สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ
สงขลา-สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ 63 องค์กร เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความเข้าใจและเสริมพลังการทำงานพัฒนาเมืองหาดใหญ่ร่วมกัน ผลการดำเนินการ 1 ปีที่ผ่านมา นำเรื่องเข้าประชุมในเวทีประจำเดือนมีจำนวน 52 เรื่อง

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ ห้องดุสิตา ชั้น 8 โรงแรมนิวซีซั่นสแควร์ หาดใหญ่ มีพิธีลงนาม บันทึกความเข้าใจ (MOU : Memorandum of Understanding)
ระหว่างสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ (Hatyai Economic Forum : HEF) กับ 63 องค์กร ประกอบด้วย 1.องค์กรภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 6 องค์กร

2.องค์กรภาคการศึกษา จำนวน 6 องค์กร 3.องค์กรภาคธุรกิจเอกชน จำนวน 30 องค์กร 4.องค์กรภาคสังคม ภาคประชาสังคม จำนวน 20 องค์กร และ5.องค์กรภาคสื่อสารมวลชน จำนวน 1 องค์กร
โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสมพร ใช้บางยาง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา/นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย
นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา,รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ซึ่งนายสิทธิศักดิ์ ตันมงคล เลขาธิการสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ กล่าวรายงาน
ในระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่เป็นเวทีรองรับการประชุมในประเด็นต่าง ๆ ในที่ประชุม

และก่อให้เกิดวงประชุมย่อยเฉพาะประเด็นอีกหลายประเด็น สำหรับเรื่องที่นำเข้าประชุมในเวทีประจำเดือนมีจำนวนทั้งสิ้น 52 เรื่อง และการดำเนินงานของกลไกการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ สู่การเป็นเมืองน่าอยู่น่าสนใจ 9 โครงการ
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU : Memorandum of Understanding) เพื่อบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือต่อกันในการดำเนินงานของกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่และพื้นที่เกี่ยวเนื่องในนาม “สภาเศรษฐกิจหาดใหญ่” อย่างมุ่งมั่นและเต็มความสามารถ
ตามวัตถุประสงค์ประกอบด้วย 1.เพื่อเป็นเวทีกลางให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความเข้าใจและเสริมพลังการทำงานพัฒนาเมืองหาดใหญ่ร่วมกัน
2.เพื่อร่วมวิเคราะห์ สังเคราะห์ วางแผน เสนอแนะและประสานการทำงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเมืองหาดใหญ่อย่างมีดุลยภาพ
3.เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจรองรับการพัฒนาหาดใหญ่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) สู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Livble City)
