลือใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ ผมคือผู้เสียหาย
3. เท่าที่ผมทราบมา สายการบินนกแอร์ เส้นทาง หาดใหญ่ – ดอนเมือง วันที่ 26 เมษายน 2566 เพื่อนคนตาบอดที่มาร่วมงานประชุมเช่นเดียวกับผม สามารถเดินทางกลับโดยสายการบินนกแอร์ได้ ทั้ง ๆ ที่ มีผู้โดยสารตาบอดเกินกว่า 8 คน มาตรฐานการบริการของสายการบินคุณอยู่ตรงไหน นี่เป็นข้อกำหนดสากลจริง ๆ หรือไม่ หรือว่าเป็นเลือกปฏิบัติเฉพาะบุคคล ต่อไปผมคงต้องเลือกเดินทางกับนักบินและพนักงานที่เป็นมิตรกับคนตาบอดเท่านั้นหรือ
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ รับรองว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีเอกสารและพยานรู้เห็นโดยตลอด โดยเจตนาแล้วผมต้องการให้เรื่องนี้เป็นสื่อสะท้อนสังคมว่า สยามเมืองยิ้ม ที่ทั่วโลกชื่นชม กลับยังมีการกระทำที่น่ารังเกียจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองเพียงแค่เพราะผมและเพื่อนของผมเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จึงถูกบางคนหรือบางองค์กรเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ และเป็นอุทาหรณ์เตือนใจเพื่อนคนตาบอดทุกคนว่าควรเตรียมแผนการรองรับกับเหตุการณ์เช่นนี้ไว้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง เพราะคุณอาจไม่โชคดีที่ต้องผจญภัยลำพังในต่างถิ่นยามค่ำคืน และสามารถมาถึงที่หมายได้โดยปลอดภัย”
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติจากบริษัทสายการบิน ได้ถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในเรื่องพิจารณาที่สำคัญ ในงานสมัชชาคนตาบอดแห่งชาติครั้งที่ 26 ณ โรงแรมหรรษา เจบี อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยอ้างถึงสิทธิในการเดินทางที่จัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 38 กล่าวคือ “#บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่” สรุปเป็นมติให้สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. ดำเนินการสร้างเจตคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิการเดินทางโดยอิสระของคนตาบอด ต่อหน่วยงานภาครัฐและบริษัทสายการบินที่ให้บริการในประเทศไทย
2.ดำเนินการพิทักษ์สิทธิของคนตาบอด โดยร่วมมือกับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อใช้กลไกทางกฎหมายเอาผิดกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล และละเว้นหน้าที่ไม่คุ้มครองสิทธิของคนตาบอดตามที่กฎหมายกำหนด และดำเนินการในฐานละเมิดต่อบริษัทผู้ให้บริการสายการบินและเพื่อให้เป็นไปตามมติดังกล่าว
ในนามของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องผลักดันให้
1. ทุกสายการบินต้องขจัดการกระทำหรือนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้โดยสารตาบอด อันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเด็ดขาด
2. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยต้องเคร่งครัดในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการให้บริการของทุกสายการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากพบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้โดยสารตาบอด จะต้องดำเนินการสอบสวนและนำผลไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตหรือการอนุญาตให้บริการ จนกว่าจะมีมาตรการในการปรับปรุง
3. กระทรวงคมนาคมควรทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศยานของผู้โดยสารพิการให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) โดยเฉพาะประเด็นการปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารที่เป็นคนพิการและการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่เป็นคนพิการต่อเที่ยวบิน
สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกบริษัทสายการบิน จะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ไม่เพิกเฉย และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้คนตาบอดไม่ถูกจำกัดสิทธิ และมีเสรีภาพในการเดินทางเท่าเทียมกับคนสายตาปกติ โดยสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกบริษัทสายการบิน ในการให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างเจตคติที่ดีต่อคนตาบอดกับผู้บริหาร พนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป
และหากยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะใช้ทุกวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนตาบอด ซึ่งรวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติและการสร้างหลักประกันความเสมอภาคในการเข้าถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology : AT) สำหรับคนตาบอดต่อไป
ขอบคุณนายศิลปชัย วัชรชวกุล นายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดสระแก้ว ที่ให้ความร่วมมือในการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิทักษ์สิทธิของคนตาบอดทั่วประเทศ นายเอกกมล แพทยานันท์ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย 2 พฤษภาคม 2566
#ข่าวสารองค์กร