นางสาวจุฑา สังขชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา เผยว่า หน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา ดำเนินงาน
ด้านการคุ้มครองเพื่อแก้ไขปัญหาผู้บริโภค 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม
จากการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียนในปีที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2566 พบปัญหาของผู้บริโภคจังหวัดสงขลา 379 เรื่อง โดยปัญหาที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 127 กรณี พบปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ก
แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า สินค้าปลอม ปัญหาจากการใช้งานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาจากการใช้ซื้อคอร์สเสริมความงามแล้วไม่สามารถขอยกเลิกบริการได้ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิิ่มมากขึ้น
อันดับที่ 2 ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 110 กรณี พบปัญหาแก็งค์คอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์สร้างความรบกวน แอบอ้างเป็นกรมที่ดิน หลอกให้เพิ่มเพื่อนในไลน์และกดลิงก์ดูดเงิน และอ้างเป็นแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดีย เช่น tiktok youtube
อันดับที่ 3 มีสองด้านคือ ด้านการเงินการธนาคาร 46 กรณี พบปัญหาจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น สินเชื่อกู้ยืม สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และกรณีที่ถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก
และ ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 46 กรณี พบปัญหาจากการถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้บริการในหน่วยบริการที่ไม่ตรงเขต การเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาล เช่น การทำฟันปลอม และกรณีได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
ส่วนด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านการขนส่งและยานพาหนะ 13 กรณี ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย
17 กรณี ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 16 กรณี และบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม 1 กรณี ด้านอื่นๆ 2 กรณี และด้านการศึกษา 1 กรณี พบมูลค่าความเสียหาย ด้านการเงินการธนาคาร แก่ผู้บริโภคมากที่สุด 9,235,140 บาท ด้านอสังหาริมทรัพย์/ที่อยู่อาศัย 6,960,000 บาท และด้านสินค้าและบริการทั่วไป 5,423,023 บาท
“เมื่อรวมความเสียหายจากทั้ง 8 ด้าน มีมูลค่ากว่า 22 ล้านบาท” นางสาวจุฑา กล่าว และว่า แต่ละปัญหามีหน่วยงานกำกับดูแล ประชาชนอาจไม่มีข้อมูลว่า แต่ละเรื่องต้องร้องเรียนหน่วยใด เช่น หากซื้อของจากแฟลตฟอร์มเฟสบุ๊ค มีการฉ้อโกง ก็อาจต้องร้องเรียนหน่วยงานนึง แต่หากเป็นแฟลตฟอร์ม Shoppe, Lazada ก็เป็นอีกหน่วยงาน หรือหน่วยงานเสริมความงามต่างๆ ก็จะมีรายละเอียดที่ต่างกัน ซึ่งโดยปกติก็จะมี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ดูแลในเบื้องต้น เช่น หากได้รับความเสียหายจากร้านเสริมสวย สามารถร้องเรียนที่สคบ.ได้ แต่หากเกิดความเสียหายโดยคลินิกเสริมความงาม ก็ต้องร้องเรียนที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
“นี่ก็เป็นข้อจำกัดของสคบ.ที่ภาครัฐไม่สามารถตั้งรับกับปัญหามานานแล้ว”
ปัจจุบัน ความซับซ้อนของปัญหามากขึ้นจากระบบออนไลน์ ซึ่งแม้ว่าจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมา แต่ก็ยังทำงานไม่เป็นเอกภาพ หรือมีความชัดเจน ของภารกิจที่ๆ ประชาชนจะใช้บริการ เช่น มีการตั้ง ETDA ขึ้นมา และอีกหลายๆ หน่วย
ซึ่งปัญหาที่ประชาชนได้รับมากที่สุดคือ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ โดยเรื่องนี้ แบค์ชาติน่าจะเป็นหน่วยงานต้นเรื่องที่สำคัญในการช่วยป้องกันปัญหา หรือแก้ปัญหาการ “ลักดูดเงิน” จากบัญชีของประชาชนให้ทันท่วงทีกว่าที่ผ่านมา
“ขณะนี้มิจฉาชีพสร้างแอปปลิเคชั่นใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมาก บางแอปฯก็เป็นข่าวมีผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนที่ถูกหลอกดูดเงินอยู่ และมีมากขึ้น หรือหากเรารู้ทันแก๊งค์พวกนี้ก็จะสร้างแอปฯใหม่ๆ ขึ้นมาอีก”
ดังนั้น ประชาชนต้องรู้เท่าทันมากขึ้น แต่กระนั้นคนทุกวัยหรือแม้แต่คนมีความรู้ก็ยังอาจตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน เพราะมิจฉาชีพพวกนี้จะมีความแนบเนียนมาก เช่น สร้างแอปที่คล้ายกับทางราชการที่ดูน่าเชื่อถือ ดังนั้น ต้องรอบคอบระมัดระวังในการทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์ ภาครัฐต้องรุกจัดระบบการจัดการอย่างเข้มข้นขึ้น
“ธนาคาร ก็ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยให้กับประชาชนเท่าที่ควร ซึ่งเราก็เรียกร้องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วว่า เมื่อประชาชนฝากเงินกับทางธนาคารให้ดูแลแล้ว หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ธนาคารก็ควรจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน” นางสาวจุฑา กล่าว