Home » ข่าว » (สงขลา)-ครม.รับทราบค่าจ้างขั้นต่ำ400บาท10จว.นำร่อง

(สงขลา)-ครม.รับทราบค่าจ้างขั้นต่ำ400บาท10จว.นำร่อง

สำนักข่าวโฟกัส
สงขลา-คณะรัฐมนตรี รับทราบกระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม 400 บาท 10 จังหวัดนำร่อง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567
การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
รับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม ลงวันที่ 27 มีนาคม 2567


และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญที่กระทรวงแรงงานรายงานว่า
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (26 ธันวาคม 2566) รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 จำแนกเป็น 17 อัตรา อัตราวันละ 330-370 บาท ในกรุงเทพมหานครและ 76 จังหวัด
2. ต่อมาคณะกรรมการค่าจ้าง1 มีแนวคิดเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม 2. เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (กิจการการให้บริการโรงแรมและที่พัก) 3.โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี
โดยในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม คณะกรรมการค่าจ้างได้ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพอัตราเงินฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม [ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560]
3. คณะกรรมการค่าจ้างได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานครและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 10 คณะ ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีเช่นเดียวกับคณะกรรมการค่าจ้าง ทำหน้าที่พิจารณาเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่
รวมทั้ง สำรวจค่าใช้จ่ายของลูกจ้างและต้นทุนของสถานประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (การบริการโรงแรมและที่พัก) เพื่อศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันและนำมาใช้ประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางการประชุมพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง
4. คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (คณะกรรมการชุดปัจจุบัน) ในการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง ในเขตพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นอัตราวันละ 400 บาท (ปรับเพิ่มอัตราวันละ 30-55 บาท แล้วแต่เขตพื้นที่) และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 ดังนี้
พื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง อัตราเดิม (บาทต่อวัน) (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566)
กรุงเทพมหานคร (เฉพาะเขตปทุมวัน วัฒนา) 363 (เพิ่มขึ้น 37 บาท)
กระบี่ (เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง) 347 (เพิ่มขึ้น 53 บาท)
ชลบุรี (เฉพาะเขตเมืองพัทยา) 361 (เพิ่มขึ้น 39 บาท)
เชียงใหม่ (เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่) 350 (เพิ่มขึ้น 50 บาท)
ประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน) 345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท)
พังงา (เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก) 345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท)
ภูเก็ต 370 (เพิ่มขึ้น 30 บาท)
ระยอง (เฉพาะเขตตำบลเพ) 361 (เพิ่มขึ้น 39 บาท)
สงขลา (เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่) 345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท)
สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย) 345 (เพิ่มขึ้น 55 บาท)
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมมุ่งที่จะคุ้มครองแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ในปี 2567 รวมทั้งแรงงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการประเภทกิจการโรงแรมอยู่แล้ว ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องในหลายสาขา นำไปสู่การสร้างงานและสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่มากขึ้น
_
1.เป็นองค์กรไตรภาคีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน
2.คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้กิจการโรงแรม หมายถึง โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมซึ่งประกอบกิจการ สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราว สำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทนและได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวขึ้นไป ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
3.โดยที่มาตรา 87 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกำหนดให้ใช้เฉพาะกิจการ งานหรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้
///////////////

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *