“วันนี้มุสลิมเราร่ำเรียนกันทั้งในเรื่องของศาสนาและสามัญ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนเข้าสู่มหาวิทยาลัย หรือสายอาชีพก็ตาม แต่ที่สุดก็หนีไม่พ้นที่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบการทำงานที่แปลกแยกไปจากระบบของอิสลาม นั่นคือการต้องอยู่ในระบบทุนนิยมอย่างไม่สามารถหลีกพ้น”
ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ อิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในฐานะผู้อำนวยการ “วิทยาลัยดาอีย์” กล่าวถึงแนวคิดการก่อตั้งวิทยาลัยดาอีย์ อันถือเป็นสถาบันการศึกษาศาสนาในรูปแบบใหม่โดยมุ่งผลิต “ดาอีย์-ผู้เผยแผ่ศาสนา” ออกสู่สังคมชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ห่างใกลอย่างเป็นระบบ
“พ่อแม่ส่งลูกเรียนจบแล้วก็ทำงานรับใช้และหล่อเลี้ยงระบบทุน มีเงินเก็บก็ฝากธนาคาร ไม่สามารถรอดพ้นเรื่องดอกเบี้ยไปได้ ทั้งหมดนี้เนื่องจากเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีระบบที่รองรับการทำงานเพื่อศาสนา หรือดำรงชีวิตในระบบและแนวทางของศาสนาได้”
มัสยิดบ้านเหนือได้สร้างโรงเรียนขึ้นมาตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เป็นการทำงานเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาภายใต้แนวคิดนี้ คนที่ทำงานในกระบวนการศึกษาทั้งหมดก็ได้รับใช้ศาสนา โดยบางครั้งเขาเองอาจไม่รู้ตัว แต่นักเรียนเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เข้ามหาวิทยาลัย จบออกมาในที่สุดก็เข้าไปในระบบและวิถีชีวิตในแบบทุนนิยมอีก มันก็หนีไม่ออก
วิทยาลัยดาอีย์ เกิดขึ้นมาจากแนวคิดนี้ เพื่อต้องการสร้าง ดาอีย์-นักเผยแผ่ศาสนาที่สามารถทำงานของตนเองได้โดยไม่ต้องไปพึ่งพิงหรือเป็นภาระของคนอื่น ซึ่งที่ผ่านมาในสังคมมุสลิมเรามีนักเผยแผ่ศาสนาอยู่จำนวนมาก แต่เขาต้องทำงานอื่นๆ ไปด้วย ทำให้การทำงานเพื่อศาสนาทำได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่ได้มีการจัดระบบสวัสดิการให้กับนักเผยแผ่ที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคม หรือบางครั้งก็ต้องให้คนอื่นช่วยเหลือเจือจาน ขาดความเข้มแข็งมั่นคง
ดังนั้น ในการก่อตั้งวิทยาลัยดาอีย์ก็เพื่ออุดหนุนส่งเสริมนักเผยแผ่ศาสนาอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านค่าครองชีพและสวัสดิการเพื่อเขาจะได้ทำงานเพื่อสังคมอย่างเต็มกำลังสามารถและมีความมั่นคงในชีวิต อย่างเหมาะควร
หลักสูตรที่วิทยาลัยได้จัดทำขึ้นสำหรับผู้จะเป็นดาอีย์ จะมีตั้งแต่ ความสำคัญของงานเผยแผ่ศาสนา เทคนิควิธีของการทำงานเผยแผ่ที่มาจากท่านศาสดา(ซ.ล.) ความรู้กฎหมายอิสลาม จริยธรรมศาสตร์ ความรู้เรื่องเทคโนโลยีปัจจุบันที่จำเป็นในการทำงานเผยแผ่ วิชาชีพช่างต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เรื่องของแนวคิดต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน เช่น แนวทางวะฮาบีย์ กลุ่มชีอะฮ์ กลุ่มอิควานุลมุสลิมีน หรือวิธีการของกลุ่มญะมาอะฮ์ตับลีฆ แนวความคิดต่างๆ รวมถึงผลกระทบจากแนวคิดที่แตกต่างกัน และแนวทางอะฮ์ลีซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ที่ถูกต้อง เรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ฯลฯ
โดยทางวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรขึ้นมาเองจากตำรับตำราที่มีอยู่อย่างมากมายจากบรรดาผู้รู้ แล้วประยุกต์ความรู้นั้นอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักสูตรสำหรับการสร้างดาอีย์โดยเฉพาะ ซึ่งในการเรียนหลักสูตรระยะเวลา 3 ปีสำหรับผู้ยังไม่จบปริญญาตรี และหลักสูตร 1 ปีสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี โดยเริ่มเปิดเรียนเทอมแรกในวันที่ 14 พ.ค. 67
“เมื่อจบแล้วก็มีการสอบเพื่อเป็นดาอีย์ของวิทยาลัย พร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติงานตามที่วิทยาลัยกำหนดให้ เน้นพื้นที่ห่างใกลโดยได้รับเงินเดือนและสวัสดิการจากวิทยาลัย” ดร.วิสุทธิ์ กล่าว