สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคบ้านทุ่งเลียบ อ.คลองหอยโข่ง ร้องกฟผ.จ่ายเงินเยียวยาในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ทุ่งสง -สงขลา 3 วงจรที่ 1 และ 2 ไม่เป็นธรรม พบ “ต้นไม้ทิพย์” และเงินหายไปกว่า 2 ล้าน จึงแจ้งความดำเนินคดีแกนนำกลุ่ม และระงับการเข้าปรับพื้นที่ เพื่อทำลายหลักฐาน
วันที่ 28 พฤษภาคม 2566 สมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคบ้านทุ่งเลียบ หมู่ที่ 5 ต.คลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคลองหอยโข่ง เพื่อร้องขอให้ระงับการเข้าปรับพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หลังพบปัญหาการจ่ายเงิน เพื่อมนุษยธรรม ในการใช้ที่ดินและค่าทรัพย์สิน กรณีโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ทุ่งสง-สงขลา 3 วงจรที่ 1 และวงจรที่ 2
โดยชาวบ้านได้พบพิรุธ จากการจ่ายเงินเยียวยา เมื่อปี 2563 ซึ่งสมาชิกกลุ่มได้รับเงินจากแกนนำกลุ่มฯในขณะนั้น รายละ 20,000 บาท และ 50,000 บาทเท่านั้น จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกฟผ. ถึงจำนวนเงินที่ จ่ายให้กับแกนนำกลุ่มฯ ซึ่งตามหนังสือตอบกลับทราบว่า กฟผ.ได้จ่ายเงินเยียวยามากว่า 3 ล้านบาท แต่มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับสมาชิกรวมทั้งหมดประมาณ 700,000 บาท รวมถึงการขอใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์จาก อบต.คลองหอยโข่งอย่างถูกต้อง
นายสุรเชษฐ์ จุลจินดา ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในอำเภอคลองหอยโข่ง ระบุว่า ได้ส่งหนังสือไปสอบถาม ที่กฟผ.ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทางกฟผ.ตอบหนังสือกลับมาเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566 จากการตรวจสอบตาม เอกสารตอบกลับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้น กลับพบข้อพิรุธนอกเหนือจากการจ่ายเงินให้สมาชิกฯไม่ครบ อย่างน้อย 2 ประการ คือ คณะกรรมการจ่ายค่าทดแทน ที่ดินและทรัพย์สิน ที่มี 3 คน แต่กลับมีการลงนามเพียง 1 คน รวมถึงรายการจ่ายเงินซึ่งเป็นทรัพย์สิน ก็ไม่ครบ ตามจริง และมีต้นไม้ทิพย์ เพิ่มเติมมาอีก ทั้งที่ไม่เคยมีอยู่จริงในพื้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นตะเคียน มะม่วงหิมพานต์ และต้นไม้บางชนิดก็เป็นไม้ป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่กลับอยู่ในรายการที่ต้องจ่ายเงิน ทำให้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านทุ่งเลียบเตรียมเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มฯ รวมถึงร้องขอให้มีการตรวจสอบการจ่ายเงินเพื่อมนุษยธรรมของ กฟผ.ในโครงข่ายนี้ทั้งหมด
“เมื่อเราได้รับหนังสือตอบกลับจาก กฟผ.และพบข้อพิรุธ จึงโทรศัพท์ไปสอบถามทางกฟผ.ซึ่งไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงแจ้งว่า ตัวแทนชาวบ้านจะเข้าแจ้งความดำเนินคดี ทั้งเรื่องเงินที่ได้รับมาไม่เป็นธรรม รวมถึง ปัญหาที่พบรายการจ่ายไม่เป็นไปตามความจริง ก็พบว่า รถแบคโฮร์ซึ่งรับจ้างปรับพื้นที่ในโครงการฯที่ไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าปรับพื้นที่ที่กลุ่มใช้อยู่ก็เข้าดำเนินการปรับพื้นที่ ซึ่งทางกลุ่มเชื่อว่าเป็นความพยายามในการทำลายหลักฐาน ต้นไม้ทิพย์ จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ระงับการปรับพื้นที่ และประสานหน่วยเกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป” นายสุรเชษฐ กล่าว
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อมนุษยมนุษยธรรม ของกฟผ. ซึ่งอยู่ในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านทุ่งเลียบนั้น รวมเป็นเงิน 3,107,571.60 แยกเป็นที่ดิน รวมเนื้อที่ 20 ไร่ จำนวน 2,534,104.00 บาท ค่าเสารั้ว 10,512.60 บาท ค่าทดแทนต้นไม้หรือพืชผล รวม 24 รายการ เป็นเงิน 572,995.00 บาท
ล่าสุด พนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือส่งถึงนายอำเภอคลองหอยโข่ง และ นายก อบต.คลองหอยโข่ง เพื่อสอบถามว่าผู้ใดมีสิทธิ์เป็นตัวแทนรับมอบเงินเพื่อมนุษยธรรมดังกล่าวจาก กฟผ.เนื่องจากที่ดินที่กลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านทุ่งเลียบขอใช้ประโยชน์เป็นสถานที่เลี้ยงโคนั้น เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ เมื่อมีความชัดเจนแล้ว จะได้พิจารณา สอบปากคำตัวแทนผู้ร้องทุกข์ และ แจ้งข้อหากับผู้เกี่ยวข้องในคราวเดียว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้
นอกจากนั้น เมื่อมีการตรวจสอบในส่วนของผู้มีสิทธิ์รับเงินมนุษยธรรม รวมถึงมีการยักยอกทรัพย์ของเหล่าสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคแล้ว ยังต้องเดินหน้าตรวจสอบในรายละเอียดของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจ่ายเงินเพื่อมนุษยธรรมโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ทุ่งสง-สงขลา 3 วงจรที่ 1 และวงจรที่ 2 ของ กฟผ.ว่าถูกต้องหรือไม่ รวมถึงการที่มีต้นไม้ทิพย์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ไม่เคยมีอยู่ในดินที่แปลงนี้หลายชนิด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการจ่ายเงิน โดยเฉพาะในที่ดินสาธารณะ ทั้งโครงการ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากพบว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทางพนักงานสอบสวน อาจจะพิจารณาส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.สงขลาเพื่อพิจารณาต่อไป