ป.ป.ช.สงขลา ลงพื้นที่ตรวจสอบ ลู่วิ่ง 10 ล้าน ราชภัฎสงขลา เหตุบิดพลิ้วเป็นลอนคลื่น ราชภัฎฯแจง เหตุน้ำขัง ช่วง โควิค เตรียมงบซ่อม 17 ล้าน
วันนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.00 น. นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริตลงพื้นที่ตรวจสอบลู่วิ่งสนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
หลังจากได้รับแจ้งจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center: CDC) ได้แจ้งเหตุอันควร สงสัยเกี่ยวกับการทุจริตว่า เพจ Facebook ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้มีการโพสข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.55 น. โดยมีรายละเอียดว่า ” ลู่วิ่งลานกรีฑา ราคา 10 ล้าน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา พื้นยางสังเคราะห์หนาอย่างดี ชนิด Multi Layer พร้อมตีเส้น ทำเสร็จปี 61 เจอโควิดไม่ทันได้ใช้ ไม่นานต่อมาก็สภาพสู่ขิต เหมือนคลื่นริมหาดสมิหลา”
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ลู่วิ่งลานกรีฑาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานปรับปรุงสนามกีฬากลางของมหาวิทยาลัย โดยมีงบประมาณสัญญาจ้างทั้งโครงการราว 25 ล้านบาท เมื่อปี 2560 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
โดยเปิดใช้งานในปี 2561 ในส่วนของการสร้างลู่วิ่งใช้งบประมาณ 5.9 ล้านบาท โดยมีโครงสร้างการก่อสร้างชั้นลู่วิ่งแบบ multilayer กล่าวคือ เป็นการสร้างลู่วิ่งกรีฑาด้วยยางสังเคราะห์ จำนวน 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นที่1 (ฐาน).ชั้นแอลฟัลติกส์คอนกรีต ชั้นที่2(กลาง). ชั้นเม็ดยางดำ SBR (styrene butadiene rubber) คุณสมบัติเป็นวัสดุโพลีเมอร์ธรรมชาติ มีความยืดหยุ่น เกาะติดกันด้วยกาว PU ชั้นที่ 3(ส่วนบน) ชั้นเม็ดยางแดง EPDM rubber (Ethylene propylene diene monomer) ซึ่งเป็นโพลิเมอร์สังเคราะห์ และยางแดงเหลว PU ที่แข็งตัวแล้ว เพื่อสร้างพื้นผิวลู่วิ่งที่เหนียวและแข็งแรง
และยังพบอีกว่าที่ผ่านมาได้มีการเข้าซ่อมแซมจากผู้รับจ้างภายในระยะเวลาประกันผลงาน (2ปี) นับตั้งแต่ส่งมอบงานเมื่อปี 2561 จำนวน 4 จุด
ทางด้าน มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาชี้แจงว่า ปัญหาลู่วิ่งชำรุดเป็นลอนคลื่นดังกล่าว เกิดจากการเสื่อมสภาพของกาว PU ที่ยึดติดเม็ดยางดำ ในพื้นยางชั้นที่ 2 ของโครงสร้างลู่วิ่ง ทำให้ลู่วิ่งโป่งพองจากสภาวะ Polyurethane Hydrolytic กล่าวคือมีน้ำเข้าไปแทรกซึมในชั้นยางเกิดปฏิกิริยา ทำให้เม็ดยางเกิดการแตกตัว อีกทั้งในช่วงโควิด19 ได้มีการปิดสนามราว 2 ปี ทำให้เกิดน้ำขังในลู่วิ่ง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศทั้งฝนตกหนักสลับกับความร้อนสะสม รวมถึงความชื้นจากการรดน้ำในสนามฟุตบอล เรื่อยมาตลอดระยะเวลา 5 ปี ทำให้เกิดการยืดหดเป็นลอนคลื่นในช่วงปลายปี 2566
โดยมหาวิทยาลัยได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว พร้อมให้คณาจารย์ที่มีความรู้เฉพาะด้านที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อตั้งคณะหารือ และได้เตรียมจัดสรรงบประมาณจากงบคงคลังปี 2567 โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่างบประมาณ 30 ล้านบาทที่ปรากฏในข่าวใช้สำหรับปรับปรุงพื้นลู่วิ่งเพียง 17 ล้านบาท และซื้อครุภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการบริหารจัดการ13 ล้านบาท
นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ระบุหลังลงพื้นที่ ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาการบิดพลิ้วเป็นลอนคลื่น อาจเกิดจากระบบระบายน้ำของลู่สิ่งลานกรีฑาที่ไม่ได้มาตรฐาน ประกอบกับการอุดตันของหญ้าจากสนามฟุตบอล พร้อมกำชับหน่วยงานว่า หากได้งบประมาณจัดสรรในการซ่อมแซมเพิ่มเติมแล้วควรให้ความสำคัญกับรูปแบบการวางระบบระบายน้ำ และการเลือกวัสดุโครงสร้าง ของลู่วิ่งให้คงทนเพื่อไม่ได้เกิดปัญหาซ้ำอีก"
“และในส่วนของการเข้าซ่อมแซมจากผู้รับจ้างภายในระยะเวลาประกันผลงาน (2ปี) นับตั้งแต่ส่งมอบงานเมื่อปี 2561 จำนวน 4 จุดนั้น ทางสำนักงานป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป” ผอ.ป.ป.ช.จังหวัดสงบลา กล่าว