“บ้านแขนขาด” มองการเมืองผ่านแว่นวรรณกรรม(เสียดล้อ)
เวทีการเมืองเริ่มรณรงค์ โพลทุกสำนักแสดงปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นในช่วงหลายปีของบ้านเรา ความนิยมต่อพรรคการเมืองเก่าแก่เปลี่ยนไปในภาพกว้าง ในทางกลับกันพรรคที่เคยถูกมองข้าม ถูกชิงชังกลับประกาศขึ้นท้าแข่งอย่างเสมอหน้า
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ หาญสู่เวทีการเมืองมากขึ้น ริมทางสัญจรสายตาต้องปะทะกับป้ายใบหน้าและข้อความสวยหรูอย่างไม่มีทางเลี่ยงหรือหลบได้เลย แล้วที่เห็นคล้ายกันก็คือ แทบทุกคนทุกพรรคชูนโยบาย “ประชานิยม” อย่างพร้อมเพรียง ต่างก็พร้อมจะทุ่มงบมหาศาลเพื่อการนี้ (แต่ที่แปลกก็คือ ไม่มีใครบอกว่าจะหาเงินมาจากไหน?)

การเมืองภาคใต้ไม่เคยมีสีสันเหมือนวันนี้
กล่าวเฉพาะในความเป็นนักการเมืองแต่อดีตจนปัจจุบันมีพัฒนาการเช่นไร หลายคนบอก ไม่เปลี่ยน! หนำซ้ำอาจแย่กว่าเดิม ด้วยระบบ “ธนาธิปไตย” ที่มักเบ่งบานเฉพาะแต่ฤดูเลือกตั้ง
“บ้านแขนขาด” เป็นเรื่องสั้นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นเอตทัคคะทางการประพันธ์ที่หาผู้เสมอได้ยาก ด้วยความรอบรู้อย่างลึกซึ้งเรื่อง “การเมืองและคน”
“หม่อมคึกฤทธิ์” จึงมักได้รับความสนใจจากผู้อ่านเสมอด้วยมีลีลา “เฉพาะตัว” ยิ่งงานเขียนที่เกี่ยวข้องการเมืองก็ยิ่งจะมีรสชาติต่างจากนักประพันธ์ท่านอื่น
เรื่อง “บ้านแขนขาด”นี้เล่าโดย “หมอบุญส่ง” ตัวเอกในเรื่อง
หมอเล่าว่า จากความหน่ายที่ตนไปมีชื่อตรงกับคุณหมอท่านหนึ่งที่ลือนามว่าเป็นนักนิยมไพร ทำให้มักถูกคนไข้เข้าใจผิดและรบเร้าขอความรู้เรื่องพงไพรบ่อยจนไม่อาจทนได้อีก อย่ากระนั้นเลย ตนจึงชวนเพื่อนๆ เข้าป่าล่าสัตว์เสียให้หายฉิว
แต่ครั้นเข้าป่าเจ็ดวันผ่านไป นักล่ามือใหม่ก็ยังไม่ได้สัตว์ล่าแม้แต่สักตัวเดียว ทว่าด้วยมานะตนจึงอุบายให้เพื่อนนอนแคมป์กันไปพร้อมเสบียงกรัง ตัวเองฉวยโอกาสพลัดมาเสียคนเดียวด้วยหวังว่าจะยิงสัตว์กลับมาได้บ้าง
เดินเข้าพงลึกได้ไม่นานก็เกิดพลัดหลงหาทางกลับไม่ได้ ทั้งน้ำและอาหารหมดไปนานแล้ว ฝืนย่ำไปด้วยกำลังที่ถดถอยและจวนพลบค่ำไปทุกที ก็พอดีเหลือบเห็นทุ่งนาและหมู่บ้านตั้งหราอยู่ถัดป่าที่ค่อยๆ โปร่งนั้น
ด้วยอารามดีใจจึงรีบสาวเท้ามุ่งหน้าไม่ทันดูตาม้าตาเรือ แล้วพลันก็ถูกแขนกำยำรัดคอและรวบตัว ดิ้นรนจนแทบหมดแรงก็ไม่หลุด เมื่อเห็นตนหมดสภาพขัดขืน คนบ้านป่าร่างทมึนผู้นั้นจึงยอมปล่อยตัว แต่ยังจ่อปืนที่ยึดไปจากตนชี้ตรงเข้ามา แล้วตะคอกถาม (อย่างฮามาก) ว่า
“มาหาเสียงหรือเปล่า?”
ยังครับ ยังไม่จบ เพิ่งจะเริ่มต้น
คุณหมอชื่อเหมือนนายแพทย์นักผจญป่าพยายามเจรจาพาทีด้วยนอบน้อมเล่าที่มาที่ไป สุดท้ายจึงถูกนำตัวไปยังบ้านผู้ใหญ่บ้าน
เดินเข้าหมู่บ้าน สังเกตว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ เห็นเด็กๆ วิ่งมามุงดูคนแปลกหน้ากันจ้าละหวั่น แต่สิ่งที่ทำขวัญหมอกระเจิงคือ เด็กทุกคนมีแค่แขนข้างซ้าย ส่วนด้านขวานั้นด้วนเสมอไหล่กันทุกคน
กระนั้นหมอก็ยังเก็บงำความสงสัย ทั้งคะเนว่าจะเป็นด้วยพันธุกรรมหรืออย่างไร พอถึงบ้านผู้ใหญ่ถามไถ่เล่าความกันจนคลายความสงสัย แล้วผู้ใหญ่จึงเรียกสำรับอย่างดีมาเลี้ยงแขกบ้าน หากตนก็สังเกตว่า “ผู้ใหญ่เต็ง” หาใช่คนชอบการพาทีเท่าใดนัก
กินข้าวยังไม่ทันอิ่มดีก็ได้ยินเสียงร้องโอดโอยของเด็กสาว หมอบุญส่งถามเอากับผู้ใหญ่ก็ได้ความว่าลูกสาวของผู้ใหญ่กำลังจะคลอดอยู่บนเรือนใกล้กัน แต่ผ่านไปวันกับคืนนึงแล้วเด็กก็ยังไม่ยอมออก คุณหมอจึงรีบอาสาจะเข้าช่วยแต่ก็ถูกผู้ใหญ่เต็งกำชับเอาคำมั่น
กำลังย่างเท้าขึ้นเรือน เห็นหลายคนรอท่าตีนบันได มีคนนึงนั่งลับมีดอยู่คงจะใช้ตัดสายสะดือ ขึ้นเรือนแล้วหมอก็ตรงเข้าช่วยเด็กสาว ชั่วไม่นานก็คลอดได้อย่างปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก
ทารกน้อยอวัยวะครบสามสิบสอง สายสะดือยังไม่ทันได้ตัดก็ยินเสียงชายหนุ่มพ่อของเด็กร้องขึ้นว่าให้ส่งลูกให้เขา หมอหันไปเห็นชายหนุ่มตัดสายสะดือฉับจากนั้นพ่อกับคนอื่นก็ช่วยกันจับเด็กนอนตะแคงดึงแขนขวาให้เหยียดออกแล้วค่อยๆ ใช้มีดเลาะตรงต้นแขนกับหัวไหล่ข้างนั้นจนขาด
เห็นภาพทารุณขนาดนั้นหมอทนไม่ไหวก็สลบไป ครั้นฟื้นขึ้นมาได้จึงเอ่ยถามกับผู้ใหญ่
“ของอะไรที่ทารุณมันก็ต้องมีเหตุที่ทารุณซีคุณหมอ” ผู้ใหญ่เต็งว่า
“ผมเลือกผู้แทนเข้าไปหลายสมัยแล้ว ตอนเขามาหาเสียงก็พูดดีสัญญาว่าจะทำโน่นทำนี่ให้สุขสบายทั่วกัน แต่พอได้เป็นผู้แทนแล้วก็ไปขายตัวยกมือให้เขาเอาสตางค์จนร่ำรวยกันทุกคนไป พวกผมอดอยากเดือดร้อนล้มตายอย่างไรเขาก็ไม่มาเหลียวแล…..
หนเดียวก็พอทำเนา แต่เลือกคนไหนก็ขายตัวยกมือทุกคนไป พวกผมชาวบ้านนี้มันก็เลยเจ็บใจ นัดประชุมตกลงตั้งประเพณีขึ้นว่าถ้าใครในบ้านนี้ออกลูก ก็ต้องตัดแขนขวามันทิ้งเสียแต่แรกเกิด…. เหลือแต่แขนซ้ายไว้ให้มันทำมาหากินแขนเดียวก็พอ โตขึ้นมันจะได้ไม่ไปขายตัวยกมือให้ใครให้พ่อแม่มันต้องเจ็บใจ…” (ข้อความจากเรื่อง “บ้านแขนขาด”)
แน่นอนว่าเรื่องแต่งก็คือเรื่องแต่ง เราจะหาหมู่บ้านเช่นนี้ไม่ได้เลยในความเป็นจริง แต่ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติก็เป็นเครื่องมือสะท้อนแง่มุมความจริง ความรู้สึกที่อธิบายด้วยการสื่อสารรูปแบบอื่นได้ยากและอาจไม่ “ถึง” ใจเท่า
ซึ่งโลกแห่งศิลปะและวรรณคดีพยายามทำหน้าที่นี้มาทุกยุคสมัย
เช่นเดียวกับการเมืองและนักการเมือง ในยุคสมัยใหม่ที่ดูเหมือนกำลังมีความเปลี่ยนแปลงโดยคนรุ่นใหม่ๆ การหาเสียงรูปแบบใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ นโยบายชวนฝันใหม่ๆ ช่างน่าติดตามว่าความหวังใหม่ๆ นี้จะปรากฏเป็นความจริงหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ที่เคยผูกขาดด้วยสีสันเดียว
ที่สำคัญก็คือไม่ว่านักการเมืองท่านใดที่สามารถผ่านเข้าสู่สภาฯ ในฐานะตัวแทนของปวงชน แต่ละคนจะทำตามคำมั่นที่ประกาศไว้หรือไม่
หรือจะเป็นแค่ปรากฏการณ์ฉาบฉวยที่เนื้อหาวนเดิม ซึ่งในยุคสมัยใหม่ สำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวและบ้านเมืองยุคใหม่แล้ว “บ้านแขนขาด” อาจจะไม่ใช่เป็นสังคมที่มีอยู่แต่ในโลกของวรรณกรรมอีกต่อไป
-เฟาซ์ เฉมเร๊ะ-