ที่ปรึกษารมว. แรงงานประชุมรับทราบผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมอาชีพของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ภายใต้ J Job โมเดลยกระดับชีวิตคนนราธิวาส พร้อมผลักดันและสนับสนุนแพทย์ที่ขาดแคลน
ที่ห้องประชุมสภาสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกรทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมรับทราบผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมอาชีพของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีนายนัจมุดดีน อูมา ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการ พัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งปัจจุบันดำเนินโครงการเป็นปีที่ 4 ประกอบไปด้วย 3 โครงการ คือ โครงการการยกระดับพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ด้วยการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ภายใต้ MAJU-JAYA MODEL, โครงการพัฒนานวัตกรรมโมเดลแก้จนเร่งด่วนจากผลกระทบภัยพิบัติ กรณีจังหวัดนราธิวาส, โครงการ J Job โมเดล การพัฒนาแพลตฟอร์มจ้างทักษะแรงงานออนไลน์ ในรูปแบบโมบายแอพพลิเคชัน เพื่อเพิ่มโอกาสและ ลดช่องว่างการเข้าถึงการพัฒนาทักษะอาชีพ ทั้ง 3 โครงการมีความมุ่งมั่นเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพ เพื่อบูรณาการงานที่เป็นภารกิจหลักในการส่งเสริม และสนับสนุนการวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคใต้ตอนล่าง และ ภาคีเครือข่าย
โดยได้พัฒนาโมเดลแก้จนฟื้นฟูและสร้างทักษะอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือนยากจนในจังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ภัย พิบัติ ประกอบด้วย 3 อำเภอ จำนวน 1,400 ครัวเรือน คือ อำเภอระแงะ 270 ครัวเรือน อำเภอจะแนะ 270 ครัวเรือน และ อำเภอสุคิริน 840 ครัวเรือน โดยมีกิจกรรม ทักษะการเดินสายไฟภายในบ้าน 300 ครัวเรือน การซ่อมแซมงานก่อสร้าง บ้านเรือน 600 ครัวเรือน อาหารฮาลาลปรุงสำเร็จรูป 300 ครัวเรือน และซ่อมแซมจักรยานยนต์และเครื่องมือทางการเกษตร 200 ครัวเรือน อีกทั้งพัฒนาแพลตฟอร์ม JJob จ้างทักษะแรงงานออนไลน์ ในรูปแบบโมบายแอพพลิเคชัน เพื่อเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างการเข้าถึงการพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมการสร้างรายได้ระดับครัวเรือน เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวให้มีความสุขได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทางด้านนายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกรทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้มีความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม ในด้านต่างๆมาโดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อการสร้างบัณฑิตและการพัฒนากำลังคนแบบมุ่งเน้นทักษะและสมรรถนะสำหรับการเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศไทย โดยดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพบริษัทเอกชน และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักเรียน นักศึกษา สามารถพัฒนาฝีมือแรงงานระหว่างเรียนตามระบบธนาคารหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา และมีความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานในการเพิ่มทักษะ การพิจารณาทบทวนทักษะ รวมทั้งการเรียนรู้ทักษะใหม่ ที่จำเป็นของตลาดแรงงานและโลกยุคใหม่หรือที่เรียกว่า Upskill – Reskill – Newskill และการจัดทำหลักสูตรที่สามารถปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานให้ผู้เรียนมีทักษะที่สอดคล้องกับการทำงาน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีความพร้อมสำหรับการทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทยในอนาคต
โดยสถาบันอุดมศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคม โดยในส่วนของจังหวัดนราธิวาส ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานักศึกษาจบใหม่ ที่เป็นบัณฑิตแรงงานและมีส่วนร่วมในดำเนินงานของศูนย์แรงงานประจำอำเภอต่างๆในจังหวัดนราธิวาส ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ส่งเสริมการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ในชุมชนได้มากยิ่งขึ้นเพื่อการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงแรงงานให้ประชาชนในท้องถิ่น มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยหลักของกระทรวงแรงงานภายใต้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถ้าหากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ขาดแคลนคณะแพทย์ ทางกระทรวงแรงงานพร้อมที่จะผลักดันในด้านภาคการศึกษาที่จะขับเคลื่อนในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น ซึ่งการศึกษาต้องใช้เป็นอย่างมาก