Home » ข่าว » สงขลาขับเคลื่อนครอบครัวเข้มแข็ง!ยก4กลยุทธ์สู่การเกิดสังคมคุณภาพ

สงขลาขับเคลื่อนครอบครัวเข้มแข็ง!ยก4กลยุทธ์สู่การเกิดสังคมคุณภาพ

หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนไต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,327 วันที่ 18 – 24 มีนาคม 2567

“รองผู้ว่าฯ สงขลา”​ หารือคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดสงขลา ยก 4 กลยุทธ์ มุ่งขับเคลื่อนครอบครัวเข้มแข็ง สู่การเกิดสังคมคุณภาพ

14 มีนาคม 2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะอนุกรรมการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม


นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ในระดับจังหวัด ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อรับทราบผลการดำเนินการที่ผ่านมา ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญที่เราจะมาดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้องเรื่องครอบครัว ถือเป็นเรื่องของคนทุกคนและทุกภาคส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดความความเข้มแข็ง นำสู่การเกิดสังคมคุณภาพต่อไป
โดยที่ประชุมได้แจ้งเรื่องเพื่อทราบแผนปฏิบัติการด้านครอบครัวจังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยอ้างอิงจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง และผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมครอบครัวจังหวัดสงขลา ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567


โดยได้กำหนดจัดกิจกรรมวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันแห่งครอบครัว” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว โดยมีการบูรณาการร่วมกับวันผู้สูงอายุ และจัดให้มีการโล่และประกาศเกียรติคุณครอบครัวร่มเย็น และบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัว ที่ผ่านจากการประชุมพิจารณาคัดเลือก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567


สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแจ้งผ่านศูนย์ปฏิบัติการฯ จำนวน 21 ราย ดำเนินคดีตามกฎหมายจำนวน 2 คดี และอีก 19 ราย ไม่ดำเนินคดี ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20 – 49 ปี จำนวน 13 ราย
สาเหตุของการกระทำความรุนแรงที่พบมากสุด เกิดจากสาเหตุเมาสุรา ใช้ยาเสพติด รองลงมาคือปัญหาเศรษฐกิจ ด้านสถานการณ์ความเป็นอยู่ของครอบครัว ในปี 2566 พบว่ามีครอบครัวที่จดทะเบียนสมรส จำนวน 5,674 ครอบครัว ครอบครัวหย่าร้าง จำนวน 2,648 ครอบครัว ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวกระทำความรุนแรงต่อกัน จำนวน 41 ครอบครัว และครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 20,427 ครัวเรือน


ขณะที่ผลสำรวจสถานการณ์ความเข้มแข็งของครอบครัวจังหวัดสงขลา ปี 2566 จากกลุ่มตัวอย่าง 750 ครอบครัวในจังหวัดสงขลา พบว่า สมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.42 คน อายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบตอบรับ 49.13 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดแนวทางการจัดสมัชชาครอบครัวจังหวัดสงขลา ประจำปี 2567 โดยยก 4 กลยุทธ์ ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อเป็นฐานสำหรับการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านครอบครัว ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 การส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดี ใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกับครอบครัวและสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรสำหรับครอบครัว ทั้งในบ้าน สถานศึกษา สถานที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะ ชุมชนและท้องถิ่น


กลยุทธ์ที่ 2 การสนับสนุนให้บุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะ ชุมชนและท้องถิ่น ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองให้สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่ครอบคลุมปัญหาและความจำเป็น
กลยุทธ์ที่ 3 การส่งเสริมและบูรณาการภาคีเครือข่ายในทุกระดับให้มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งต่อการพัฒนามิติครอบครัว และกลยุทธ์ที่ 4 ส่งเสริมให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และการศึกษาวิจัยด้านครอบครัว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *