คอลัมน์ PSU Alumni Talk โดย สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฉบับนี้ แวะมาคุยกับ “ดร.จุฑามาศ สุขบรรเทิง” นักคิดค้นและพัฒนายา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of Clinical Pharmacology and DMPK (Drug Metabolism and Pharmacokinetics)
ศิษย์เก่าดีเด่น ด้านประสบความสำเร็จในอาชีพและหน้าที่การงาน จากคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. รุ่น 2 ดร.จุฑามาศ เล่าว่า เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบมัธยมการศึกษาจากโรงเรียนสตรีวิทยา สายวิทยาศาสตร์ สอบเข้าเรียนที่คณะเภสัชศาตร์ ม.อ. ปี 2523 และได้เรียนที่นี่จนจบปริญญาตรี เกียรตินิยม อันดับ 1
ท่านคณบดีคณะเภสัชศาตร์ขณะนั้น ดร. สุนาลินี นิโครธานนท์ เมตตาให้ทุนการศึกษาเรียนต่อปริญญาโท ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเภสัชศาตร์วิเคราะห์ จบแล้วได้กลับไปใช้ทุนเป็นอาจารย์ สอนที่คณะเภสัชศาตร์ ม.อ. ภาควิชาเภสัชศาตร์เคมี 3 ปี หลังจากนั้น ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่อเมริกา ณ University of Arizona สาขา Pharmacokinetics จบปี คศ. 1997 หรือ พ.ศ. 2540 ดร. จุฑามาศ มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี ในบทบาท Pharmacokineticist ในการคิดค้นและพัฒนายาใหม่ ในอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพและยา ระดับนานาชาติ และเป็นเภสัชกรไทยที่ประสบความสำเร็จระดับ Executive level ในบริษัทยาระดับโลก
ทั้งยังมีส่วนร่วมในการพัฒนายาใหม่ 3 ตัว ที่ได้รับอนุญาตจาก US FDA ให้ออกมาขายในตลาดได้ ยาตัวแรกคือ SUTENT เป็นยาที่เริ่มวิจัยเมื่อเข้าทำงานครั้งแรกที่บริษัท SUGEN ช่วงพ.ศ. 2540-46 แผนก Phamacokinetics มีส่วนร่วมที่สำคัญ ในการวิจัยในสัตว์ทดลอง ปัจจุบัน ยาตัวนี้ใช้รักษาโรคมะเร็งที่เรียกว่า gastrointestinal stromal tumor (GIST), advanced renal cell carcinoma (RCC), pancreatic neuroendocrine tomors (pNET) “ยานี้จัดจำหน่ายโดย Pfizer ช่วงที่ทำงานที่ SUGENT ได้เลื่อนตำแหน่ง 3 ครั้ง ภายใน 6 ปี จาก Associate Scientist เป็น Senior Group Leader ได้รับรางวัล STAR AWARD ปี 2542 ในฐานะพนักงานดีเด่นทางด้านการวิจัยสนับสนุน Discovery Program” ยาตัวที่ 2 คือ Horizant เป็นผลงานตอนทำงานที่บริษัท XenoPort ช่วง พ.ศ. 2549-54 แผนก Clinical
Pharmacology, Pharmacokinetics and ADME (Absorption, Distribution, Metabolism and Excretion)
มีส่วนร่วมในการพัฒนายาตัวนี้ใน Clininal Phase คือ ศึกษาในคนไข้ Horizant เป็นยาที่ใช้รักษาโรคทางระบบประสาท ที่เรียกว่า restless leg syndrome เข้าทำงานเริ่มในตำแหน่ง Principal Investigator ได้เลื่อนตำแหน่ง 2 ครั้ง ใน 5 ปี จนถึงระดับ Director
ยาตัวที่ 3 คือ Imbruvica เป็นผลงานตอนทำงานที่บริษัท Pharmacyclics/AbbVie พ.ศ. 2554-64 แผนก Clinical Pharmacology/DMPK ในตำแหน่ง Senior Director ได้เลื่อนตำแหน่ง 2 ครั้ง ภายใน 4 ปี จนถึงระดับ Head of Department เป็นผู้นำในการพัฒนายาตัวนี้ทางด้าน Clinical Pharmacology จนถึง การ submit NDA (new drug application) ให้กับ FDA ของอเมริกา และประเทศต่างๆ ทั่วโลก “Imbruvica เป็นยารักษามะเร็งในต่อมน้ำเหลือง ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ใน 6 โรค ปัจจุบันเป็นหนึ่งในยา top 10 ที่มียอดขายที่ดีที่สุดในอเมริกา”
ผลงานที่ภูมิใจคือ ช่วงพัฒนายา Imbruvica ซึ่งมีกลไกในการออกฤทธิ์ต่างไปจากยาต้านมะเร็งเก่า ๆ และช่วยให้คนไข้ไม่ต้องใช้ยาคีโม ปัจจุบัน ยานี้เป็น first line of treatment สำหรับมะเร็งหลายชนิด และได้ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งมากมายช่วงที่พัฒนายานี้ ได้รับ 2 รางวัล จากบริษัท AbbVie รางวัลแรก AbbVie Celebration of Science Award ซึ่งมอบให้ scientists ในบริษัทที่มีผลงานดีเด่น
ทางด้าน Research and Development รางวัลนี้ ได้รับร่วมกับทีมอุตสาหกรรม ที่พัฒนายา Imbruvica จากที่ผลิตออกมาจำหน่ายตอนแรก เป็นแบบแคปซูล ซึ่งคนไข้ต้องทาน 3-4 แคปซูลต่อวัน เป็นยาเม็ดและทานแค่ครั้งละ 1 เม็ดต่อวัน รางวัลที่ 2 เป็นรางวัลสูงสุดของบริษัทที่เรียกว่า Chairman’s Award ซึ่งได้รับร่วมกับ Clinical team ส่วนร่วมในรางวัลนี้คือ ให้การ support ทางด้าน Clinical Pharmacology จนยาได้รับ approval ให้ใช้
ในการรักษา chronic graft versus host disease (cGVHD) การรักษาของโรคนี้ค่อนข้างยุ่งยากเพราะต้องใช้ร่วมกับยาอื่นๆ เนื่องจาก Imbruvica เป็นยาที่ถูกทำลายโดยเอ็นไซม์ในตับ ที่เรียกว่า CYP450 3A4
ปริมาณการใช้ยา Imbruvica ต้องปรับให้ลดลง ถ้าร่วมใช้กับยาที่สามารถกดเอ็นไซม์ตัวนี้ได้
“ส่วนสำคัญที่ทำให้เราก้าวหน้า ความรู้ การทำงานหนัก หรือคอนเน็คชั่น ทั้ง 3 factors มีผลต่อ
ความเจริญก้าวหน้าของเรา” ดร. จุฑามาศ กล่าว และว่า
วิชาความรู้และความขยัน จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราสามารถพิสูจน์ตัวเองให้กับผู้ร่วมงานและผู้บริหารได้ว่า ศักยภาพของเรามีมากแค่ไหน
“สิ่งใดที่ไม่รู้ ต้องรู้จักขนขวาย และใฝ่หาความรู้ ใหม่ๆ ต้องทันกับเทคโนโลยีและข้อมูลใหม่ๆ ที่มีการคิดค้นและรายงานออกมาทุกๆ ปี”
นอกจากความขยัน เราต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราเป็นคนที่น่าเชื่อถือ และช่วยให้เราเป็นที่ยอมรับในแวดวงของการทำงาน
ในวงการการพัฒนายา ผลการทดลองสารตัวใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ผล แต่เราต้องรายงานและยอมรับข้อมูลนั้นๆ ไม่มีการแก้ไขข้อมูลให้ดีขึ้นเกินความจริง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้ปรับปรุงคุณสมบัติของสารใหม่ๆ ให้ดีขึ้นจนได้ยาที่มีคุณภาพ
การมี connection ก็สำคัญมากในแวดวงการทำงาน ช่วยให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้ หรือมีที่ปรึกษา ในแง่ของชีวิตการทำงานก็ช่วยให้เราได้เติบโตในหน้าที่การงาน หรือเปลี่ยนงานได้ง่ายถ้าเรามี connection ดีๆ
เนื่องจากตัวเองทำงานเกี่ยวกับพัฒนายาใหม่ทางด้านยาต้านมะเร็ง คงจะพูดได้ว่าในทางด้านนี้ มีวิวัฒนาการการคิดค้นยาใหม่ๆ ไปไกลมาก โดยหวังว่าวันนึงเราจะสามารถ รักษาโรคนี้ให้หายขาดได้และเนื่องจากเซลล์มะเร็งจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม mutate ไปเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด ทำให้ การคิดค้นสารใหม่ๆ ในอนาคตก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ผนวกเข้ากับวิธีการที่จะควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยาใหม่ๆ ก็จะมีกลไก ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ดร. จุฑามาศ กล่าวต่อว่า เราคงจะคุ้นเคยกับการใช้คีโมในผู้ป่วยมะเร็งและทราบผลข้างเคียงของยาเป็นอย่างดี ยานี้ก็ยังเป็น first line of treatment อยู่ในมะเร็งบางประเภท การคิดค้นยาใหม่ในปัจจุบัน บางบริษัทจะเปลี่ยนการคิดค้นยาจากที่มีผลต่อการฆ่าเซลล์มะเร็งอย่างคีโมไปเป็นการหายาที่จะไปกั้นการเจริญเติบโตของเซลล์แทนโดย block pathway ที่เซลล์ต้องใช้ในการอยู่รอด ยาประเภทนี้ผลข้างเคียงจะแตกต่างจากคีโม หรืออาจจะน้อยกว่ายาคีโม ยาบางประเภทอาจจะมีผลกระตุ้นต่อระบบภูมิต้านทานให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง
หรือสารตัวใหม่ๆ ที่ใช้เป็นยาก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น จากที่ยาตัวนึงจะ block target ได้ target เดียว ปัจจุบันนี้นักเคมีจะพยายามสร้างสารใหม่ๆ ที่สามารถ block หลายๆ target ได้ในสารตัวเดียว ตัวอย่างยาพวกนี้ เช่น เปลี่ยน จาก monoclonal antibody เป็น bispecific, trispecific เป็นต้น โดยหวังผลว่ายาประเภทนี้ จะตอบโจทย์การรักษาที่ดีกว่า
ยังมียาอีกรูปแบบที่เรียกว่า ADC หรือ antibody drug conjugate อันนี้จะใช้ antibody เป็นตัวพาโมเลกุลยาที่เป็นพวกคีโมไปที่เซลล์มะเร็งโดยตรง ได้ผลดี แต่ ADC ที่ดีต้องปลดปล่อยยาในเซลล์มะเร็งโดยตรง ถ้าปลดปล่อยนอกเซลล์ หรือในกระแสเลือดก็จะมีผลข้างเคียง การพัฒนายามะเร็งหลากหลายเหล่านี้ บริษัทยาต่างๆ มีจุดประสงค์ร่วมกันว่า สักวันหนึ่งเราจะมียาที่ปลอดภัย ที่จะสามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ และคนไข้จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ทาง clinical Pharmacology, FDA ของอเมริกามีนโยบายใหม่ๆ หวังที่จะปรับปรุง ขบวนการศึกษาและพัฒนายาใหม่ในสาขาต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง โปรเจคที่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ชื่อ
Optimus ซึ่งเริ่ม promote มา 2-3 ปีแล้ว เรียกร้องให้บริษัทยา เวลาทำการวิจัยศึกษายาใน clinical phase ให้ทดสอบใช้ระดับยา หลายๆ ระดับ เพื่อหาระดับยาที่ใช้น้อยที่สุด แต่ยังเห็นผล และไม่มีผลข้างเคียงก่อนที่จะเลือกระดับยา ไปศึกษาต่อใน Phase 3 FDA การทำอย่างนี้ เพราะต้องการป้องกันการใช้ยาในระดับที่สูงเกินความจำเป็น (over treatment) เพื่อเพิ่ม ความปลอดภัยในการใช้ยาให้มากที่สุด จากที่เมื่อก่อนการพัฒนายาต้านมะเร็ง แพทย์มักจะเลือกใช้ dose ที่สูงที่สุด โดยมีความเชื่อว่าเพื่อให้แน่ใจว่าจะควบคุมมะเร็งได้ ซึ่งก็จะมีผลข้างเคียงตามมาด้วย AI artificial intelligence ก็เริ่มถูกนำเข้ามาใช้ใน
บริษัทยาในหลายๆ ส่วนงาน ตั้งแต่ drug discovery and development, clinical trials, personalized medicine, drug safety ช่วยให้การพัฒนายาใช้เวลา น้อยลง สามารถ predict ผลของยา หรือผลข้างเคียงของยา จากข้อมูลทางพันธุกรรม genetics, ทางการรักษา, และสิ่งแวดล้อมได้ ในอนาคตเราคงจะได้เห็นการใช้ AI อย่างเต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของการวิจัยยา และพัฒนายาใหม่
“อยากเห็นประเทศไทยมีการลงทุนส่งเสริมการผลิตยาในอีกระดับนึง ปัจจุบันวงการยาบ้านเราจะเป็นแค่เอายาที่อนุญาตให้ขายได้แล้วจากประเทศอื่นแล้วมาผลิต เราต้องเริ่มสร้างบุคลากรและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีในการคิดค้นยาใหม่”
กระบวนการนี้อาจจะใช้เวลา แต่ก็จำเป็น เพราะเรายังตามหลังประเทศอื่นๆ อีกมาก ดูจากการ
พัฒนายาในประเทศจีนเป็นตัวอย่าง เขาก้าวไปไกลมาก รัฐบาลของเขาก็มีส่วนสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนายาในประเทศ ตอนนี้มียารักษามะเร็งใหม่ๆ ที่คิดค้นมาจากประเทศจีนอย่างมากมาย
เราอาจจะเห็นข่าวในเมืองไทยว่า มีการค้นพบสารใหม่ๆ ในการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งดี แต่บางครั้งข่าวจะบรรยายเกิน ศักยภาพของสารตัวนั้น การเห็นผลในหลอดทดลองเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่จะให้เห็นผลรักษาในคนนั้น ยังต้องผ่านการทดสอบหลายกระบวนการและหลายปัจจัย กว่าจะนำมาใช้ในการรักษาได้ การให้ความรู้ให้ความเข้าใจในระบบการพัฒนายา จะช่วยให้หลายๆ คนเข้าใจ และพิจารณาข่าวสารอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ดร. จุฑามาศ กล่าวด้วยว่า ประสบการณ์การเป็นศิษย์เก่าคณะเภสัช ม.อ. รุ่นแรกๆ มีส่วนช่วยในการพัฒนาตัวเองเป็นอย่างมาก การเป็นรุ่นบุกเบิก รุ่นแรกๆ ของคณะ พวกเราเติบโตไปพร้อมๆ กับคณะการเรียนการสอน หรือเครื่องมือต่างๆ ในขณะนั้น ยังไม่ค่อยพร้อม ท่านคณบดี “อาจารย์สุนาลินี” ท่านรักคณะและลูกศิษย์ของท่านเป็นอย่างมาก ท่านเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาสอนพวกเราแบบเข้มข้น
แม้ในระยะเวลาสั้นๆ พวกเราต้องตั้งใจเรียนและปรับตัวให้พร้อมกับโอกาสที่มีอยู่นั้นและต้องพยายามที่จะเรียนรู้ให้มากที่สุด
ด้านกิจกรรม รุ่นแรกๆ มีจำนวนนักศึกษาน้อยมาก นอกจากการเรียนแล้ว พวกเรายังต้องเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างของทั้งของคณะและมหาวิทยาลัย เสมือนการเรียน ก็ต้องเด่นกิจกรรมก็ต้องได้
“จากประสบการณ์ที่ unique เหล่านี้ ทำให้ทุกคนพยายามที่จะรู้จักขนขวายและปรับตัว และสามารถนำประสบการณ์นั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ความสำเร็จของพวกเราทุกคนในทางสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเภสัชศาสตร์ หรือแตกยอดไปทำกิจการอื่นๆ อย่างประสบผลสำเร็จ ก็
เป็นเครื่องยืนยันในคำกล่าวนี้ได้” ดร. จุฑามาศ กล่าว