Home » ข่าว » มัจจุราชเงียบ PM 2.5จากเชียงใหม่ถึงภาคใต้-สงขลา

มัจจุราชเงียบ PM 2.5จากเชียงใหม่ถึงภาคใต้-สงขลา

ปัญหา PM 2.5 สร้างผลกระทบวงกว้างและลึกกว่าที่คิดทั้ง นักเคลื่อนไหว นักวิชาการชี้ เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพพัง ยิ่งเล็กฝุ่นยิ่งอันตราย

นายบัณรส บัวคลี่ ฝ่ายสนับสนุนข้อมูลและผลักดันนโยบาย สภาลมหายใจภาคเหนือ/ศิษย์เก่าภาควิชารัฐประศาสน์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) กล่าวถึงปัญหาหมอกควันว่า เป็นช่วงเวลาวิกฤติ ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ภาคเหนือ แต่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น ที่ภาคอีสาน

“เชียงใหม่มีต้นทุนสูงมากด้านการท่องเที่ยว มีภาพลักษณ์ที่ดีด้านนี้ แต่ต้นทุนตรงนี้ได้ถูกทำลายไป เป็นการสูญเสียที่สูงมาก ซึ่งกว่าจะได้รับการยอมรับนั้นมีมูลค่าที่สูงมากในการแบรนดิ้งตัวเองให้เป็นเมืองที่น่ามาท่องเที่ยว ในช่วงฤดูร้อนของบ้านเรา มีเทศกาลใหญ่ๆ อย่าง Water Festival เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งหากเมืองใดจะสร้างการยอมรับขนาดนี้ก็ต้องทุ่มทุนมหาศาลทั้งเงินทุนและเวลาเพื่อให้เกิดความทรงจำที่ดีในการได้มาท่องเที่ยว” นายบัณรส กล่าว และว่า

4 -5 ปีมานี้ หากเราค้นคำว่า Burning Season in Thailand ก็จะมีคำว่าเชียงใหม่อยู่มากมาย และหากค้นหาในยูทูบ ก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาอยู่ในเชียงใหม่ทำคลิปออกมาในภาพลักษณ์ที่ไม่ชวนให้มาเที่ยวเชียงใหม่ นี่ก็เป็นการแบรนดิ้งในด้านลบ มูลค่าทางการท่องเที่ยวจึงหายไปอย่างมหาศาล เพราะเมื่อภาพลักษณ์เสียไปแล้วก็กู้คืนลำบาก

ช่วงสงกรานต์เชียงใหม่ที่ผ่านมาคึกคัก แต่ปรากฏว่าห้องพักว่างเพราะคนที่มาเที่ยวเป็นคนในท้องถิ่นเอง ไม่ใช่มาจากข้างนอกอย่างที่คาดหวัง

จากผลกระทบเรื่องฝุ่นควัน ซึ่งที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่าเชียงใหม่เสียอีก เพราะนักท่องเที่ยวจะหายไปหมด

“นี่เป็นอุทธาหรณ์ให้กับเมืองใหญ่ๆ ภาครัฐเองพยายามสร้างการสื่อสารทางบวก แต่มันก็ปิดไม่ได้ว่า มีปัญหา”

เมื่อ 3-4 ปีก่อน ชาวต่างชาติทำการวิจัยพบว่า ปัญหาฝุ่นควันมีผลอย่างมากที่ทำให้คนต่างชาติตัดสินใจไม่มาอยู่ระยะยาว ซึ่งมีผลต่อแผนที่วางไว้แล้วของจังหวัดที่ต้องการให้ต่างชาติมาพำนักระยะยาว ถือเป็นผลกระทบที่ใหญ่มากต่อการวางแผนกำหนดทิศทางของเมือง
วิกฤติที่หนักมากเป็นช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน

นอกจากนักท่องเที่ยวที่หายไปแล้ว ประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบหนักในการใช้ชีวิต ทำงานนอกบ้านแทบไม่ได้ เกิดบรรยากาศหดหู่มาก ปัญหานี้กระทบในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ฯลฯ

ปัญหาเกิดมาหลายปี แต่ภาครัฐไม่ค่อยเอาจริงจัง ไม่หยิบปัญหามาพูดคุยอย่างจริงจัง แต่มาในปีหลังมานี้เมื่อข้อมูลวิชาการออกมามากขึ้น ภาครัฐก็เริ่มรู้ว่าปัญหาเกิดจากการเผาป่าเป็นปัญหาหลัก การเผาเพื่อการเกษตรอันดับต่อมา ก็เริ่มชัดเจนขึ้น แต่การแก้ปัญหานี้ยากเนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขา ป่า ซึ่งแม้เห็นควันว่ามีไฟไหม้ความยาว 2 กิโลฯ แต่ก็ขึ้นไปดับไม่ได้ นี่เป็นความลำบากในทางปฏิบัติ

