สงขลา-ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน (SME FAN : Friend and Networks) เผยตั้งเป้าขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ หวังสร้างเครือข่ายสนับสนุนธุรกิจ-เพิ่มช่องทางการตลาด หลังจากประสบความสำเร็จเปิด 2 สนาม SME FAN Thai land -สงสพัท-สงขลา- สตูล พัทลุง
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน (SME FAN) โดยมีนายพิชัย จงไพรัตน์ เป็นประธาน
นายพิชัย จงไพรัตน์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน (SME FAN : Friend and Networks) เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ว่า พื้นฐานของ เอสเอ็มอี คือเราเป็นผู้ประกอบการตัวเล็ก
พอเป็นผู้ประกอบการตัวเล็ก และอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็เลยทำให้การแข่งขันค่อนข้างเสียเปรียบรายกลางและรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ด้านเงินทุน
โดยเฉพาะด้านการตลาด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พยายามที่จะเข้าถึงช่องทางการตลาดให้ได้หลากหลาย สิ่งหนึ่งที่ได้ยินกันมาตลอดก็คือว่า ให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี
ซึ่งเป็นปลาเล็ก ให้รวมกลุ่มเข้าไว้ เพื่อที่จะสามารถที่จะมีศักยภาพในเรื่องของการต่อรอง โครงการ SME FAN เป็นเครื่องมือเครื่องมือหนึ่งที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี
ให้รวมกลุ่มกันจากปลาเล็ก ให้เป็นปลาเล็กฝูงใหญ่ เพื่อที่จะสามารถว่ายในมหาสมุทรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการรวมกลุ่มตรงนี้ก็เลยใช้ชื่อว่า เป็นเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน
“SME ย่อมาจาก Smal and Medium Enterprises ส่วน FAN ย่อมาจาก Friend and Networks ก็คือเป็นมิตรภาพแบบเพื่อน และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย”
ดังนั้นโครงการ SME FAN ก็คือจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถรู้จักกันจนก่อเกิดมิตรภาพแล้วสร้างเป็นเครือข่ายที่จะมาสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน
ด้วยวิธีการก็คือเราจะปลูกฝังในทัศนคติของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการเป็นผู้ประกอบการที่ดี หรือที่เราเรียกว่าการสร้างความเชื่อมั่น
โดยจะมีการทำกิจกรรมร่วมกันในแต่ละสัปดาห์ ใน 1 สัปดาห์จะมีการลงสนาม หรือจะใช้คำว่าลงสนามหรือการประชุมก็ได้ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง
ในการที่จะมาแนะนำตัวกันว่าเราคือใคร ทำธุรกิจอะไรอยู่ แล้วเรากำลังมองหาโอกาสธุรกิจอะไร ซึ่งการที่เราใช้ตัวเองเข้าไปอยู่ในการลงสนามหรือการประชุมนั้น
ก็เพื่อที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างการเป็นที่รู้จัก ให้เราเป็นที่รู้จักกับผู้ประกอบการท่านอื่น ๆ ผู้ประกอบการท่านอื่น ในทำนองเดียวกันก็แนะนำตัว แนะนำธุรกิจ แล้วก็บอกว่ากำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจอะไรอยู่
“จะทำให้เราเป็นที่รู้จักของเพื่อนผู้ประกอบการ และเราก็รู้จักเพื่อนผู้ประกอบการอีกหลาย ๆ ท่านด้วย การที่เราใช้เวลาอย่างนี้ รวมถึงกิจกรรมที่เราทำ”
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ FAN DAY ก็คือการเจอหน้ากัน หมายถึงว่า นัดกินกาแฟกันแล้วก็ไปเจอไปพูดคุยกันหรือว่าเป็นกิจกรรม Fiw Fan ก็คือเป็นกิจกรรมที่เยี่ยมเยียนธุรกิจอย่างไรให้ได้ Fiw Fan
ก็จะเป็นเรื่องที่เอามาเสริมเพื่อที่จะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อเราเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว เราก็จะโยงใยกันเป็นเครือข่ายที่จะสนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน โดยพื้นฐานที่เรามีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการเอสเอ็มอี เพื่อนช่วยเพื่อน เป้าหมายก็คือการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการทั่วประเทศ ถ้าลองนึกภาพวันนี้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ใน 100 เปอร์เซ็นต์
จะเป็นผู้ประกอบการที่ค้าขายกันภายในจังหวัดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็คือค้าขายกันในจังหวัดสงขลาไม่ได้ออกต่างจังหวัด แต่ก็จะมีผู้ประกอบการอีกประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ที่ธุรกิจมีขนาดใหญ่หน่อย
ตลาดอาจจะกว้าง เขาก็กำลังมองหาลูกค้า เครือข่าย อาจจะเป็นจังหวัดใกล้เคียง สมมุติถ้าเราอยู่จังหวัดสงขลาก็มองหาลูกค้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองหาลูกค้าในจังหวัดพัทลุง สตูล
แล้วก็จะมีผู้ประกอบการอีกประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ที่ขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น โมเดลธุรกิจที่กำลังมองหาตลาดระดับประเทศ เช่น มองไปที่ภาคเหนือ มองไปที่ภาคอีสาน มองไปที่ภาคตะวันออก
ถามว่าวันนี้เขามีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะเขาสามารถที่จะขยายงานเขาได้ไประดับประเทศ ไประดับจังหวัดใกล้เคียง หรือแม้แต่ในจังหวัดของตนเอง
“ตัว SME FAN เราตั้งใจที่จะเปิดสนามทั่วประเทศ ดังนั้นทุกจังหวัดก็จะมี 1 สนาม SME FAN วันนี้ถ้าเขามาลงสนามเป็นสมาชิกของ SME FAN จังหวัดสงขลาแล้ว เขาก็สามารถไปเชื่อมโยงกับ SME FAN ในสนามจังหวัดอื่น ๆ ได้ด้วย”
ยกตัวอย่างเหมือนอย่างผมทำธุรกิจวัสดุก่อสร้างเป็นผู้นำเข้าวัสดุก่อสร้างมาจากต่างประเทศและทำกิจการอยู่ในจังหวัดสงขลา แต่ผมอยากที่จะขยายงานหาตัวแทนจำหน่ายที่ภาคอีสาน เช่น ที่จังหวัดขอนแก่น
แต่ผมไม่รู้จักใคร วิธีการที่ผมจะทำก็คือผมก็จะไปลงสนาม SME FAN ที่จังหวัดขอนแก่น แล้วก็ไปแนะนำตัว ว่าผมทำธุรกิจอะไร แล้วกำลังมองหาตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดขอนแก่น ถ้าใครสนใจอยากเป็นตัวแทนสินค้าประมาณนี้
ก็สามารถที่จะประสานติดต่อกับผมได้ การที่ SME FAN มีสนามอยู่ทั่วประเทศ ก็เป็นโอกาสที่ที่ผู้ประกอบการจะอยู่ในจังหวัดไหนก็ได้ และมองหาโอกาสในจังหวัดที่เป็นเป้าหมาย เราก็สามารถที่จะไปลงสนาม SME FAN ได้
เพราะว่า SME FAN เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ฉะนั้นเขาก็จะมีความคุ้นเคยที่จะลงสนามที่จังหวัดสงขลาแล้วไปลงสนามที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้
“ที่บอกว่าการลงสนามก็คือ การลงได้ออนไลน์ และ ออฟไลน์ ทำให้เขาใช้ต้นทุนต่ำที่สุด ต้นทุนจริง ๆ ก็ตัวเขาเองที่ไปพูดคุย ไปแนะนำตัวเอง”
สำหรับการดำเนินการสนาม SME FAN นั้นในปัจจุบันยังไม่ครบทุกจังหวัด โดยตอนนี้เรามี SME FAN ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น เรามี SME FAN อยู่ 2 สนาม
ประกอบด้วยสนามที่ 1 เรียกว่า SME FAN Thai land สนามนี้จะมีความพิเศษก็คือว่า เป็นสนามที่รวมผู้ประกอบการทั่วประเทศ สมมุติว่าผมทำธุรกิจก่อสร้าง ผมอยากขยายงานไปทุกจังหวัด อยากจะหาตัวแทนทุกจังหวัด
แต่ผมไม่มีเวลาไม่ลงสนามจังหวัดเชียงใหม่สัปดาห์ละครั้ง จังหวัดขอนแก่นสัปดาห์ละครั้ง จังหวัดนครราชสีมาสัปดาห์ละครั้ง ผมไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นผมจะไปลงสนาม SME FAN Thai land สนามเดียวเลย
เพราะที่นั่นจะรวมผู้ประกอบการทั่วประเทศ ดังนั้นการที่ผมไปอยู่สนามนั้น ผมก็จะรู้จักเพื่อนผู้ประกอบการที่มาจากภาคเหนือ ภาคอีสานกลาง ใต้ ไปรวมอยู่ที่สนาม SME FAN Thai land
ฉะนั้นสนามนี้มีความพิเศษก็คือช่วยให้เราประหยัดเวลาด้วยการที่เราจะต้องไปตระเวน แต่อาจจะไม่ได้เจาะลึกเป็นรายจังหวัด แต่ว่าเป็นสนามที่เข้าถึงผู้ประกอบการทั่วประเทศโดยตรง
สนามที่ 2 ก็คือสนาม สงสพัท-สงขลา- สตูล พัทลุง สนามนี้ก็จะมีจุดเด่นอีกแบบหนึ่งก็คือเป็นสนามที่รวมจังหวัดเพียงแค่ 3 จังหวัด แต่ว่าเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกัน
“เรามองว่าสนามนี้ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดนี้ ที่เขาอาจจะมีขนาดธุรกิจที่ค้าขายในจังหวัดสงขลาแต่เขายังอยากขยายโอกาสธุรกิจไปจังหวัดใกล้เคียงด้วย”
แต่ก็มองว่าเอาจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกันจะได้เดินทางสะดวกหรือทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมเยียนธุรกิจหรือเป็น FAN DAY ไปนั่งกินกาแฟกินข้าวกันก็สามารถทำได้ง่าย
เพราะฉะนั้น SME FAN มีอยู่ 2 สนาม ก็คือสนาม SME FAN Thai land แล้วก็สนาม สงสพัท-สงขลา- สตูล พัทลุง แต่ว่าภายในสิ้นปีนี้ (2566) เราตั้งใจที่เปิด SME FAN อีกประมาณ 3-5 สนาม
แล้วก็ทุก ๆ ปี เราก็จะค่อย ๆ ทยอยเปิด SME FAN ซึ่งข้อเด่นของ SME FAN เราไม่ได้เก็บค่าใช้จ่าย คุณมาเป็นสมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร เพียงแต่ว่า การลงทุนของคุณก็คือลงทุนเวลา
“SME FAN ไม่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการยอดขายด่วน ๆ อย่างเช่น ลงสนามแล้วคิดว่าจะปิดยอดขายได้เลยนั้น อันนี้ไม่ใช่ ผู้ประกอบการประเภทนี้เขาเหมาะสำหรับไปเปิดบูธขายในงานแฟร์มากกว่า”
แต่ SME FAN เป็นช่องทางที่เราต้องสามารถให้เวลา ในการสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจได้ ซึ่งถ้าเราสามารถสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจได้ ผลลัพธ์ในระยะยาวมันจะอยู่ได้นานกว่า แล้วก็ไปได้ไกลกว่า
เนื่องจากจะเป็นเรื่องของการแชร์เครือข่าย แชร์คอนเนคชั่นกัน สำหรับโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนนั้นเริ่มมาได้ 1 ปี ซึ่งเป็นโมเดลของสตาร์ทอัพ ก็คือว่า เรากำลังอยู่ในช่วงของการฟูมฟักและรอการเติบโต
“ช่วงนี้เราอยู่ในช่วงของการฟูมฟัก ไม่ว่าจะเป็นการฟูมฟักเรื่องของการหาวิธีการที่ดีสุดที่จะทำยังไงให้ผู้ประกอบการแต่ละคนสามารถที่จะมีมิตรภาพ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้”
พยายามหาวิธีการที่เขาสะดวกที่สุด ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันเราก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ดังนั้น SME FAN ใน 1 ปี ที่ผ่านมาอาจจะไม่เห็นการเติบโตมากนัก
จำนวนสมาชิกก็ยังไม่มาก แต่เมื่อมันสามารถผ่านจุดเริ่มต้นมาได้แล้ว SME FAN จะขยายตัวอย่างรวดเร็วตามที่ได้มีการวางแผนไว้ จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เพราะทุกคนอยากได้เครือข่าย อยากได้ช่องทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นคิดว่า SME FAN ภายใน 2-3 ปีนี้จะสามารถขายได้ถึงทั่วประเทศ แต่ว่าปัจจุบันเรายังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น แต่กำลังจะไปให้ถึงจุดนั้น