สืบเนื่องจาก เมื่อ 25 พฤษภาคม 2566 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมกับบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างหอชมเมืองและสกายวอล์ค เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ณ โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โดยในที่ประชุมมีการนำเสนอข้อมูล รายละเอียดงบประมาณ ระยะเวลาโครงการ รายละเอียดด้านสถาปัตยกรรม ซึ่ง “สงขลาโฟกัส” ได้นำเสนอข่าวไปแล้ว และได้มีกลุ่มองค์กรและประชาชนชาวหาดใหญ่ สะท้อนความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว
นายภัฏ รักษ์ทองธนา ประธานกลุ่ม Hatyai Loll Soen ,active citizen , creator ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า หากมองในมุมสถาปัตยกรรม ของต่างประเทศ แม้งานที่ออกมาจากราชการ จะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน รับกับบริบทของสถานที่ และมีการสอดแทรกแนวคิดเสมอ เช่น ห้องสมุดออสเตรเลีย, รัฐสภาที่แทบจะอยู่ใต้ดิน ให้ประชาชนขึ้นไปเดินข้างบนได้ แสดงถึงความโปร่งใส พร้อมให้ประชาชนตรวจสอบ
“ผมไม่เห็นการออกแบบอย่างนั้นในตึกนี้ ฟังก์ชั่นของตึกที่ยึดโยงกับบริบทเมืองว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องใด ตอนนี้มันเป็นแค่ที่ชมวิว มีร้านกาแฟ มีร้านอาหารเป็นก็แค่ City Complex ที่จะเข้ามาแย่งธุรกิจอื่น ๆ ของเมือง
หาดใหญ่ไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ไม่มีต้นทุนทางการท่องเที่ยวเดิม แต่เกิดจากพ่อค้าแม่ค้าและพลเมืองร่วมกันสร้างขึ้นมา แต่งบประมาณที่มีถูกใช้ไปกับการส่งเสริมการค้าขาย เราควรถอดดีเอ็นเอของเมืองว่า หาดใหญ่เป็นเมืองค้าขาย เป็นเมืองเที่ยวสำหรับครอบครัว สังเกตได้จากโต๊ะตามร้านอาหารที่ตัวใหญ่ ๆ ธรรมชาติของนักท่องเที่ยวที่มาพลาซ่า ถูกถ่ายทอดกันมาซึ่งเขาค่อนข้างสนิทใจกับรูปแบบ วัฒนธรรมแบบนี้ ฉะนั้น งบฯควรถูกใช้จ่ายไปกับการปรับปรุงพลาซ่ามากกว่า เช่น ทำพื้นให้ดี จัดระเบียบให้เหมาะสม สร้างอารยสถาปัตย์ให้กับผู้พิการ สุขอานามัย หรือความปลอดภัย งบประมาณควรมาซัพพอร์ตอะไรอย่างนี้มากกว่า เราบอกว่าเราเป็นเมืองคมนาคม ปัจจุบันบริเวณหอนาฬิกาเป็นจุดขนส่งมวลชนที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ แต่กลับไม่มีหลังคา เด็ก ๆ คนชรา พระต้องมานั่งยอง รอรถ ไม่มีที่หลบแดด หลบฝนทั้งสองฝั่ง เราควรเห็นช่องทางแบบนี้ แล้วทำให้ดี” นายภัฏ กล่าว
นางนฤมล ชนม์ปีชา แม่ค้าในตลาดพลาซ่า กล่าวว่า พลาซ่าเป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะตัว และยึดโยงกับชนชั้นแรงงานเป็นลูกค้าหลัก
“ยังไงตลาดก็คือตลาด ลูกค้าของเราจะชอบมาตลาดปกติมากกว่า ถ้าหากจะสร้างหอ แล้วให้ไปขายของข้างล่าง มันก็ไม่ใช่ตลาด คนทั่วไปหรือคนรายได้น้อยก็ไม่กล้าเข้ามา เขาต้องคิดว่าค่าเช่าแพง สินค้าก็ต้องแพงตามแน่ แต่ถ้ามาตลาด เขาก็จะได้ต่อรองราคา สำหรับชาวบ้านธรรมดา เข้าห้างกับเข้าตลาด ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน” นางนฤมล กล่าว
นายพจน์ วรรธวาทีรักษ์ กล่าวถึงมุมมองการพัฒนาการท่องเที่ยว ในฐานะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในชุมชนพลาซ่าว่า พลาซ่า เป็นตลาดกลางวัน ตลาดเดียวที่เหลืออยู่ กิมหยง อาจเป็นตลาดกลางวันจริง แต่จะขายสินค้านำเข้าจากมาเลเซีย กลุ่มเป้าหมายจึงเป็นคนไทย
“แต่กลุ่มหมายของตลาดพลาซ่าเป็นชาวต่างชาติ แผนการเที่ยวของมาเลเซียจะต้องมีพลาซ่าอยู่ในนั้นแน่ๆ เทศบาลได้รายได้จากเราเยอะมาก แต่การพัฒนากลับสวนทางกัน สิ่งที่เทศบาลควรทำคือปรับปรุงสาธารณูปโภคดีขึ้นมากกว่า ประเทศมาเลเซียเขามีทุกอย่างพร้อม เขาก็อยากมาเจอการชอปปิ้งแบบโลคอล แบบสบายๆ ซึ่งพลาซ่าตอบโจทย์ตรงนี้ และการที่ชาวต่างชาติมาตลาดพลาซ่า โรงแรมก็ได้ยอดที่พัก ร้านอาหาร สตรีทฟู้ดก็ได้ยอด ทีนี้รายได้กระจาย ตรงนี้เป็น Supply Chain ที่ทำให้หาดใหญ่เดินต่อไปได้” นายพจน์ กล่าว
ขณะที่ นางวรันต์ภรณ์ อาจิตรนุภาพ แม่ค้าในตลาดพลาซ่าอีกคน กล่าวว่า ที่นี่เป็นชุมชน เรียกว่าชุมชนหอนาฬิกา มีทั้งมุสลิม ไทยพุทธ มีหลากหลายอาชีพ พ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ ซึ่งหากเกิดโครงการก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม ผู้ประกอบการ 300 กว่าชีวิต เฉพาะผู้นำครอบครัว ยังไม่รวมสมาชิกในครอบครัวและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ นับเป็นหมื่นชีวิต