หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,329 วันที่ 1 – 7 เมษายน 2567
“สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่” ประชุมร่วมขนส่งจังหวัดสงขลา เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่ ชี้เป็นโครงการนำรองการกระจายอำนาจการจัดการกันเองภายในจังหวัด ใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนา
หลังจากที่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทาเศรษฐกิจ(กรอ.)จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา โดย นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุม มีมติมอบหมายให้ขนส่งจังหวัดสงขลา ตั้งคณะทำงานศึกษาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่
ตามที่ “สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่” นำเสนอต่อที่ประชุม ต่อมาวันที่ 21 มีนาคมฯ สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ นำโดย นายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล เลขาธิการฯเข้าพบขนส่งจังหวัดสงขลา
วันที่ 25 มีนาคมฯ สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ รายงานความคืบหน้าโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนเมืองหาดใหญ่ต่อที่ประชุมคณะกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน โดยนายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล กล่าวว่า สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่เป็นเวทีกลางในการระดมความคิดเห็นในการพัฒนาหาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง โดยรัศมี 10 กิโลเมตรรอบหาดใหญ่ จะเห็นได้ว่า เมืองหาดใหญ่มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในรัศมี 10 กิโลเมตรก็จะเป็นอนาคตที่จะมีทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันในการเดินทางจะมีปัญหาก่อนอยากจะให้คำเนินการตามคำว่า ขนส่งสาธารณะหรือขนส่งมวลชน ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ด้วย
“ขนส่งสาธารณะเป็นการเดินทางที่เป็นเส้นทางค่อนข้างจะชัดเจนแน่นอน มีตารางเวลาชัดเจน อันนี้ถือว่าเป็นขนส่งสาธารณะ”
แต่ถ้าเป็นรถตุ๊ก ๆ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ถือว่าเป็นกึ่งสาธารณะ ก็คือไม่ประจำทาง ผู้โดยสารอยากไปไหนก็ไป อันนี้ต้องทำความเข้าใจนิยามก่อน
สำหรับสภาพปัญหาซึ่งทุกท่านจะทราบดีอยู่แล้ว เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญในการที่จะเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ เป็นเมืองสปอร์ตซิตี้ อะไรต่าง ๆ แต่เราไม่มีระบบขนส่งมวลชนรองรับ ทำให้ศักยภาพในการพัฒนามีข้อจำกัด และยังมีผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจครัวเรือน แต่ละครัวเรือนจะต้องมีรถเอาไว้ใช้ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซด์หรืออะไรก็แล้วแต่
ก็ต้องมีการลงทุนและทำการจราจรติดขัดแออัด และไม่สามารถที่จะเดินเท้าได้ เนื่องจากหาที่จอดรถไม่ได้ กระทบไปถึงร้านค้าในชุมชนด้วยค้าขายไม่สะดวก และโดยเฉพาะเรื่องการออกแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ผู้สูงอายุ ผู้พิการก็มีข้อจำกัด ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก“เคยมีการศึกษาเรื่องการขนส่งหาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2552 ปี 2556 และปี 2567 รศึกษาแล้ว ศึกษาอีกแต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ ฉะนั้นก็เป็นประเด็นว่า น่าจะถึงเวลาที่ควรต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว”
โดยปี 2552 และปี 2556 ได้มีการวางเส้นทางศึกษาไว้เป็นแนวทางไว้แล้ว ก็น่าสนใจว่าจะหยิบอันเก่ามาทบทวนใหม่จะดีมั๊ย จึงเป็นข้อเสนอว่า อันดับแรกเราอยากจะให้มีคณะทำงานที่จะพัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนช่วยกัน เพราะในลักษณะเช่นนี้
จะทำให้สามารถตอบโจทย์การเดินทางได้ดี
จากนั้น อยากจะให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยแบ่งเป็น 3 ระบบ ประกอบด้วย การขนส่งระหว่างเมือง“ถ้าใช้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนที่ อันดับแรก อาจจะเชื่อมโยงหาดใหญ่-สงขลาเป็นหลัก หาดใหญ่จะไปควนเนียงดีมั๊ย หาดใหญ่จะไปนาหม่อม หรือสนามบิน การขนส่งระหว่างเมืองก็เป็นเรื่องที่จะต้องคิด” นายสิทธิศักดิ์ กล่าว และว่าสอง ขนส่งมวลชนของเมืองเอง ของเมืองโดยปกติก็จะมีเรื่องเส้นทางถนนสายหลัก ถนนกาญจนวนิช ถนนเพชรเกษม ถนนศรีภูวนารถ หรือถนนสามสิบเมตร ก็จะเป็นสายหลัก
ส่วนกึ่งสาธารณะคือ รถตุ๊ก ๆ แท็กซี่ หรือรถจักรยานยนต์ทั้งหลายก็น่าจะการเป็นวิ่งแบบอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังมีข้อจำกัดว่า วิ่งเฉพาะในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าวิ่งเลยไป
นิดนึงก็จะเป็นเทศบาลเมืองคอหงส์ เทศบาลเมืองคลองแห ซึ่งผิดกฎหมายหมดเลย ฉะนั้น ตรงนี้ก็ต้องทบทวนกันใหม่ วางระบบกันใหม่
ข้อเสนอคือ อยากให้มีทางราชการ จะเป็นจังหวัดหรือท้องถิ่นลงทุนร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้สามารถจัดการขนส่งได้จริง โดยมีมาตรการส่งเสริมในการลดค่าใช้จ่าย และชดเชยรายได้ ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้สามารถทำค่าโดยสารได้ในราคาที่ต่ำ แล้วผู้ประกอบการก็สามารถอยู่ได้ด้วย
ซึ่งเมื่อวันที่19 มีนาคม 2567 ได้มีการประชุมกรอ.สงขลา ที่มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน ที่ประชุมวันนั้นได้เห็นชอบและมอบหมายให้ขนส่งจังหวัดสงขลาไปตั้งคณะทำงานขึ้น
และเมื่อวันที่ 21 มีนาคมฯ ได้เดินทางไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดสงขลา ท่านขนส่งจังหวัดสงขลาและทีมงานได้คุยกัน และท่านได้เห็นด้วยว่าประมาณ 2 สัปดาห์ จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา แล้วนำเสนอท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
โดยมีแผนการดำเนินการภายใน 1 ปี โดยในช่วงเดือนเมษายนนี้ จะประชุมกลุ่มย่อยผู้เกี่ยวข้องว่า ใครบ้างที่จะเป็นผู้ให้บริการ ใครบ้างจะเป็นผู้รับบริการ รวมถึงกำหนดขอบเขตบริการ ถ้าสมมุติว่าถ้าหาดใหญ่จะมาสงขลา หรือไปถึงสะเดามั๊ย หรือจะเอาแค่บ้านพรุ จะเริ่มหาวงนี้ให้ได้ก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าขอบเขตบริการอยู่ตรงไหน และมีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง
หลังจากนั้น ก็จะไปข้อสองคือ ทำการรวบรวมรายชื่อเสนอท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อจะแต่งตั้งคณะทำงานต่อไป คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้น่าจะจบข้อสาม การทบทวนการศึกษาเดิมก็จะเริ่มทำการศึกษาได้ โดยไม่ต้องรอเดือนพฤษภาคม โดยจะนำข้อมูลที่เคยมีการศึกษาไว้มาทบทวนแล้วก็มาประชุมร่วมกัน
“เข้าใจว่าเดือนมิถุนายน 2567 ก็น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจ และก็ไปสู่ขั้นที่สี่คือ ออกแบบระบบร่วมกัน น่าจะอีก 2 เดือนถึงเดือนสิงหาคม ก็จะสรุปและเซ็ตระบบทุกอย่างน่าจะเข้าที่”
โดยจะเลือกโครงการนำร่องจริง ๆ จะทดลอง 6 เดือน ในการวิ่งนำร่องก่อน อาจจะเลือกเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ง่ายก่อน พอถึงเดือนมีนาคมปี 2568 ก็สรุปประเมินผลเพื่อดูว่าจะยังไงต่อ
“โครงการนี้จะเป็นโครงการนำรองในการกระจายอำนาจให้มีการจัดการกันเองภายในจังหวัด ทำให้เกิดการลงทุนและเกิดการจ้างงานได้ด้วย”
แล้วมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนา และจะลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งตรงนี้จะทำให้บรรดารถรับจ้างจะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเราสามารถลดปริมาณการใช้รถส่วนตัวได้ ก็จะเกิดความประหยัด ครัวเรือนก็มีฐานะมั่นคงขึ้น การกระจายรายได้ก็จะดีขึ้น จะลดปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ และการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุ และที่สำคัญจะเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมอย่างมีคุณภาพ