สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ
สงขลา-ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ฝากช่วยกันรณรงค์หยุดจับ-ปล่อยปลาวางไข่ ฟื้น “ปลาขี้ตัง” ทะเลสาบสงขลาแบบยั่งยืน หลังพบจำนวนลดลงถึงขั้นวิกฤติ
จากกรณีความต้องการบริโภคปลา ปลาตะกรับหรือปลาขี้ตัง ทะเลสาบสงขลาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติพิ เศษปลา 3 น้ำ (น้ำเค็ม กร่อย จืด) ที่ทำให้รสชาติอร่อยเป็นที่ต้องการ ทำให้ปัจจุบันราคา ปลาตะกรับ หรือปลาขี้ตัง ราคาสูง 400-600 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากปริมาณปลาที่จับได้ลดลง รวมถึงขนาดที่ลดลง
นายนิคม ละอองศิริวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ว่า สถานการณ์ปลาขี้ตังในทะเลสาบสงขลามีปริมาณลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากปัจจุบัน ปลาขี้ตัง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเพิ่ม จึงส่วนทางกัน ทำให้ปัจจุบันราคาปลาขี้ตังเพิ่มขึ้น 400-600 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่การเพาะพันธุ์ปลาขี้ตังของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง เพื่อนำไปปล่อยสู่ทะเลสาบสงขลาก็ยังทำได้จำกัด “ทางศูนย์ฯเริ่มเพาะได้ตั้งแต่ปี 2551 ทำมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในการเพาะพันธุ์” ทั้งด้านงบประมาณที่จำกัดและการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะ ปลาขี้ตัง อย่างเดียว สัตว์น้ำตัวอื่น ๆ อย่าง เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งแชบ้วย กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว หรือปูทะเล
นอกจากนี้ ต้นทุนในการอนุบาล ปลาขี้ตัง ที่สูง ทำให้ปริมาณปล่อยลงทะเลสาบมีจำกัด ต่างกับ กุ้ง ที่เราสามารถปล่อยลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้เป็น ล้าน ๆ ตัว