ในภาพรวมระดับภูมิภาค ประเทศพม่า กับลาวมีปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่าเยอะกว่าเรา บางส่วนก็อาจมาถึงบ้านเรา แต่ก็อยู่บนชั้นบรรยากาศที่สูงไม่เรี่ยลงมากระทบอากาศหายใจมากนัก ปัญหาส่วนใหญ่มาจากในบ้านเราเอง และเนื่องจากปัญหาฝุ่นควันจะเกิดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมาเมื่อหมดช่วงที่มีการเผาป่าก็จะลืมๆ ปัญหานี้ไป และไม่ได้ถูกแก้ไขจริงจัง แต่หลังจากนี้เราต้องพูดคุยรณรงค์เคลื่อนไหวกันมากขึ้น ไม่ให้ภาครัฐนิ่งเฉยกับปัญหานี้อีกเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว

“สงขลาเองมีปัญหานี้อยู่ในช่วงปี 58-60 เป็นหมอกควันข้ามแดนมาจากสุมาตรา แต่ในปีหลังๆ มาทางรัฐบาลประเทศอินโดนีเซียให้ความสำคัญปัญหานี้มากขึ้น ปัญหาจึงลดลงไป สิ่งที่ทางสงขลาควรให้ความสำคัญอีกส่วนคือ ผลกระทบทางธรรมชาติอื่นๆ เช่น ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม หมดเอลนิโญ ลานีญา กำลังจะมา ขณะนี้ประเทศสิงคโปร์ก็เริ่มป้องกันตัวเอง เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเมืองสงขลา หาดใหญ่ อาจได้รับผลกระทบ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาธรรมชาติที่มนุษย์เรามีส่วนอย่างมาก” นายบัณรส กล่าว

ดร.โฉมศรี ชูช่วย อาจารย์คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศของสงขลา หลักๆ เกิดจากมลพิษข้ามพรหมแดน หากเทียบกับภาคเหนือ ภาคใต้เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

“ไม่เฉพาะแต่สงขลา เมืองท่องเที่ยวตั้งแต่ภูเก็ต พังงา กระบี่ ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมาภาคเหนือมีปัญหามลพิษ PM 2.5 เป็นระยะเวลายาวนาน ผลกระทบก็มาถึงภาคใต้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการพัดพาของทิศทางลมที่บางครั้งมาทางภาคใต้ ดังนั้น มีปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ ภาคใต้บ้านเราก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน” ดร.โฉมศรี กล่าว และว่า

เราต้องเข้าใจว่าฝุ่นละอองมีหลายขนาด ยิ่งขนาดเล็กก็จะยิ่งอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานขึ้น และมีโอกาสถูกพัดพาได้ไกล เช่น PM 2.5 หรือ PM 0.1 แต่หากเป็นฝุ่นละอองขนาดใหญ่ หรือเป็น PM 10 ก็อาจจะถูกพัดพาไม่ไกลนัก ดังนั้น PM 2.5 และที่เล็กกว่านั้น จากภาคเหนือ หรือ จากอินโดนีเซีย ที่ระยะห่างกว่าสองพันกิโลเมตรก็มาถึงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางลม

“ฝุ่นควันยิ่งมีอนุภาคเล็กก็ยิ่งพัดพาได้ไกล และยิ่งเล็กมากเท่าไหร่ก็ยิ่อันตรายต่อสุขภาพประชาชนมากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อหายใจเข้าไปจะเข้าสู่ระบบเลือด เซลล์ต่างๆ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจ ฯลฯ ปัญหาฝุ่นควันจึงเป็นสาเหตุต้นๆ ของปัญหาสุขภาพประชาชน”

แม้ว่ามลพิษจากฝุ่นควันบ้านเราที่หนักเกิดจากมลพิษข้ามพรมแดนมาจากประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ไม่ได้เกิดทุกปี ที่หนักสุดและกระทบมากในปี 58-59 ฝุ่นควันพัดไปถึงจังหวัดพัทลุง เห็นฝุ่นควันชัดเจน ในขณะที่ตอนนั้นคือเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ทางภาคเหนือเป็นช่วงอากาศดี

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีแต่ปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ปัญหามลพิษทางอากาศยังเกิดจากกิจกรรมของเรา เช่น การจราจร การเผาไหม้ทางชีวมวล ฯลฯ

“ฝุ่นละอองมีหลายขนาด ทั้งที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น จากการเผาไหม้ขยะ เล็กลงมาเช่น PM 10 จะเริ่มมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และ PM 2.5 , PM 0.1 จะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเลย นอกจากมันจะรวมตัวกันหนาแน่น เป็นลักษณะม่านคล้ายหมอก ซึ่งเป็นควันพิษที่อันตรายมาก ยิ่งเล็กก็ยิ่งน่ากังวล ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทั้งยวดยานพาหนะ การเผาไหม้ชีวมวล การเผาขยะ โรงงานอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันทางอากาศ ฯลฯ โดยทุกกิจกรรมดังกล่าว สามารถก่อให้เกิดฝุ่นละอองได้ทุกขนาดตั้งแต่ขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กสุด” ดร.โฉมศรี กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *