หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,322 วันที่ 12 – 18 กุมภาพันธ์ 2567
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องถวายพระราชสมัญญา จากคณะรัฐมนตรี ให้พระองค์เป็น “พระบิดาแห่งการค้าไทย” เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๕๑
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ซึ่งมีพระราชมารดาคือ สมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือ เจ้าจอมมารดาเรียม ที่มีเชื้อสายจากเมืองสงขลา เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๓ แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงปกครองประเทศระหว่างพุทธศักราช ๒๓๖๗-๒๓๙๔ พระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงดำรงพระราชสถานะ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระพักตร์ของพระองค์เหมือนสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชมากที่สุด
ทรงมีโอกาสรับราชการสนองสมเด็จพระบรมอัยยกาธิราช โดยเสด็จไปในกองทัพกับสมเด็จพระชนกนาถคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หลายครั้ง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทับ” เมื่อพระราชบิดาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้สถาปนาให้ทรงกรมเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่น
เจษฎาบดินทร์ ทรงดูแลบ้านเมืองในตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ ทรงกำกับกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ ว่าความฎีกา ฯลฯ ตั้งแต่มีอายุเพียง ๒๖ พรรษา ดังมีเอกสารบันทึกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ไว้ว่า เมืีออังกฤษปรับปรุงเมืองสิงคโปร์ขึ้นเป็นสถานีการค้า เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๖ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีเรือสำเภาไทยไปค้าขายที่สิงคโปร์ ๒๗ ลำ ต่อมาเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ ก็เพิ่มเรือค้าขายไปยังสิงคโปร์เป็น ๔๔ ลำ ที่ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้าที่มีมูลค่าสูงมาก มีเงินถุงแดง หรือเงินส่วนที่ได้กำไรจากการค้านำมาเป็นทุนในการสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรือง ตลอดทั้งเก็บเป็นเงินคงคลังให้กับแผ่นดิน ที่ทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาใช้แก้วิกฤติ เมื่อฝรั่งเศสบังคับให้ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินถึงเกือบสามล้านบาทในสมัยนั้น
เมื่อครั้ง อังกฤษ ได้นำเรือสินค้าเป็นเรือกำปั่นไฟเข้ามาก็ได้รับความนิยมมากเพราะเดินทางได้รวดเร็ว พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ต่อไปภายหน้าเรือสำเภาจะไม่มีผู้รู้จัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือสำเภาไว้เป็นตัวอย่าง ณ.วัดยานนาวา กรุงเทพมหาคร ตามขนาดจริง เพื่อให้สามารถศึกษาได้ และโปรดให้สร้างเรือกำปั่นไฟขึ้นใช้ในกิจการค้าขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่า ร่ำรวย เงินส่วนใหญ่ที่เก็บไว้นั้นเป็นเหรียญทองคำของประเทศเม็กซิโกที่ไทยเรียกว่าเงินเหรียญนก มีรูปนกอินทรีย์กางปีกคาบอสรพิษ เหรียญหนึ่งมีค่าเป็นเงินไทยประมาณ ๕ บาท หรือ ๔๘ เหรียญนก เท่ากับเงินไทย ๘๐ บาท หรือ ๑ ชั่ง
และเหมือนพระองค์จะหยั่งรู้ถึงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า โดยได้ดำรัสไว้ว่า “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็ข้างพวงฝรั่งให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีเขาได้ การงานสิ่งใดที่เขาคิดจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
เรื่องราวของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ที่เกี่ยวกับสงขลายังมีอีกมากมาย ที่หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส รายสัปดาห์ จะได้นำมาเขียนมาบันทึกไว้ให้เป็นความภาคภูมิใจของสงขลา ที่หวังว่าการที่ทางเทศบาลนครสงขลา ได้ขอพื้นที่จำนวน ๕ ไร่ เวณคืน
มาจากการเช่าของประชาชนที่ติดถนนวิเชียรชมทางด้านทิศตะวันตกของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสงขลา ที่ได้ตั้งใจจะให้พื้นที่ ๕ ไร่ตรงนั้น ได้เป็นอนุสรณ์สถานเป็น “ลานเจษฎาบดินทร์” ให้เป็นที่ประดิษฐ์ฐานอนุสาวรีย์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ให้ได้เป็นสิริมงคลของเมืองสงขลา ให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีเชื้อสายของเมืองสงขลาได้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ ให้สงขลาได้ร่ำรวยและมั่นคงให้สงขลา ได้กลับมาเป็นเป็นเมืองท่าที่มั่นคง
ให้พระบิดาแห่งการค้าไทย ที่มีพระราชมารดาคือ เจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งมีเชื้อสายสงขลา ให้เป็นความสุขของประชาชนสงขลา และผู้มาเยือนได้มีความสุข ความเป็นสิริมงคลของสงขลาให้ตราบนานเท่านาน