สงขลา – ผู้แทนธนาคารโลก ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา พร้อมด้วยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สงขลา – ผู้แทนธนาคารโลก ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา พร้อมด้วยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3 กุมภาพันธ์ 2566 ที่บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา นายวีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่กรมทางหลวงชนบท (ด้านสำรวจและออกแบบ) นายชัยยุทธ เขียวจันทร์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 12 นำผู้แทนธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ลงพื้นที่ Site visit “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา” ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ณ ฝั่งเกาะใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดย ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และคณะร่วมต้อนรับ
โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นแนวสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา โดยเริ่มต้นจากแยกถนนทางหลวงชนบท พท.4004 ประมาณ กม. 3+300 บริเวณหมู่ 1 บ้านแหลมจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง แนวเส้นทางโครงการไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือข้ามทะเลสาบสงขลา มีจุดสิ้นสุดโครงการที่หมู่ 2 บ้านแหลมยาง ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา รวมระยะทาง 7 กิโลเมตร
ลักษณะโครงการเป็นงานก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาพร้อมถนนเชื่อมต่อกับถนนโดยรอบทะเลสาบสงขลามีขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจรช่องละ 4 เมตร ไหล่ทางด้านละ 2.50 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเครื่องหมายพื้นทาง (เส้นแบ่งทิศทางจราจรสีเหลือง)
รูปแบบสะพานประกอบด้วยสะพานคานขึงและสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ ความกว้างช่วงสะพานสูงสุด 140 เมตร และความสูงช่องลอดแนวดิ่งเหนือระดับน้ำทะเลสูงเท่ากับ 18 เมตร ความยาวโครงสร้างสะพานรวม 6.600 กิโลเมตร มีวงเงินค่าก่อสร้างรวม 4,841 ล้านบาท อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณแบ่งเป็น 70:30
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถพัฒนาโครงข่ายถนนให้สมบูรณ์มากขึ้น สามารถลดระยะในการเดินทาง ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งจากการขนส่ง การท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มช่องทางการค้าและการลงทุน ซึ่งจะนำสู่การเพิ่มจำนวนการจ้างงานในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพและส่งความช่วยเหลือเมื่อมีภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปลายปี พ.ศ. 2566 และแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2569
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างและตัวแทนชาวประมงได้ให้ความเห็นว่า การก่อสร้างสะพานเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอยมานานกว่า 30 ปี และคาดว่าเมื่อสะพานดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น การเดินทางระหว่างจังหวัดโดยรอบจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงมองเห็นโอกาสในอนาคตหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และการขยายด้านการขนส่ง การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งจะส่งผลดีตามมาอย่างแน่นอน
สำนักข่าวโฟกัส