หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,330 วันที่ 8 – 21 เมษายน 2567
“ท่าน รศ.ดร. บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา ม.อ. ได้วางรากฐานที่สำคัญขององค์กรให้เป็นสถาบันทางวิชาการ องค์ความรู้ด้านสันติศึกษา ตอบสนองประเด็นทางสังคม
ภาคใต้ในหลายประเด็น เช่น ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดการทรัพยากรฯ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน และโครงการพัฒนาต่างๆ ที่อาจมีประเด็นต้องสื่อสาร หาทางออก โดยใช้องค์ความรู้ด้านสันติศึกษา ทำให้สังคมแสวงหาทางออกในกรณีมีความขัดแย้งเกิดขึ้น นี่เป็นเป้าหมายของสถาบันฯ”
ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คนใหม่ ซึ่ง เริ่มงานเมื่อ 1 เม.ย. 67 กล่าว และว่า
การเข้ามารับผิดชอบงานต่อจากท่าน รศ.ดร.บุษบง ส่วนหนึ่งก็สานต่อจากงานของท่านด้วย อีกส่วนก็เป็นการก้าวต่อไป เนื่องจากเป็นสถาบันวิชการจุดเน้นแรกคือการผลิตองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพในทุกมิติ เช่น การจัดการทรัพยากร มิติทางสังคม มนุษยชน สังคมพหุวัฒนธรรม อย่างมีความทันสมัย ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที ทั้งในภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งเรามีภาคีอยู่ทั้งภาควิชาการและภาคประชาสังคม
องค์ความรู้ที่ใช้ได้จริง ด้วยองค์ความรู้ที่เรามีก็นำสู่การเผยแพร่ และนำไปใช้ได้จริงในหลายระดับ จากงานวิจัย และประสบการณ์ของบุคลากรของสถาบันฯที่เข้าถึงพื้นที่ เป็นเสียงให้กับประชาชนภาคใต้สู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายของภาครัฐ
โดยทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นเรื่องชายแดนภาคใต้ ก็นำเสนอ “ข้อเสนอ” จากความเห็นของประชาชนที่ผ่านการวิจัย โครงการ Peace Survey สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ สู่ภาคนโยบาย เช่น คณะพูดคุย
สันติสุข เพื่อแสวงหาทางออก
หากเป็นมิติความมั่นคง ก็เสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผ่านหน่วยงานความมั่นคงพื้นที่ เช่น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ๆ เข้ามาเรียนกับสถาบันฯด้วย จึงสามารถแลกเปลี่ยน ให้ความรู้ฝึกอบรมสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการที่เข้าสู่การทำงานร่วมกับชุมชน
“นี่คือการนำองค์ความรู้ไปใช้ได้จริงในระดับนโยบาย และต่อการปฏิบัติงานของภาครัฐ ซึ่งย่อมส่งผลสะท้อนกลับสู่ชุมชนด้วย”
ขณะเดียวกัน จากการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน กลุ่มเปราะบาง
เราก็ได้นำองค์ความรู้ต่างๆ หรือเสียงสะท้อนความ
ต้องการของพวกเขากลับมา ซึ่งเป้าหมายในการทำงานจากนี้จะต้องเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น ประยุกต์ใช้ความรู้อย่างกว้างขวาง ทันท่วงทีมากขึ้น
ยกตัวอย่าง ในพื้นที่สงขลาอาจมีประเด็นโครงการพัฒนาใหญ่ๆ เข้ามา และต้องอาศัยความเข้าใจของชุมชน เราก็ลงไปทำวิจัยและกิจกรรมกับชุมชน หรือความเป็นเมือง เช่น เมืองหาดใหญ่ที่มีคน
รุ่นใหม่ต้องการกลับมาฟื้นฟูเมือง สร้างสีสัน สามารถสร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมความเป็นเมือง สถาบันฯ ก็จะมีบทบาทตรงนี้มากขึ้น
ในการสร้างบุคลากร ผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคม หลักสูตรป.โท ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา ที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันฯปี 2548 ก็ต้องผลิตบัณฑิตให้มากขึ้น ให้คนสนใจเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ และนำไปประยุกต์ใช้กับ
งานต่างๆ สร้างบุคลากรที่มีคุณค่า สร้างความเปลี่ยนแปลงสังคม และประเทศด้วยแนวทางสันติวิธี ซึ่งเรามีบัณฑิตที่จบออกไป หลายคนเป็นข้าราชการทำงานใน ศอ.บต. ผู้บริหารหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม หรือสื่อมวลชน และได้เปิดการเรียนหลักสูตรระยะสั้น ประกาศนียบัตร หรือ Non Degree
ซึ่งเปิดมาแล้ว 2 รุ่น มีคนสนใจเรียนหลากหลายทั้ง นายแพทย์ผู้บริหารโรงพยาบาล นักศึกษาต่างชาติจากมาเลเซีย ฯลฯ ก็ได้แลกเปลี่ยนกัน
สื่อสาร-แปรเปลี่ยนความขัดแย้ง
“การสื่อสารถือเป็นกลไกที่สำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพ ความจริงการะบวนการสันติภาพ ก็คือกระบวนการของการสื่อสาร คือการทำให้คนที่เห็นต่าง หันหน้ามาหากันก่อน แล้วมานั่งคุยกัน หาจุดที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่าย โดยไม่ให้
ใครรู้สึกพ่ายแพ้ เพราะไม่ใช่การเจรจาต่อรอง แต่ทำให้ฝ่ายที่มาสู่กระบวนการพูดคุยรู้สึกว่า ตนได้ประโยชน์ แทนที่จะใช้ความรุนแรง พยายามปรับเข้าหากัน ไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด”
เพราะ ฉะนั้น ในมิติการสื่อสาร กระบวนการสร้างสันติภาพในภาพใหญ่ยังมีกลไกอื่นๆ ที่จำเป็นต้องปรับ เพราะเมื่อขัดแย้งก็แสดงว่ายังมีบางอย่างที่เป็นปัญหา ตรงนี้เองที่การสื่อสารต้องเข้าไปทำให้คนมองเห็นปัญหาและเข้าใจร่วมกัน เห็นภาพรวมร่วมกันก่อน ไม่ใช่แต่ละฝ่ายเห็นแต่ปัญหาของตนเอง มองข้ามปัญหาของคนอื่นหรือความคิดความรู้สึกของอีกฝ่าย
นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลักวิชาการคลี่คลายความขัดแย้ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน”
การสื่อสารจึงอยู่ในช่วงกระบวนการแปรเปลี่ยนจากความขัดแย้ง การคิดใช้ความรุนแรงมาสู่การไม่ใช้ความรุนแรง หรือการเห็นโอกาสอื่นๆ ให้คนมองเห็นร่วมกันว่า มีโอกาสมีทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหา อย่าไปโฟกัสเฉพาะจุดเดียวที่อาจทำให้เดินไปสู่ทางตัน
“การสื่อสารคือ การมาช่วยกันคิดแล้วหาทางเลือกใหม่ๆ จินตนาการใหม่ๆ ว่าเราจะอยู่ร่วมและเดินไปด้วยกันได้อย่างไร”
ขั้นต่อไปของการสื่อสาร คือจากการทำให้คนมาร่วมพูดคุยสื่อสารกันในสังคมได้แล้ว ก็จะส่งผลต่อการที่ทุกคนช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้โอกาสของความขัดแย้งกลับมาอีก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ โดยการใช้เครื่องมือ “สานเสวนา”
ประสบการณ์ 26 ปี สู่การคลี่คลาย
ในภาพรวมสถานการณ์ก่อนเหตุการณ์ปี 2547 ก็มีปัญหาอยู่ แต่ไม่ได้ถูกปรากฏขึ้นมา ทำให้การรับมือทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากยังขาดกลไกการเฝ้าระวัง เช่น ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในชีวิตประจำวัน ที่บางครั้งเรามองไม่เห็นชัดว่า มีปัญหา นอกเหนือจากเรื่องของประวัติศาสตร์
“ขณะลงมาทำงานพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ครั้งแรกปี 2541 มีโอกาสลงเก็บข้อมูลที่อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ตอนปี 2543-2544 แต่พอปี 2547 เกิดเหตุการณ์ปะทุขึ้น ทำให้ได้มาคิดว่าเราเองยังขาดการไหวรู้ต่อปัญหาในพื้นที่อีกมาก ทั้งๆ ที่มีอยู่”
พอหลังปี 2547 มาจนปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผ่านช่วงเวลาที่ความรุนแรงพุ่งสูง และตั้งรับไม่ทัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายขาดองค์ความรู้ ขาดความเข้าใจต่อปัญหา มันไม่ชัด ฝ่ายวิชาการก็เห็นแต่พื้นผิวของปัญหา แต่ที่ลึกลงไปเราไม่เห็น และไม่มีกระบวนการให้แต่ละฝ่ายมาคุยกัน
จนเหตุการณ์เริ่มลดลงช่วงปี 2556 จากการปรับตัวของภาครัฐ เกิดภาคประชาสังคมจำนวนมาก เกิดกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายเข้าสู่การพูดคุยกันอย่างจริงจัง ภาคประชาชนออกมาเรียกร้องให้หยุดการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ความเข้มแข็งภาคประชาชนมีมากขึ้น เกิดความสนใจต่อปัญหาของประชาชนจากนอกพื้นที่ความขัดแย้งทั้งในพื้นใกล้เคียงและระดับประเทศ เกิดการสื่อสารความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหามากขึ้น จนคลี่คลายมาได้มากในปัจจุบัน”