Home » ข่าว » วชช.สงขลาถอดบทเรียนต.ควนรูส่งเสริม“เกษตรคาร์บอนเครดิต”

วชช.สงขลาถอดบทเรียนต.ควนรูส่งเสริม“เกษตรคาร์บอนเครดิต”

หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนไต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,328 วันที่ 25 – 31 มีนาคม 2567

วชช.สงขลา นำบทเรียน “คาร์บอนเครดิต” โมเดล ตำบลควนรู ส่งต่อข้อมูลเกษตรกรจะนะ เร่งหาความชัดเจนโครงการสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม

18 มีนาคม 2567 วิทยาลัยชุมชนสงขลา นำโดย อ.พรเพ็ญ ประกอบกิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ อ.กฤษณวรรณ เสวีพงศ์ ครูชำนาญการ อ.ฟาธีย่าห์ ชูเชิด และอ.วทัญญู หมัดชูโชติ ครูวิทยาลัยชุมชนสงขลา จัดกิจกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการปลูกพืชร่วมยางเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก ณ บ้านคูนายสังข์ หมู่ที่ 6
ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมี นายธีรวิชญ์ จันทกูร วิทยากรปราชญ์ชุมชน สร้างความเข้าใจร่วมกันสำหรับพื้นที่และผู้เข้าร่วมเรียนรู้ Carbon Credit อ.กฤษณวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 คณาจารย์ของวชช.สงขลา และผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนบนฐานทุนทรัพยากรและภูมิปัญญาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ได้จัดกิจกรรมที่ 6.1 กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการการถอดบทเรียนการจัดการความรู้คาร์บอนเครดิตของชุมชน


ภายใต้กิจกรรมที่ 6 การจัดการความรู้ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเครดิต ณ วัดเกาะบกรัตนาราม ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เพื่อถอดบทเรียนแนวทางการจัดการความรู้ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเครดิต โดยมี นายธีรวิชญ์ จันทกูร วิทยากรปราชญ์ชุมชน ผู้เข้า
ร่วมกิจกรรม 20 คน ประเด็น 1.ความหมาย /แนวคิดของ Carbon Credit 2. คุณสมบัติของผู้เข้าร่วม Carbon Credit 3. กระบวนการ /ขั้นตอน 4. ตลาด /ผู้เสนอขาย Carbon Credit 5. พืชตามความต้องการของ Carbon Credit 6. ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำ Carbon Credit 7. การประเมิน Carbon Credit 8. เครือข่าย Carbon Credit และ 9.แนวทางการพัฒนาการจัดการความรู้ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเครดิต โดยวชช.สงขลา มีกรรมการสภาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร และมีการจัดทำเรื่องคาร์บอนเครดิตแล้วที่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จึงได้นำคณาจารย์และบุคลากรของวิทยาลัยร่วมถอดบทเรียน เพื่อเห็นกระบวนการในการดำเนินการ เพื่อจะนำมาแนวทางในการส่งเสริมเรื่องคาร์บอนเคตดิตในพื้นที่อื่นๆ และนำสู่การพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านคูนายสังข์


“ก่อนหน้านี้ ท่านผอ.พรเพ็ญ มีงานวิจัยเรื่องการปลูกพืชร่วมยางแล้ว เพื่อจะได้นำมาดำเนินการร่วมกัน” อ.กฤษณวรรณ กล่าว และว่า
จากการร่วมประชุมถอดบทเรียน เราได้ข้อมูลว่าที่ตำบลควนรูได้ดำเนินการไปถึงกระบวนการจัดทำข้อมูลเสร็จสรรพ และยื่นไปยังบริษัทที่รับดำเนินการไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งในการดำเนินการได้รับการสนับสนุนจากธกส.และกลุ่มเกษตรยั่งยืน เข้ามาให้การอบรมเกษตรกร จากการพูดคุยกับอ.ธีรวิทย์ จันทกูล วิทยากรผู้ให้ความรู้ กล่าวว่า ในแต่ละอำเภอจะมีหน่วยงานสามารถให้คำปรึกษาอยู่แล้ว และในส่วนของตำบลควนรูมีการตื่นตัวและจัดดำเนินการได้รวดเร็วกว่าหลายๆ พื้นที่


ในส่วนของรายละเอียด เช่น มีการรวมกลุ่ม เกษตรกร ต้องมีโฉนดที่ดินของตน มีพืชที่ปลูกในที่ดินอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป การวัดขนาดของพืช ชนิดของพืชทั้ง 180 ชนิด 9 ประเภท การบันทึกลงโปรแกรมอย่างละเอียดเพื่อคำนวนค่าการปล่อยอ๊อกซิเจนและดูดซับคาร์บอน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ หรือผู้ต้องการเป็นผู้ประเมิณ ต้องผ่านการอบรมจากหน่วยงาน เช่น อบก.หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) จะเห็นได้ว่า กลุ่มเกษตรกรตำบลควนรู จัดทำทุกอย่างตามโครงการได้อย่างดี เหมาะจะเป็น
ต้นแบบให้กับหลายๆ พื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้ และทางวชช.จึงได้นำวิธีการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรตำบลควนรู มาเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรบ้านคูนายสังข์ ซึ่งในส่วนของโครงการคาร์บอนเครดิต หากทำสำเร็จนอกจากเม็ดเงินที่เกษตรกรจะได้รับจากการปลูกและดูแลต้นไม้พืชพันธุ์แล้ว ก็ยังเป็นการสร้างสำนึกที่ดีของเกษตรกรในการป้องกันการทำลายป่าไม้ และส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดวิกฤติภาวะโลกร้อนป้องกันภัยจากธรรมชาติได้อย่างดี


“ขณะนี้ทราบว่าในภาคอื่นๆ มีการขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว แต่ในบ้านเรายังไม่ปรากฏ ซึ่งหากภาครัฐให้ความสำคัญต่อโครงการนี้อย่างจริงจัง ทำงานเชิงรุกให้ความรู้ สนับสนุนการรวมตัวของเกษตรกร มีหน่วยงานให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด น่าจะ
เป็นเรื่องที่ดีและมีความชัดเจนมากกว่านี้ “ขณะนี้ในการจัดทำโครงการมุ่งขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทต่างประเทศ เป็นลักษณะการขาย ข้อมูลที่จัดทำอย่างละเอียดและสม่ำเสมอเป็นรายปี ซึ่งแม้ว่าจะได้เม็ดเงินไม่มากมาย แต่อย่างน้อยเกษตรกรที่มีพืชมีต้นไม้ก็จะได้ผลตอบแทนในสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว” อ.กฤษณวรรณ กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *