“ข้อมูล” ปัญหา “ปลากะพง” ของศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมง เขต 8 (สงขลา) กับประธาน “กลุ่มองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นบ้านโคกไร่” ต่างกัน การตรวจเข้มสารตกค้างปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซีย ช่วยลดผลกระทบเกษตรกรในพื้นที่
นายธีระพงษ์ อภัยภักดี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 8 (สงขลา) เผยมาตรการตรวจสอบการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียว่า ปริมาณเฉลี่ยทั้งปี วันละ 20,000 กิโลกรัม และสูงสุดไม่เกินวันละ 40,000 กิโลกรัม
ซึ่งเป็นปลากะพงแช่น้ำแข็ง โดยปลายทางของการนำเข้ามากระจายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เช่น ภูเก็ต ปัตตานี สงขลานครศรีธรรมราช ในตลาดหัวอิฐ “กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ขายในภาคใต้ ส่วนตลาดที่ไกล ๆ ก็มีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย” โดยราคาปลากะพงนำเข้ามาจากมาเลเซียต่ำกว่าราคาปลากะพงในพื้นที่ประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม แต่ที่เป็นจุดขายและทำให้ต้องนำเข้ามา คือ ปลากะพงมาเลเซีย จะมีทุกขนาดให้เลือก “ต่างกับปลากะพงในพื้นที่ จะซื้อจากกระชังเกษตรกร ถ้าน้ำหนักตัวละ 7 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม เขายังไม่ขาย แต่มาเลเซียขายทุกขนาด โดยขนาดที่นำเข้ามามากที่สุดคือตัวละ 7 กรัม ซึ่งบ้านเราไม่ขาย”
ฉะนั้น ตลาดคนละกลุ่ม ปลากะพงบ้านเราที่ขายตัวละ 2-3 กิโลกรัม แต่ปลากะพงที่นำเข้ามาเกือบทั้งหมดขนาดน้ำหนัก 7 กรัม- 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ จุดขายของปลากะพงมาเลเซีย คือ เขาพร้อมที่จะจับขายได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะสั่งในปริมาณน้อย เนื่องจากสถานที่เลี้ยงอยู่ห่างจากชายแดนไทย (ด่านฯสะเดา) จังหวัดสงขลา ประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นแรงจูงใจที่ทำให้มีการนำเข้ามา “การนำเข้าปลากะพงผ่านด่านศุลกากรสะเดามากว่า 5 ปี เฉลี่ย 20,000 กิโลกรัมต่อวัน มากบ้าง น้อยบ้างในแต่ละเดือน” นายธีระพงษ์ กล่าว และว่า ที่ว่าลักลอบนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซียนั้นอยากจะทำความเข้าใจว่า ให้มั่นใจได้ 100% ว่าไม่มี การลักลอบนำเข้าอย่างแน่นอน เพราะปลากะพงภาษีเป็น 0 หมายความว่า การนำเข้าปลากะพงไม่ว่าจะกี่ตัว ก็ไม่ต้องจ่ายภาษี
สมมุติว่า นำเข้ามา 100 กิโลกรัม เขาจ่ายใบขนให้ศุลกากรสมมุติว่า 1,000 บาท เขาจะนำเข้ามา 10 ตัน ก็จ่ายในบนให้ศุลกากร 1,000 บาทเท่ากัน เขาจะนำเข้ามาเท่าไหร่ก็จ่ายใบขน 1,000 บาท ฉะนั้น แรงจูงใจที่จะลักลอบนำเข้าปลากะพงไม่มีอย่างแน่นอน “ถ้าสำแดงมาว่าเป็นปลากะพง ไม่ต้องจ่ายสักบาทเลย อันนี้ต้องทำความเข้าใจตรงกันในเรื่องภาษี จึงมั่นใจว่าการลักลอบนำเข้าไม่มี 100% เนื่องจากส่วนต่างราคาและไม่จ่ายภาษี และที่สำคัญเราก็อนุญาตให้นำเข้าได้ด้วย”
ประเด็นที่สอง ปลากะพงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ ถ้าเป็นปลาชนิดอื่นที่มีมูลค่าสูงอาจจะลักลอบนำเข้าได้ เพราะว่า 1 ตัว มูลค่า 50,000 บาท หรือ 1 ตัว 30,000 บาท หรือใส่ลัง ใส่กระเป๋าเข้ามาได้ แต่ปลากะพงถ้าลักลอบแบก 1 ลัง ใส่น้ำแข็งแล้วนำไปซุกซ่อนก็จะเน่า เพราะแช่เย็น ไม่ใช่แช่แข็ง
ฉะนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำได้ขณะนี้สำหรับการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซียคือ การตรวจโรค การสุ่มตรวจสารตกค้างมีเข้ามากยิ่งขึ้น โดยสุ่มตรวจ 20% ของปริมาณนำเข้า คือนำเข้า 100 ตัว ตรวจ 20 ตัว “เมื่อก่อนเราตรวจ 10% ของปริมาณการนำเข้า แต่ตอนนี้ปรับเป็น 20% ถ้าพบสารตกค้าง ก็จะระงับการนำเข้ารายนั้น หรือถ้าเขานำเข้ามาหลังจากนั้นเราก็จะอายัดไว้ก่อน จนกว่าผลการตรวจจะออกมา” ถ้าผลการตรวจออกมาแล้วมีสารตกค้างก็จะทำลาย ถ้าไม่พบสารตกค้าง จึงจะนำไปจำหน่ายได้ ซึ่งเป็นมาตรการสากลทั่วไป ตอนนี้ที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้ในการตรวจสอบการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซีย
ที่ผ่านมา เคยวิเคราะห์กันหลายรอบว่า การนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซียจะมีผลกระทบต่อราคาและการจำหน่ายปลากะพงในพื้นที่หรือไม่อย่างไร ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาปลากะพงในพื้นที่มีราคาตกต่ำ
“ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เกิน 50% ที่ว่าการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซียมีผลกระทบต่อราคาและการจำหน่ายปลากะพงในพื้นที่ เพราะว่าตลาดของปลานำเข้ากับปลากะพงในพื้นที่ ตลาดเป็นคนละกลุ่มกัน ที่กำหนดจากขนาดน้ำหนักของปลากะพง”
ประเด็นต่อมา คือปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซีย เป็นปลากะพงที่เลี้ยงด้วยการนำเข้าลูกปลากะพงที่ส่งออกไปจากประเทศไทย นั่นคือลูกปลากะพงที่ส่งไปจากแปดริ้ว ฉะนั้น หากเราลดการนำเข้าปลากะพงจากมาเลเซีย ก็จะกระทบการส่งออกลูกปลากะพง ลดลงเช่นกัน
“มาเลเซียนำเขาเข้าลูกปลากะพงจากแปดริ้ว แล้วนำไปเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ประมาณ 4-6 เดือนหรือ1 ปีก่อนที่จะนำกลับมาขายในบ้านเรา ซึ่งกลุ่มค้าที่ซื้อปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซีย เช่น กลุ่มลูกค้างานแต่ง เนื่องจากไม่เน้นที่รสชาติ เน้นปริมาณ เน้นราคาถูกไว้ก่อน น้ำหนัก 7 กรัมต่อตัว”
ส่วนที่ว่า ปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซียราคาถูกกว่า ปลากะพงในพื้นที่ เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงปลากะพงในมาเลเซียต่ำกว่าบ้านเรา เนื่องจากมีการเลี้ยงเป็นระบบฟาร์มปิดขนาดใหญ่ และที่สำคัญผู้นำเข้าปลากะพงจากมาเลเซียมีกำไรแค่กิโลกรัมละ 1 บาท เขาก็เอา ปริมาณมากๆ เขาก็ส่งมาถึงชายแดนภายในเวลา 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น
ขณะที่ นายอภินันต์ อภิชาโต ประธานกลุ่มองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นบ้านโคกไร่ อ.เมืองสงขลา กล่าวว่า การที่พ่อค้า แม่ค้า นำเข้าปลากะพง จากมาเลเซียมาขายส่งผลกระทบต่อราคาและการจำหน่ายปลากะพงในพื้นที่ เนื่องจากราคาปลากะพงจากมาเลเซีย ถูกกว่าปลากะพงในบ้านเรา
โดยราคาปลากะพงนำเข้ามาที่พ่อค้า แม่ค้า นำมาขายจะถูกกว่าปลากะพงบ้านเรา 10-20 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนบริโภคปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซีย ที่นำมาขายปะปนกับปลากะพงในพื้นที่ตามตลาดสด และตลาดนัดทั่วไป
ทั้งยังพบว่า พ่อค้า แม่ค้าบางรายนำปลากะพงจากมาเลเซียมาขายอ้างกับลูกค้าว่า เป็นปลากะพงบ้านเรา “ปลากะพงเกาะยอ” ซึ่งลูกค้าก็ไม่ทราบว่าเป็นปลากะพงนำเข้ามาจากมาเลเซีย แต่เมื่อนำไปประกอบอาหารจะพบว่า รสชาติต่างกัน ปลากะพงบ้านเราอร่อยกว่า ไม่มีกลิ่นโคลน ดินจากบ่อ “ลูกค้าหลายรายที่มาซื้อปลากะพงผมที่กระชังบอกว่าปลากะพงมีกลิ่นโคลนดิน ผมเลยบอกว่าให้ลองซื้อไปกินดู ยืนยันว่าไม่มีกลิ่นโคลนดินเนื่องจากเลี้ยงในกระชังในทะเล ถ้ามีกลิ่นโคลนดินก็เป็นปลากะพงมาเลย์ ที่เขาเลี้ยงในบ่อดิน บ่อปิด ทำให้มีกลิ่นโคลนดิน” นายอภินันท์ กล่าว และว่า
ราคาปลากะพงที่นำมาเข้าจากมาเลเซียที่พ่อค้า แม่ค้า นำมาขายตามตลาดสด ตลาดนัดทั่วไปปัจจุบัน ขนาด 1 กิโลกรัม ราคา 100-110 บาท ขณะที่ ราคาปลากะพงบ้านเรา ขนาด 1-3 กิโลกรัม 140-150 บาท และขนาด 3 กิโลกรัมต่อตัวขึ้นไป 170 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาขายหน้ากระชัง
“ปลากะพงนำเข้ามีเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาเนื่องจากได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ทำผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ด้วยราคาที่ถูกกว่า และลูกค้าไม่ทราบว่าเป็นปลากะพงมาเลย์” นายอภินันท์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันราคาปลากะพงในพื้นที่ตกต่ำจากเดิม ขนาด 1-3 กิโลกรัมต่อตัว ราคาประมาณ 150-170 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้เหลือ 150 บาทต่อกิโลกรัม และขนาด 3 กิโลกรัมต่อตัวขึ้นไป ราคา 190-200 บาทต่อกิโลกรัม แต่ตอนนี้ ลดลงเหลือ 170 บาทต่อกิโลกรัม
สาเหตุที่ราคาปลากะพงในพื้นที่ลดลง ส่วนหนึ่งปลาที่นำเข้ามาแย่งตลาด และมีการเลี้ยงปลากะพง เพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ ในหลายจังหวัด ทำให้ปริมาณที่ออกสู่ตลาดมีมากขึ้น เกิดการแข่งขันทางด้านราคาตามมา ขณะที่เกษตรกรต้องจับปลาเมื่อโตได้ขนาด “ปลากะพงเมื่อโตได้ตามขนาดต้องจับขาย เพราะหากไม่จับขาย ก็หมายถึงการกินอาหารของปลาก็เพิ่มขึ้น ต้นทุนของเกษตรกรก็เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องจับขาย เมื่อจับขายพร้อมกันก็แข่งขันราคากัน”
อย่างไรก็ตาม ราคาปัจจุบัน เกษตรกรยังพออยู่ได้ สำหรับปลากะพงเกาะยอ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทำให้ลูกค้าหลัก เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ยังเลือกซื้อปลากะพงทะเลสาบสงขลา ที่ได้รับความนิยมด้วยรสชาติที่ดีกว่าปลากะพงนำเข้า