8 มีนาคม 2568 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)/กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. จัดประชุมหารือการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่
8 มีนาคม 2568 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)/กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. จัดประชุมหารือการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ร่วมกับคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น ได้แก่ นายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ จิตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และนายฟุรกอน อาแวกาจิ นักจิตวิทยาโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เพื่อพิจารณาข้อเสนอการจัดตั้ง “โรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
ทั้งนี้ ตามที่มีการเสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับสถานการณ์การรักษาและฟื้นฟูผู้มีปัญหาสภาวะทางจิต โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยปรากฏโรคทางจิตเวชที่สำคัญที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสุขภาพจิต ได้แก่ โรคซึมเศร้า, โรค PTSD, โรคจิตเภท และโรคทางจิตที่เกิดเนื่องจากการใช้ยาเสพติด เป็นต้น และได้ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกายให้คนใกล้ชิดให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
รวมทั้ง ปัญหาที่เกิดต่อครอบครัวของผู้ป่วยได้รับผลกระทบในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการระหว่างการส่งต่อและรักษาตัว การใช้เวลานานในการดำเนินการกว่าจะถึงปลายทาง ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะถูกส่งตัวไปรักษาอาการทางจิตเวช ณ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลา
นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญต่อการวางแผนป้องกันการเกิดสภาวะทางจิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสถานการณ์แวดล้อมในทุกมิติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดหน่วยบริการที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป เป็นการช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในช่วงการส่งต่อและรักษาตัวและให้เป็นหน่วยบริการที่สำคัญในการร่วมการแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากหลากหลายปัญหาที่มีความซับซ้อนกันจนไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวช
เบื้องต้น ที่ประชุมฯ กำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับส่วนราชการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจ อำนาจหน้าที่โดยตรง โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ 5 ประเด็น เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ จัดทำข้อมูลที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์และเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนก่อนจะเสนอเรื่องต่อ กพต. พิจารณาตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ซื่งการทำงานข้างต้น ได้แก่ การศึกษาข้อมูลจาก 2 แหล่ง (เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ/จังหวัดจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC)), การประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (โรงพยาบาลประจำจังหวัด/อำเภอ 3 จชต.), การประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อให้ได้ข้อมูลปัญหาความต้องการของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่, การนำข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ไปจัดประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (โรงพยาบาลประจำจังหวัด/อำเภอ ,โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี, โรงพยาบาลจิตเวชสงขลา, ศูนย์อนามัยที่ 12, กรมสุขภาพจิต เป็นต้น) และเตรียมการเสนอต่อที่ประชุม กพต. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคาดว่าจะเสนอ กพต. ในการประชุมฯ ครั้งที่ 3/2566 ประมาณเดือน พฤษภาคมนี้