Home » ข่าว » กระทรวงอว.ประชุม “ขับเคลื่อนงาน อววน.สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานีฯ”

กระทรวงอว.ประชุม “ขับเคลื่อนงาน อววน.สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานีฯ”

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การขับเคลื่อนงาน อววน.สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานี เพื่อความเป็นเลิศและความมั่นคงของชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ที่ ห้องประชุมปริชญากร ชั้น 4 อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การขับเคลื่อนงาน อววน.สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานี เพื่อมอบนโยบายด้านการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น พร้อมติดตามสถานะของผลการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนรับฟังความต้องการและโจทย์วิจัยจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมิติด้าน well-being และมิติด้าน ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนียว อว.ส่วนหน้าจังหวัดปัตตานี กล่าวสรุปการพัฒนาโครงการด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี มีผู้บริหารส่วนงานสำนักปลัดกระทรวง อว. ผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้ง 3 จังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการ คณะนักวิจัยและภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม

แพทย์หญิงเพชรดาว ได้กล่าวถึง การขับเคลื่อนงาน อววน.สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานี ว่า กระทรวง อว. มีภารกิจในการขับเคลื่อนการนำองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศให้ดีขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการนำศักยภาพของจังหวัดมาผนวกกับองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มาจากฐานความรู้แบบบูรณาการศาสตร์ข้ามศาสตร์ของสถาบันการศึกษา แต่สถาบันการศึกษานพื้นที่จะทำงานพัฒนาไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากกลไกภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ ที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มศักยภาพทั้งกำลังคนและกำลังการผลิตในภาคต่าง ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นให้ครัวเรือนและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

กระทรวง อว. โดยการนำของรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนากำลังคนขั้นสูง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ทั้งการUpskill/Reskill/Newskill/Changemaker Skill) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต Live Long Learning และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางแรงงานและอาชีพในอนาคต ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะโดดเด่น ภายใต้สภาพสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม อว. จึงได้มีการจัดทำแผนงาน/โครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะ อาทิ การบริการจัดการด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิมเชื่อมโยงดาราศาสตร์มุสลิม โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ชายแดน การยกระดับการผลิตด้านสินค้าปศุสัตว์ การพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น เป็นต้น กระทรวง อว.กำหนดทิศให้สถาบันอุดมศึกษามีการปฏิรูประบบการบริหาร ปรับเปลี่ยนหลักสูตร และการเรียนการสอนให้ทันสมัย เหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ สร้างจุดต่างตามความถนัดและมีความหลากหลายตามพันธกิจและความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการนำ อววน. ไปสู่การพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนต่อไป

ด้าน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงการทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดปัตตานี และม.อ.ปัตตานี ว่า จังหวัดปัตตานี และ ม.อ.ปัตตานีทำงานร่วมกันในทุกด้านเพื่อร่วมพัฒนาจังหวัดปัตตานี ทั้งงานในพื้นที่ ระดับท้องถิ่น ท้องที่ ไปจนถึง การร่วมทำแผนพัฒนาจังหวัดปัตตานีด้วยศักยภาพของสถาบันการศึกษาที่มีอาจารย์ มีนักวิจัย มีองค์ความรู้ศาสตร์สาขาต่าง ๆ ผนวกกับการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งของกลไกจังหวัดทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ด้วยความร่วมมือนี้ ดิฉันจึงมีความเชื่อมั่นว่าจังหวัดปัตตานีจะพัฒนาไปได้ในทุกด้าน จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เมื่อปีที่แล้วนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนจังหวัดของเรา และมอบนโยบายเพื่อการพัฒนาจนเกิดแผนการทำงานต่อเนื่องตามมาหลายด้าน ทั้งด้านการพัฒนาบนฐานทุนทรัพยากรของจังหวัดชายแดนใต้ และการพัฒนาพื้นที่ตามอัตลักษณ์ของสังคมพหุวัฒนธรรม สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานที่เกิดจากการพัฒนาทั้งสองด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การสร้างรายได้บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ที่ทั้งรักษาคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่

โอกาสนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ชายแดน สินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี ทุนการศึกษากองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน (กสค.) และ ทุนการศึกษากองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กขค.) และโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ม.อ.ปัตตานีและมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นอกจากนั้นภายในกิจกรรมมีเวทีเสวนา เรื่อง “มีทุน มีงาน” ภายใต้หัวข้อเรื่อง แรงงานที่ต้องการ หรืออาชีพในอนาคตของจังหวัดปัตตานี และ แนะนำแหล่งทุนของ อว. ก่อนรับฟังข้อเสนอความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาและคุณภาพชีวิต (สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่ต้องการแนวทางการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์) และฟังสรุปรับข้อเสนอความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาและคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญตามนโยบายของกระทรวง อว. ในการให้สถาบันการศึกษามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อความเป็นเลิศและเพื่อความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้การเกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

ภาพ/ข่าว
มะอายือมิง สาแล๊ะ
บดินทร์ เบญจสมัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *