Home » ข่าว » ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตชาวสงขลา(๒)กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม

ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตชาวสงขลา(๒)กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม

การกล่อมเกลาทางสังคมคือกระบวนการที่บุคคลเรียนรู้และฝึกฝนการเป็นสมาชิกของสังคมและการพัฒนาบุคลิกภาพ แนวความคิดเกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคมที่สำคัญมี 3 แนวคือ


1) การขัดเกลาทางสังคมที่เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับคนอีกรุ่นหนึ่ง แนวความคิดนี้พิจารณาเห็นว่า บุคคลรับเอาวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกของเขาอย่างตรงไปตรงมาโดยอัตโนมัติ เกิดจากการรับรู้ซ้ำๆซากๆเป็นเวลานาน จนซึมซาบเข้าไปโดยเกือบที่จะไม่มีการแปรสภาพวัฒนธรรมนั้นๆเลย แนวความคิดนี้พัฒนาขึ้นมาจากวิชามานุษยวิทยาซึ่งเริ่มจากการศึกษาสังคมดั้งเดิมซึ่งมีขนาดเล็ก มีเสถียรภาพสูง เปลี่ยนแปลงน้อย
2) การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการควบคุม แรงดลใจส่วนบุคคล แนวความคิดนี้มองว่า กระบวนการขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการจำกัดขอบเขตแรงกระตุ้นทางธรรมชาติของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หากปล่อยให้มีผลต่อพฤติกรรมโดยลำพังแล้ว อาจทำให้เกิดความระส่ำระสายในสังคมได้ กระบวนการนี้จึงทำหน้าที่หล่อหลอมให้บุคคลผันแปรพฤติกรรมซึ่งเกิดจากแรงกระตุ้นทางธรรมชาตินั้นๆไปในทางซึ่งเป็นที่สังคมพอจะยอมรับได้ แนวความคิดนี้มาจากทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ซึ่งมองว่ามนุษย์มีความต้องการทางธรรมชาติต่างๆซึ่งมีมาแต่กำเนิดก่อนที่จะมาเป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งหากปล่อยให้สำแดงออกโดยไม่มีการควบคุมหรือการจัดช่องทางก็จะเป็นอันตรายต่อความคงอยู่ของสังคม
3) การขัดเกลาทางสังคมเป็นการเตรียมบุคคลเข้ารับบทบาทต่างๆในสังคม แนวความคิดนี้มองกระบวนการขัดเกลาทางสังคมว่าเป็นกระบวนการของสังคมในอันที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลประพฤติปฏิบัติตามปทัสถานของสังคม แนวความคิดนี้เริ่มจากการมองว่า การที่สังคมดำรงโครงสร้างของมันอยู่ได้ก็ด้วยการที่สามารถหาบุคคลต่างๆมาสวมบทบาทต่างๆในสังคมได้ ทฤษฎีนี้มองว่า บุคลิกภาพของบุคคลและโครงสร้างของสังคมเป็นระบบที่แยกต่างหากออกจากกัน กระบวนการขัดเกลาทางสังคมเป็นตัวเชื่อมให้ทั้งสองระบบไปด้วยกันได้ในระดับหนึ่ง แนวความคิดนี้เห็นว่า กระบวนการขัดเกลาของสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการหล่อหลอมพฤติกรรมของบุคคล และมุ่งพิจารณาผลกระทบของมันต่อสังคม อีกทั้งตัวแทนในการขัดเกลาจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษว่ามีบทบาทสัมพันธ์กันเองอย่างไร
โลกทรรศน์คือภาพที่แลเห็นหรือหยั่งเห็นสิ่งต่างๆอันเกิดจากความรู้ ประสบการณ์และวัฒนธรรมที่สืบทอดของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ที่มาของโลกทรรศน์มาจาก ความรู้ ประสบการณ์และวัฒนธรรม ซึ่งในสังคมชาวใต้องค์ประกอบทั้งหมดนี้มาจากวิวัฒนาการทางสังคมของชาวภาคใต้ 2 ขั้นคือ สังคมปฐมฐาน(primitive society) สังคมเกษตรกรรม(agriculture society)
สังคมปฐมฐานมีลักษณะวัฒนธรรมดังนี้คือ ดำรงชีวิตอยู่แบบง่ายๆ มีเครื่องมือเครื่องใช้ ความต้องการเป็นแบบง่ายๆ กินง่าย อยู่ง่าย รู้จักไฟและล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ความรู้ด้านเทคนิครู้จักนำวัตถุจากธรรมชาติมาใช้ มีการดัดแปลงน้อย มีความเชื่อที่มักไร้เหตุผล เช่น เชื่อธรรมชาติและผีสางเทวดา รู้จักสร้างศิลปะการเขียนเล็กน้อย บรรทัดฐานทางสังคมเป็นแบบวิถีประชา ไม่มีจริยาและกฎหมาย ประเพณีนิยมมีน้อยมาก ส่วนสังคมเกษตรกรรม มีลักษณะวัฒนธรรม ดังนี้คือ รู้จักเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมากขึ้น มีความรู้ด้านเทคนิคจนสามารถดัดแปลงสิ่งต่างๆในธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้ สามารถสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆได้มากขึ้น รู้จักวิถีประชาและกฎศีลธรรมควบคุมสังคม มีประเพณีนิยมต่างๆมากขึ้น แตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมของตน มีความเชื่ออยู่ในระดับสูงขึ้นคือนับถือบรรพบุรุษ เทพเจ้าและมีเหตุผลมากขึ้น
ที่มาของโลกทรรศน์ชาวไทยภาคใต้มาจากศาสนา อาชีพ สภาพแวดล้อม การศึกษาอบรม โดยศาสนาสำคัญคือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์และศาสนาอิสลาม อาชีพสำคัญ ได้แก่ การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และการประมง สภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์น้ำ แร่ธาตุ การศึกษาอบรมเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
โลกทรรศน์ของชาวใต้และชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาปรากฏอยู่ในรูปของค่านิยมพื้นฐานหรือความเป็นมา มูลเหตุ เบื้องหลังหรือรากฐานของความคิด(มโนคติ)ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมีผลกระตุ้นให้เลือกทำตาม ปฏิบัติตามความคิดเห็นนั้น ซึ่งมีตัวแบบ 5 ประการ ดังนี้
1.ลักษณะความเป็นมนุษย์ มุ่งความสมบูรณ์ของจริยธรรมคือความสมบูรณ์ด้านจิตใจ รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์คือรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคลและรู้จักสังคม ได้แก่ นิยมเชื่อในผลของกรรมหรือการกระทำ นิยมความสามัคคี เป็นต้น
2.ลักษณะของบุคคล มุ่งเอาค่านิยมที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลคือ ความสัมพันธ์ทางสังคม การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแลบรรทัดฐานและสถาบันต่างๆทางสังคม
2.1 ความสัมพันธ์ทางสังคม ได้แก่ นิยมความจริงใจ ตรงไปตรงมา ยกย่องผู้ อาวุโส ให้ความเคารพนับถือผู้สูงอายุ ไม่ยกย่องระบบเจ้าขุนมูลนาย แต่นิยมความเป็นกันเอง เคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน มีคู่ครองคนเดียวหรือครอบครัวเดียว ความอิสระเสรี ชอบมีอะไรเป็นของตนเองหรือชอบเป็นเจ้าของ นิยมความสนุกรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูง รักญาติพี่น้อง พวกพ้องของตนเองและความเป็นนักเลง ใจกว้าง ใจถึง สันนิษฐานว่ามาจากคำสอนของศาสนาและภาวะแวดล้อมแห่งตน
2.2 การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ฝากชีวิตไว้กับอิทธิพลของสิ่งเหนือ ธรรมชาติ ด้านความปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ จากเหตุร้ายต่างๆและแม้แต่ความสำเร็จในชีวิตการงานของตนเองและครอบครัวหมู่คณะ ได้แก่ นิยมรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยการทรงเจ้าเข้าผี เชื่อโชคลาง เชื่อถือธรรมชาติและเทพเจ้าประจำธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร เช่น ปู่เจ้า ทวด เชื่อถือดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ เรียกว่า “ตายาย” เชื่อถือเรื่องกรรมและผลกรรม
2.3 บรรทัดฐานและสถานภาพทางสังคม นิยมใช้วิถีประชากับจารีตมากกว่า กฎหมาย ข้อบังคับ คือนิยมความสงบ สันติสุข ไม่ชอบอยู่ใต้ข้อบังคับใดๆที่รู้ว่าเขาออกมาบังคับตนโดยตรง นิยมให้เกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ตนและสังคม

3.ระยะกาลเวลาหรือพื้นฐานเรื่องกาลเวลา การนำเอาอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้ามามี อิทธิพลต่อชีวิตของตน ยังเชื่อเรื่องอิทธิพลของอดีตที่มีต่อปัจจุบันและอิทธิพลของปัจจุบันที่จะมีต่ออนาคต ได้แก่ เชื่อในเรื่องกรรมในอดีต กรรมในปัจจุบันจะส่งผลต่ออนาคต เช่น ชาตินี้ ชาติหน้า ชาติก่อน เชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อทั้งธรรมชาติและศาสนา

4.เรื่องอาณาเขตหรือพื้นฐานทางอาณาเขต คือความนิยมที่จะอยู่ในอาณาเขตหรือ บริเวณดินแดนกำเนิดของตน นิยมในถิ่นกำเนิดของตน ไม่นิยมย้ายถิ่นไปไกลนัก ให้ความยกย่องคนใต้ที่จากบ้านไปศึกษาหาความรู้แล้วกลับมาอยู่ในถิ่นเดิม

5.เรื่องกิจกรรมหรือพื้นฐานทางกิจกรรม มีค่านิยมในกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานและเพื่อพัฒนาชีวิตมากกว่ากิจกรรมตามระเบียบสังคม ได้แก่ นิยมการละเล่นพื้นเมือง เช่น หนังตะลุง โนรา เพลงบอก แพร่หลายและยืนนานจนเป็นค่านิยมที่มีอยู่ทุกสมัยและฝังลึกเข้ากระดูกดำ นิยมพิธีกรรมต่างๆ เช่น การบวช การแต่งงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *