Home » ข่าว » ป.ตรีอาชีวฯโชว์ผลงานวิจัย! ค่าเทอม4หมื่น8รุ่นจบ221คน​

ป.ตรีอาชีวฯโชว์ผลงานวิจัย! ค่าเทอม4หมื่น8รุ่นจบ221คน​

“สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3” เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ประกวดผลงานวิจัยนวัตกรรม สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาตรี

22 มีนาคม 2566 สถาบันการอาชีวศึกษา ภาคใต้ 3 จัดงานประชุมวิชาการและประกวดผลงานวิจัย นวัตกรรมเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ ระดับสถาบัน ครั้งที่ 4 มี นายประเสริฐ แก้วเพ็ชร นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 เป็นประธาน พร้อมด้วยภาคส่วนที่​เกี่ยวข้อง​เข้าร่วม ณ ห้องประชุมนพเก้า สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 ในรูปแบบ On-Site และระบบออนไลน์

สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฎิบัติการ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 8 รุ่น โดยปีการศึกษา 2565 มีผู้สำเร็จ

การศึกษา 221 คน ซึ่งตามโครงสร้างของหลักสูตร ผู้สำเร็จการศึกษาต้องประมวลความรู้ที่เรียนในลักษณะโครงงานและนำไปเผยแพร่ในรูปแบบประชุมวิชาการและคัดเลือกผลงานไปประกวดในระดับชาติ เพื่อสอดคล้องตามโครงสร้างของหลักสูตร

การประชุมวิชาการครั้งนี้ มีผลงานนักศึกษาระดับปริญญาตรี นำเสนอในแต่ละกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านอุตสาหกรรม 31 ชิ้น, กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการศึกษาและสังคม 16 ชิ้น และกลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรม ด้านคหกรรม อาหาร เกษตรและประมง ศิลปกรรม 10 ชิ้น

โดยนำเสนอผลงานในเวทีระดับสถาบันทางวิชาการ การบรรยาย และนำเสนอภาคโปสเตอร์ เพื่อกระตุ้น และสร้างบรรยากาศการวิจัยและนวัตกรรมของนักศึกษาปริญญาตรี เพื่อเผยแพร่ผลงงานและนวัตกรรมของนักศึกษาให้แพร่หลายมากขึ้น

ทั้งเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนผลงานและข้อมูลวิจัย และนวัตกรรมระหว่างนักศึกษาในสถาบัน รวมถึงเพื่อให้เกิดการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ในสถาบัน และเพื่อพัฒนาคุณภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมของนักศึกษา ปริญญาตรี

นายประเสริฐ แก้วเพ็ชร กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่มาเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการและประกวดผลงานวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลโลยีและสิ่งประดิษฐ์ ระดับสถาบัน ครั้งที่ 4 ขอชื่นชมและขอแสดงความยินดีต่อนักศึกษาปริญญาตรี

การประชุมวิชาการและประกวดผลงานวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ เป็นการพัฒนาผลงานจากรายวิชาไปสู่งานวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศ (ไทยแลนด์ 4.0) โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนผลงานข้อมูลผลวิจัย/นวัตกรรมในสาขาต่าง ๆ

“หวังว่าการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีในการพัฒนา ผลวิจัย/นวัตกรรมในศึกษารุ่นต่อไป”​ นายประเสริฐ กล่าว และว่าลักษณะเด่นของหลักสูตรปริญญาตรี สถาบันการอาชีวศึกษาฯ จัดรูปแบบระบบทวิภาคี ปริญญาตรี เรียน 2 ปี โดย 2 เทอมอยู่ในสถานศึกษา อีก 2 เทอม อยู่ในสถานประกอบการ

“เมื่อก่อน ด้วยค่านิยมทางสังคมว่าต้องจบปริญญาตรี คนที่จบสายอาชีพระดับปวส.จำนวนมากไปเรียนปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ ไม่ได้ต่อ ยอดในสาขาเดิม สถาบันฯจึงจัดหลักสูตรต่อเนื่องขึ้นมา ให้เขาได้เรียนไปด้วย และทำงานไปด้วย อีกทั้งคิดค่าหน่วยกิตต่ำมาก โดยเน้นให้ผู้ศึกษาต่อมีจุดเด่นทางด้านทักษะ และได้ทฤษฎีหรือมีหลักวิชาการด้วย” นายประเสริฐ กล่าว และว่า

ที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการเรียนราคาถูก เฉลี่ยไม่เกินเทอมละ 10,000 บาท หรือตลอดหลักสูตร 40,000 บาท ผู้ศึกษาต่อส่วนใหญ่จะทำงานในสถานประกอบการที่มีความร่วมมือกับสถาบันอยู่แล้ว ปัจจุบันสถาบันฯ มีนักศึกษา 517 คน

ขณะเดียวกัน สถาบันฯ ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เป็นภาคีร่วมออกแบบรวมกันอาจารย์ประจำสาขาวิชานั้นได้ด้วย รวมถึงการประเมินผลร่วมกัน ซึ่งกรณีนี้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใดต้องการเข้าร่วมเป็นภาคีกับสถาบันฯ ก็สามารถมาติดต่อที่ได้

“ตั้งแต่เปิดดำเนินการมาได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งจากผู้ศึกษาต่อและสถานประกอบการที่เป็นภาคี จากรุ่นแรกที่สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 มีนักศึกษารุ่นแรก 50 คน และมีนักศึกษาเพิ่มขึ้่นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมี 517 คน เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 284 คน และปีที่ 2 จำนวน 233 คน สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 ประกอบด้วย 9 วิทยาลัยคือ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ วิทยาลัย เทคนิคปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคยะลา วิทยาลัยเทคนิคสตูล วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี และวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี

เปิดสอนระดับปริญญาตรี 9 สาขาคือ วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี เปิดสอนสาขาเทคโนโลยีไฟฟ้า เทคโนโลยียานยนต์ และเทคโนโลยีก่อสร้าง วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี เปิดสอนสาขาเทคโนโลยีอาหารและโภชนาการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี เปิดสอนสาขาเทคโนโลยีแปรรูปสัตว์น้ำ วิทยาลัยเทคนิคยะลา เปิดสอนสาขาเทคโนโลยีไฟฟ้า กับเทคโนโลยียานยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา เปิดสอนสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เปิดสอนสาขาเทคโนโลยีไฟฟ้า เทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยียานยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา เปิดสอนสาขาการบัญชี และวิทยาลัยเทคนิคสตูล เปิดสอนสาขาการตลาด

นางสาวจีระภา เพ็ชรจำรัส นักศึกษาสถาบันการอาชีวภาคใต้ 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา สาขาการบัญชี กล่าวว่า เหตุผลที่มาเลือกเรียนที่นี่เพราะเรียนเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ เหมาะสำหรับคนที่ทำงานไปด้วย บวกกับค่าใช้จ่ายน้อย

“ผลงานวิจัยที่นำเสนอในวันนี้ การศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประชาชนในตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลังจากให้ความรู้ ก็ให้ทำแบบสอบถาม จำนวน 30 ข้อ และนำผลที่ได้มาประเมินว่า ประชาชนมีความรู้ระดับไหน ผลประเมินที่ได้ 21.84 อยู่ในระดับดี”

ขณะที่ นางสาววรรณรดา เทพรักษ์ ซึ่งทำวิจัยร่วมกันกับ นางสาวจีระภา เพ็ชรจำรัส เผยว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ บางคนยังมีความรู้อยู่ในระดับน้อย ทั้งกิจการร้านค้า ตนได้ทำงานสำนักงานบัญชี ก็มีคนเข้ามาปรึกษา กรณีที่สรรพากรเรียกไปพบ ก็ให้คำแนะนำในการจัดการระบบบัญชีที่ถูกต้อง

นายทัตพงศ์ จันทเลิศ นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการผลิต วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เผยว่า ที่เลือกเรียนสถาบันอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 ที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ว่า ป.ว.ช,และป.ว.ส เรียนที่นี่มาโดยตลอด ที่สำคัญคือรียนตรงสาย เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด

สำหรับโครงงานวิจัยที่ทำชื่อ โครงการการสร้าง และหาสมรรถนะการทำงานของเครื่องพาวเวอร์ยูนิตเป็นเครื่องที่ส่งสินค้า ยกสินค้า ยกของหนักๆ โดยไม่ต้องใช้แรงคนนั้น สิ่งที่สามารถนำไปต่อยอดได้คือ นำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงงานอื่นๆได้ เครื่องนี้สามารถยกของหนักได้ถึง 100 ตัน

ทั้งนี้ ผลงานที่นักศึกษานำเสนอ ทั้งสิ้น 57 ชิ้น อาทิเช่น โครงการใช้เทคโนโลยีการแช่เยือกแข็งต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลา, โครงการพัฒนาถังเติมน้ำมันเกียร์และเฟืองท้ายด้วย, โครงการพัฒนาเครื่องอัดฉีดล้างแอร์แบบพกพา, โครงการตู้อบบัสบาร์ทองแดง, โครงการสร้างและหาสมรรถนะการทำงานของเครื่องพาวเวอร์ยูนิต, โครงการปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกซื้อกาแฟสดของผู้บริโภคที่ใช้บริการร้านกาแฟ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา, โครงการเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ, โครงการการสร้างและหาประสิทธิภาพเครื่องร่อนบูลไส้เดือน, โครงการแอปพลิเคชั่นวิเคราะห์ความเที่ยงตรงของมิเตอร์ไฟฟ้าแบบจานหมุน, โครงการพัฒนาระบบเเจ้งซ่อมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *