Home » ข่าว » โรงไฟฟ้าขยะสะเดาพร้อม “นายกแบงค์”เผยเงื่อนไข-รอมท.1อนุมัติ

โรงไฟฟ้าขยะสะเดาพร้อม “นายกแบงค์”เผยเงื่อนไข-รอมท.1อนุมัติ

“นายกแบงค์”เผยรอมท.1 เซ็นต์อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าขยะสะเดาขนาด 8.8 เมกะวัตต์ หลังผ่านทุกกระบวนการ โดยระบุ TOR ให้ผู้ลงทุนรื้อบ่อขยะ
ท้องถิ่นใกล้เคียง และเพิ่มบ่อที่ 3 รับปริมาณขยะ 80 ตันต่อวัน ร

นายวัชชพล ปริสุทธิ์กุล นายกเทศมนตรีเมืองสะเดา หรือ “นายกแบงค์” เผยความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาด 8 เมกะวัตต์ว่า เพิ่งผ่านการประชุมคณะกรรมการกลางของกระทรวงมหาดไทย

“ตอนนี้รอท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) เซ็นต์อนุมัตืให้เทศบาลเมืองสะเดา ว่าสามารถที่จะทำโรงไฟฟ้าจากขยะได้”

หลังจากที่ได้ผ่านการกระบวนการของคณะกรรมการปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดสงขลา เพื่อจะช่วยตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ว่า พื้นที่อ.สะเดา มีศักยภาพพอที่จะทำโรงไฟฟ้าขยะได้หรือไม่

จากนั้น ก็ส่งไปยังคณะกรรมการกลางระดับกระทรวง เพื่อช่วยพิจารณาดูความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว “โดยหลักการน่าจะก่อนการเลือกตั้ง เพราะว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) ที่มีอำนาจอยู่แล้วในการที่จะเซ็นต์”

โรงไฟฟ้าจากขยะอำเภอสะเดาเป็นโครงการที่เทศบาลเมืองสะเดาเห็นว่า บ่อขยะที่เทศบาลตอนนี้เต็มแล้ว เพราะใช้วิธีการฝังกลบมานาน วิธีการที่จะแก้ปัญหาการฝังกลบ ซึ่งได้ศึกษามาหลายแบบ ทั้ง RDF (Refuse Derived Fuel) ทั้งการทำโรงงานรีไซเคิลต่าง ๆ ซึ่งไม่สมบูรณ์ในการแก้ปัญหา

“ผมไปดูโรงงานไฟฟ้าตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เมื่อเกือบ 10 ปี ไปดูงานโรงไฟฟ้าขยะที่ญี่ปุ่น เห็นว่าดีมาก”พอมาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองสะเดาโรงไฟฟ้าขยะเป็นวิธีการที่ดีในการแก้ปัญหาขยะ และได้มีโอกาสไปดูโรงไฟฟ้าขยะที่จ.กระบี่ เป็นโรงงานที่สะอาดเหมือนที่ญี่ปุ่น จึงเริ่มดำเนินการมาโดยที่เทศบาลเป็นผู้เขียนโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ใครที่สนใจก็มายื่นซองประมูลกัน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ทำโรงไฟฟ้าจากขยะอยู่ หลังจากนี้ จะต้องเขียนขอบเขตงานและรายละเอียด (TOR) ว่าโรงไฟฟ้าขยะในสะเดาจะเป็นอย่างไร รวมถึงกองทุนโรงไฟฟ้าที่จะเกิดให้กับชุมชนรอบ ๆ โรงไฟฟ้า

“หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเซ็นต์อนุมัติโครงการ เทศบาลเมืองสะเดาก็จะมาเขียนขอบเขตงานและรายละเอียด TOR ต่อไป”

ขยะที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในอ.สะเดา มาจากหลายพื้นที่ ๆ สามารถมาส่งได้ เพราะการที่จะมาส่งจากที่ไกลมากๆ ก็เป็นไปไม่ได้ในเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง ฉะนั้น ขยะที่จะมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าก็น่าจะมาจากพื้นที่ใกล้เคียงที่ระยะทางไม่ไกลมาก โดยปริมาณขยะในขณะนี้ของเทศบาลเมืองสะเดาประมาณ 80 ตันต่อวัน

การดำเนินการบ่อขยะของเทศบาลเมืองสะเดาในขณะนี้มีท้องถิ่นข้างเคียงนำขยะมาทิ้งประมาณ 80 ตันต่อวัน รวมโรงงานอุตาสาหรรม “ปัจจุบันเราใช้วิธีการฝังกลบ ใช้เครื่องจักรของเทศบาลเกลี่ยและบดอัด และช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาก็นำรถดับเพลิงไปจอดเตรียมเพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้บ่อขยะ”

ปัจจุบันปริมาณขยะของเทศบาลเมืองสะเดามี 2 บ่อ ซึ่งเต็มแล้วในขณะนี้ และตอนนี้ก็ได้หางบประมาณสำหรับทำบ่อขยะบ่อที่ 3 ที่จะเริ่มดำเนินงานในปี 2567 จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี (พ.ศ.2567-68) เมื่อบ่อขยะบ่อที่ 3 สามารถเปิดใช้งานได้ ก็จะช่วยบรรเทาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวันที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จะได้มีบ่อขยะบ่อที่ 3 บรรเทาไปก่อน

“ผมคาดการณ์ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขยะสะเดาแล้วเสร็จน่าจะภายในปี พ.ศ. 2570 ดูจากโรงไฟฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาที่ใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีกว่าจะเริ่มก่อสร้าง”

สำหรับปริมาณขยะตกค้างเทศบาลเมืองสะเดามีประมาณ 600,000-700,000 ตัน เนื่องจากทำมา 20 ปี ที่อยู่ในบ่อของเทศบาลเมืองสะเดาอย่างเดียว

สำหรับการกำหนดขอบเขตงานและรายละเอียด (TOR) ที่เทศบาลเมืองสะเดากำหนดไว้คือ จะต้องรื้อบ่อขยะของเทศบาลใกล้เคียงด้วย เช่น เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ รวมถึงอีกหลาย ๆ ที่มีการทิ้งในบ่อลูกรังเก่า เนื่องจากไม่มีที่ทิ้ง ก็จะระบุว่าผู้ลงทุนจะต้องไปรื้อให้ด้วย

“เพราะ ฉะนั้น ถ้าโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นแล้ว ไม่เฉพาะสะเดาเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ ข้างเคียงเราก็ได้ประโยชน์ เพราะเราจะกึ่งบังคับให้ผู้ลงทุนต้องไปรื้อให้ด้วย พอรื้อเสร็จท้องถิ่นก็สามารถใช้พื้นที่ตรงนั้นปรับเป็นสวนสาธารณะ ทำสนามกีฬา หรืออะไรก็ได้” นายวัชชพล กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *