หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,320 วันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567
กรอ.สงขลา เห็นชอบข้อเสนอ กกร. ขอกท.ต่างประเทศหนุนการสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์นักลงทุน-นักท่องเที่ยว และต่างชาติรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ประกาศพื้นที่ความมั่นคงฯ 4 อำเภอ ภาคเอกชนเชื่อ “ปลดล็อค” ได้ การลงทุน-ท่องเที่ยว และดึงงานระดับนานาชาติเข้าพื้นที่มากขึ้น
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา 18 มกราคม 2567 สำนักงานจังหวัด ได้นำเสนอการประชาสัมพันธ์ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชการอาณาจักร ซึ่งรวมถึงพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
ประกอบด้วย อำเภอจะนะ, เทพา, นาทวี,สะบ้าย้อย จากที่ประชุมกรอ.เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 6/2566 วันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดสงขลา (กกร.) ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูล ให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยว และผู้เกี่ยวข้องในต่างประเทศได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตามประกาศ เรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชการอาณาจักร ลงวันที่ 27 กันยายน 2566 โดยในส่วนจังหวัดสงขลา ครอบคลุมเฉพาะ อำเภอจะนะ, เทพา, นาทวี และสะบ้าย้อยเท่านั้น
ส่วนพื้นที่อีก 12 อำเภอ เหตุการณ์ปกติ จังหวัด สงขลาขอแจ้งกต.ว่า การประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตามเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชการอาณาจักรดังกล่าว มีความสำคัญต่อการส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดสงขลา
ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความยินดีในการสนับสนุนและการอำนวยความสะดวกให้บรรลุเป้าหมายทุกประการโดยสำนักงานจังหวัดได้ทำหนังสือที่ สข.0017.2/270 วันที่ 5 มกราคม 2567 เรียน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง การขอรับการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชการอาณาจักร ซึ่งรวมถึงพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอจะนะ, เทพา, นาทวี และสะบ้าย้อย
นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เราพยายามที่จะกันพื้นที่อำเภอสะเดาออก เพื่อที่จะให้ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งไปประเทศต่าง ๆ ที่เขามีนักท่องเที่ยวเข้ามา ในพื้นที่ ว่า พื้นที่ ๆ ใช้กฎหมายความมั่นคงก็จำเป็นต้องใช้ แต่ว่าความมุ่งหมายก็เพื่อความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่
อำเภอสะเดาไม่ได้เกี่ยวข้องเลย เหมือนที่บางคนพยายามที่จะให้เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเรื่องเหล่านี้ต้องพยายามทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ กันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นมานาน
“ขนาดคนสงขลาที่ไปอยู่กรุงเทพฯ ก่อนนี้ให้ลงมาสงขลาไม่กล้ามา อย่าไปพูดว่าไป 4 อำเภอ หรือลงไปชายแดน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ลงมาสงขลายังไม่กล้ามา” ผู้ว่าฯ สงขลา กล่าว และว่า เนื่องจากรับรู้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ก็คงต้องใช้เวลาไปเปลี่ยนเรื่องการรับรู้ และยิ่งเป็นชาวต่างประเทศยิ่งไปกันใหญ่ จึงต้องอาศัยกระทรวงการต่างประเทศได้ช่วยทำความเข้าใจให้ ก็ต้องขอขอบคุณ
นายทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีสืบเนื่องจากที่หอการค้าสงขลาเคยนำเสนอผ่านเวที กรอ.จังหวัด ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว (2566)คือ หยิบยกประเด็นที่จังหวัดสงขลาถูกประกาศแล้วต่างชาติเข้าใจว่า ทั้งจังหวัด ทั้งที่อีก 12 อำเภอไม่ได้มีสถานการณ์แบบเดียวกัน แต่ถูกเหมารวมทั้งจังหวัด ซึ่งมีผลต่อการเดินทางของต่างชาติที่เขาเห็นประกาศในเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศของประเทศเขา ที่เตือนว่าเป็นพื้นที่ ๆ ต้องพิจารณาอีกครั้งถ้าจะเดินทางมา เป็นพื้นที่อันตราย
“ถ้าเป็นพื้นที่อันตรายก็เป็นน่ากังวลในการเข้ามา สร้างความไม่เชื่อมั่นในการที่จะเดินทางเข้ามายังพื้นที่ของเราอยู่แล้ว และมีผลต่อการพิจารณาการประกันภัยของนักเดินทางที่จะเดินทางมาในพื้นที่”
นายทรงพล กล่าวต่อว่า บริษัทประกันบางรายก็ไม่รับ มีผลต่อการเราจะผลักดันให้สงขลาเป็นไมซ์ซิตี้ เป็นแหล่งรวมงานอีเว้นท์ต่าง ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระดับสากล เพราะพื้นที่เราติดประกาศเตือนแบบนี้อยู่ จะมีต่างชาติคนไหนเอางานมาลงที่เรา
“มีผลกระทบกับงานอีเว้นท์ระดับนานาชาติ ก็เลยอยากให้ว่าอย่างน้อยประกาศให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 4 อำเภอเราได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานความมั่นคง เราเข้าใจว่าไม่ปลดหรือยกเลิกไม่ได้”
เนื่องจากยังมีพื้นที่ ๆ จำเป็นต้องดูแลเรื่องความมั่นคง เพื่อความปลอดภัยในเมือง เหมือนเป็นพื้นที่กันชนที่คอยป้องกันพื้นที่ ๆ เหลือไม่ให้เกิดเหตุเข้ามาในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ฉะนั้น หากเขาไม่มีอำนาจอะไร การที่จะเฝ้าระวังหรือดูแลความปลอดภัยเรื่องการท่องเที่ยวในจังหวัดก็ทำยาก หน่วยงานความมั่นคงให้เหตุผลมา เราก็เข้าใจดี “ถ้าอย่างนั้นเป็นไปได้มั๊ยให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงต่างประเทศให้เขาเข้าใจว่าพื้นที่ ๆ อันตราย ไม่ใช่สงขลาทั้งจังหวัด มีแค่ 4 อำเภอเท่านั้นและให้ระบุไปแค่นั้น ไม่ต้องพูดทั้งจังหวัดสงขลา”นี่คือสิ่งที่เราได้สะท้อนไป ซึ่งจังหวัดได้รับเรื่องนี้และส่งไปที่กต.แล้ว ในการประชุม กรอ.ครั้งล่าสุด
“ทางจังหวัดได้รายงานว่าได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงการต่างประเทศแล้ว หลังจากนี้ จังหวัดจะติดตาม ผมเสนอให้เขาขึ้นประกาศที่เว็บไซต์ให้ระบุแค่ 4 อำเภอ อย่าไประบุเป็นทั้งจังหวัดเลย”
“ถ้าต่างประเทศเข้าใจแล้ว ขอให้เขาช่วยปรับเปลี่ยนคำในเว็บไซต์เขาหน่อย ถ้าปลดล็อคตรงนี้ได้ก็จะเป็นผลดีกับจังหวัดสงขลา” นายทรงพล กล่าว
นายสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะตอนนี้ 4 อำเภอเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้ต่างประเทศเขาตีความเป็นสงขลาทั้งจังหวัด มีการประกาศบนหน้าเพจของประเทศต่าง ๆ ว่า การเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดสงขลาไม่สมควร โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ทำให้กระทบกับการท่องเที่ยว และการดึงงานระดับนานาชาติเข้ามาในพื้นที่ เคยเจอกับตัวเองที่เขา สอบถามประเด็นนี้ขึ้นมาว่าเป็นปัญหาที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ แม้คนที่รู้จักเขาจะเดินทางมา เขาบอกว่าประเทศเขาเตือนว่ามาไม่ได้ เขาไม่เข้าใจว่าพื้นที่สีแดงคือ 4 อำเภอ เขาตีความสงขลาทั้งจังหวัด“กระทรวงการต่างประเทศต้องไปชี้แจงพื้นที่ว่ามีความต่างกันอยู่ระหว่าง 4 อำเภอ กับอีก 12 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพราะการตีความจังหวัดสงขลาทั้งจังหวัดมีผลกระทบต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวในพื้นที่” นายสมพล กล่าว และว่า
ล่าสุด ได้เสนอที่ประชุม กรอ.ให้เชิญตัวแทน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันภัย เข้ามาอยู่ใน กรอ.ด้วย เนื่องจากในพื้นที่ สมาคมฯ ไม่รับประกันชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดสงขลา แต่ควรจะ
แยกระหว่าง 4 อำเภอพื้นที่สีแดงกับอีก 12 อำเภอ “12 อำเภอที่ไม่ใช่พื้นที่สีแดงคุณควรจะรับประกัน หากมีการประกันผู้ที่จะเดินทางเข้ามา เขาก็มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ที่จะเดินทางเข้ามาสงขลา”หากปลดล็อคตรงนี้ได้ ก็จะดึงงานระดับนานาชาติเข้ามาจังหวัดสงขลาได้ง่ายขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์งานท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็จะชัดเจนขึ้น