สยองคลองอู่ตะเภา
พบปลาจระเข้กินเนื้อ
นางสาวสุนิสา จันเจริญ ประมงอำเภอบางกล่ำ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 6 เมษายน 2566 ได้รับแจ้งจากเกษตรกรว่า พบปลาจระเข้ (Alligator gar) ในพื้นที่คลองอู่ตะเภา ม.11 ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ. สงขลา บริเวณข้างกระชังเลี้ยงปลาของเกษตรกร โดยการยกยอในช่วงเวลาดังกล่าว มีน้ำหนักราว 10 กิโลกรัม
“ปลาจระเข้ เป็นน้ำเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ลักษณะนิสัยเป็นสัตว์กินเนื้อ และกินไม่เลือกด้วย สิ่งที่น่ากังวลในคลองอู่ตะเภาคือ สัตว์น้ำจะลดน้อยลง” นางสาวสุนิสา กล่าว และว่า
เกษตรกรบอกว่า ตอนที่เจอ ๆ ซากของปลาดุกที่โดนกัดอยู่บริเวณริมกระชังเลี้ยงปลา และจากการบอกเล่าของคนในพื้นที่ทราบมาว่าเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับปลาชนิดนี้มาบ่อยครั้งแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร รู้แค่เพียงว่าพื้นที่ตรงนี้จะมีปลาใหญ่อยู่ ซึ่งไม่เคยเจอตัว แต่ได้ข่าวมาประมาณ 3 ปี ตอนนั้นยังไม่ย้ายมาที่นี่ และไม่มีประมงอำเภอบางกล่ำ
“วันนี้เกษตรกรได้บอกว่าเจอปลาลักษณะนี้ จากการยกยอข้างกระชังเลี้ยงปลา แต่ไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร เห็นแล้วว่ามีปลาตัวใหญ่ และทำให้ปลาในกระชังตกใจ จึงใช้วิธีการยกยอขึ้นมา”
ประมงอำเภอบางกล่ำระบุว่า ถ้ามีปลาชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมากในคลองอู่ตะเภา จะทำให้ระบบนิเวศเสียแน่นอน เพราะปลาชนิดนี้กินไม่เลือก เบื้องต้นน่าจะเป็นที่แรกที่เจอที่คลองอู่ตะเภา
สำหรับการขยายพันธุ์ของปลาจระเข้ (Alligator gar) ถ้าหากว่ามีมากกว่า 1 ตัว ขยายพันธุ์ได้แน่นอน ซึ่งการออกไข่แต่ละครั้งประมาณ 150,000 ตัว และอัตรารอดค่อนข้างสูง เนื่องจากไข่ของปลาจระเข้ (Alligator gar) จะเป็นพิษ ถ้าสัตว์น้ำชนิดอื่นกินจะทำให้สัตว์น้ำนั้นตาย จึงทำให้อัตรารอดค่อนข้างสูง ถ้ามีไข่
“ปลาจระเข้ (Alligator gar) ที่พบในวันนี้ สันนิษฐานว่าจะเป็นการแอบนำมาปล่อยของคนที่แอบเลี้ยงปลาชนิดนี้ ก็ไม่ทราบได้ว่าจะมีกี่ตัว แต่วันนี้ยังไม่ได้เจอไข่ของมัน ซึ่งน่าจะเป็นตัวผู้มากกว่า”
ปลาชนิดนี้มีอยู่ยุคหนึ่งที่คนนิยมเลี้ยง โดยจะเลี้ยงเป็นคู่ เพื่อเสริมบารมี เสริมดวง ตามความเชื่อ แต่ได้มีการเฝ้าระวังในบริเวณดังกล่าวถ้ามีใครพบเจอ ก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่
ส่วนปลาจระเข้ ที่พบในครั้งนี้จากข้อมูลประมงจังหวัดสงขลาเป็นการพบครั้งแรกในรอบ 5-10 ปี ทางจังหวัดจะเร่งการประชาสัมพันธ์ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้านเพื่อแจ้งผู้ที่กำลังเลี้ยงในพื้นที่ เพราะการเลี้ยงปลาชนิดนี้ไม่ต้องขออนุญาต
หากผู้เลี้ยงคนใด ไม่ประสงค์จะเลี้ยงต่อ ต้องแจ้งให้กรมประมงทราบ ถ้าไม่สะดวกที่จะทำลายเองก็ให้ส่งมอบที่ศูนย์ประมงน้ำจืด ห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด
“ปลาชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน จึงยังดำเนินการเชิงรุกเพื่อจับ และจากการสอบถามไปยังเกษตรกรคนที่พบในวันนั้น ก็บอกว่าเฝ้าอยู่ เพราะมีกล้องวงจรปิด และเลี้ยงปลากระชังตรงนั้นมาเป็นเวลาสิบ ๆ ปีแล้ว”
โดยเกษตรกรผู้พบ บอกว่าได้เห็นปลาจระเข้ หลุดออกมาจากท่อน้ำทิ้งของเทศบาลนครหาดใหญ่ในช่วงปี พ.ศ.2553 แต่ตอนนั้นตัวยังเล็กมากับขยะ
เกษตรกรเล่าว่า ได้ยินเสียงตอนกลางคืน ขณะที่มันงับเหยื่อ แต่คิดว่าเป็นปลากดใหญ่ หรือเป็นปลาใหญ่ชนิดใด ชนิดหนึ่ง
“มองอีกแง่หนึ่ง อาจจะเป็นลูกจระเข้ก็ได้ เนื่องจากจมูกของปลาชนิดนี้คล้ายกับจระเข้ แต่ลำตัวเป็นปลา คนที่เห็นก็ไม่ได้ฟันธงว่าเป็นปลาชนิดไหน แต่ก็เฝ้าระวังกันอยู่ตลอด”
จนกระทั่ง เมื่อ 3 ปีที่แล้วใกล้สุดก็คือเห็นปลาจระเข้กินเป็ด จึงมีการเฝ้าระวังมากขึ้นในบริเวณด้านข้างกระชัง เพราะคิดว่ามันจะมาหากินบริเวณนี้อีก และต้องยกยออยู่เป็นประจำ จึงเจอ เกษตรกรบอกว่า น่าจะมีแค่ตัวเดียว จึงยังไม่ออกค้าหา
“อยากจะฝากไปยังผู้ที่ยังเลี้ยงอยู่ หรือคิดจะเลี้ยง ถ้าเมื่อไหร่ไม่สะดวกที่จะเลี้ยงต่อ ก็ขอให้ทำลาย ถ้าไม่ทำลายก็ส่งมอบให้กรมประมงห้ามปล่อย” ประมงอำเภอบางกล่ำ กล่าวด้วยว่า ปลา จระเข้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อเมริกาใต้