9 ก.ค. 66 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะเป็นเกมประลองกำลังทางการเมืองครั้งใหม่ของ ปชป.สายเลือดสงขลาอย่าง “นิพนธ์ บุญญามณี” กับ “เดชอิศม์ ขาวทอง” หรือ “นายกชาย” เพื่อชิงการนำภายในพรรค โดยที่กระแสของคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคฯ ดูวิกฤติให้น้ำหนักไปที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
“ไม่มีการล็อคสเป็คว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แทนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่ล้มเหลว” ข้อความในเฟสบุ้ค “ส.ส.แทน” ชัยชนะเดชเดโช ปชป.ขาใหญ่แห่งเมืองนครฯ ซึ่งอยู่ในกลุ่มก๊วน “นายกชาย” กับ “เลขาต่อ” ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ว่ากันว่า สายนี้เดินเกม เพื่อยึดกุมอำนาจในพรรคอย่างเต็มที่
จึงไม่แปลกใจที่ปรากฏข่าวมีชื่อ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ผู้มากบารมีจากจังหวัดสงขลา มีชื่อร่วมชิงหัวหน้าพรรคฯด้วยหนึ่งคน ในฐานะตัวแทนก๊วน “เสี่ยต่อ”
ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์ทางการเมืองออกมาระบุว่า มีการล็อคสป็อคว่าที่หัวพรรคคนใหม่ โดยอดีตกลุ่มผู้บริหารบางกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามที่กลุ่มเขาต้องการ และจะสามารถเข้ามากุมทิศทางของพรรคได้ โดยเฉพาะสาย “ชวน หลีกภัย” ทีมี “บัญญัติ บรรทัดฐาน” และ “จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์” อดีตหัวหน้าพรรคร่วมด้วย และแน่นอนว่า “ขุนพลใหญ่ อย่าง ”นิพนธ์ บุญญามณี” จึงถูกจับตาจากทุกฝ่ายในปชป.
แม้จะมีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามจะล็อคสเป็คว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ไม่ใข่เรื่องง่ายในการเดินไปสู่ชัยชนะ เพราะระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไว้ค่อนข้างละเอียด โดยมี “โหวตเตอร์” หลากหลายกลุ่ม
โหวตเตอร์ กลุ่มแรกคือ ส.ส.ชุดปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนัก 70% ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ เป็นอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขาพรรค ตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กลุ่มแรก อยู่ทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 6 คน พัทลุง 2 คน สงขลา 6 คน ปัตตานี 1 คน ตรัง 2 คน ส่วนที่เหลือเป็น แม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน บัญญัติ และจุรินทร์
ชื่อว่าที่หัวหน้าพรรคที่ปรากฏเป็นกระแสข่าว มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” (อดีตหัวหน้าพรรค) “นายกชาย” อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ เท่านั้นที่มีฐานกำลัง และเข้าเงื่อนไข
ส่วน “ดร.เอ้” สุชัชวี สุวรรณสวัสดิ์, “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค หรือ”ตั๊ก”จิตภัสร์ กฤษดากร ยังต้องรอความอาวุโสให้เข้าเงื่อนไข แต่ถูกเสนอมาจากฝ่ายอำนาจใหม่ในพรรค เพื่อสร้างกระแส
เงื่อนไขที่ “ต้องกู้วิกฤติ” ปชป. ทำให้การชิงหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ทุกฝ่ายจำยอมต้องให้เกิด “ภาพ” ความเป็นเอกภาพ จึงจะเห็นได้ว่ามีการเปิดตัวผู้ท้าชิงน้อย อีกทั้ง ทุกฝ่ายรู้กันว่า มันเป็นสถานการณ์แห่ง “ทุกขลาภ”
ดังนั้นว่ากันด้วย “บารมี” บวก “ความอาวุโส” และทุกฝ่ายยอมรับได้ ว่าที่หัวหน้าพรรคฯ คนใหม่ น่าจะเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” คนเดียว แต่เงื่อนไขนี้ ต้องให้ “อำนาจภายในพรรค” และบทบาทแม่บ้านคือ “เลขาธิการพรรค” เป็นของกลุ่ม “เสี่ยต่อ” ซึ่งหมายถึง “นายกชาย” น้องเลิฟเท่านั่น และในสูตรนี้ “ส.ส.แทน” ขอทำหน้าที่รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง
รวมถึงเงื่อนไขสำคัญคือ การรำปชป. เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และ “นายกชาย” ขอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เช่นเดียวกับ “ส.ส.แทน” ที่มั่นใจในผลงานขอบตัวเองในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แม้พรรคจะตกต่ำ แต่เขาได้จำนวน ส.ส. มากกว่าครั้งที่ผ่านมา บวกกับการมี “แม่ต้อย” เป็นนายก อบจ.นครศรีธรรมราชด้วย เขาจึงหวังข้นชั้นเป็น “รัฐมนตรีช่วย” สร้างผลงานของตระกูล และสถาปนาบ้านใหญ่ทางการเมืองอย่างเต็มภาคภูมิในครั้งนี้
และนี่จึงเป็นบทที่ “ขาใหญ่” คนเดินเกมในขั้วอำนาจเก่าอย่าง “นิพนธ์ บุญญามณี” ยอมรับไม่ได้ เพราะยังต้องการมีบทบาทนำในพรรค โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะ “อบจ.สงขลา” ที่จะเลือกตั้งใหม่ใน 2 ปีข้างหน้า
อีกทั้ง ที่ผ่านมา ก็มีภาพการสกัดกั้นมาตั้งแต่ “นายกชาย” เปิดตัวชิงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคคราวก่อน แม้ “นายกชาย”ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้แล้ว ก็ยังมี “อาการข่ม” ในบทบาทการนำทางการเมืองในจังหวัดสงขลา และภาคใต้กันอยู่
การมีจำนวนส.ส. ในมือมากกว่า ของฝ่าย “นายกชาย” ซึ่งคาดว่า ไม่น้อยกว่า 15 คน ในจำนวนทั้งหมด 25 คน จึงเป็นแต้มต่อ โดยเฉพาะจำนวน ส.ส. สงขลา ซึ่ง “นิพนธ์ บุญญามณี” มีเพียง “สรรเพชญ บุญญามณี” บุตรชาย ส่วน “เถ้าแก่ถึก” สมยศ พลายด้วง เขต 3 ป้ายแดง ระยะหลังๆ โน้มเอียงไปทาง “นายกชาย” มากกว่า เพราะ “คอเดียวกัน”
และเมื่อนับมือ ส.ส. ภาคใต้ โดยรวมแล้ว ฝ่าย “นายกชาย” ก็เหนือกว่า “นิพนธ์ บุญญามณี” หลายขุม แต่ “นิพนธ์ บุญญามณี” ก็มีความในฐานสาขาพรรค และอดีต ส.ส. ซึ่งก็เหนื่อยด้วยระเบียบพรรคให้สัดส้วนคะแนนส.ส.ปัจจุบันมากกว่า
เพื่อลดเงื่อนไขนี้ ฝ่าย “นายกชาย” ก็เปิดไพ่ให้ “สรรเพชญ บุญญามณี” ทายาทการเมืองของ “นิพนธ์ บุญญามณี” ร่วมทีมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วย
และเกมนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างรู้ว่า “นายกชาย” ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเป็น “หัวหน้าพรรค” แต่จะเป็น “หัวขบวน” ของกลุ่ม “เสี่ยต่อ” ในการมีบทบาทสูงสุดในพรรค โดยขอตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” รวมถึงการหวังที่จะนำพรรคร่วมรัฐบาลกับ “เพื่อไทย” เท่านั้น ส่วนว่าที่หัวหน้าพรรคนั้น ในเงื่อนไขดังกล่าวหากประชาธิปัตย์ก๊วนเก่า ยอมรับไม่ได้ ฝ่าย “เสี่ยต่อ” ก็ต้องจัดหาบุคคลที่เหมาะสมมา “ขัดตาทัพ” ไปก่อน
ชื่อ “ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” คนใกล้ชิด “นายหัวชวน” ที่มีหลานชายเป็นนายกเทศมนตรีตำบลสำนักขาม “บ้านด่านนอก” โดยการสนับสนุนจาก “นายกชาย” ที่ปรากฎเป็นข่าวมาพร้อม ๆกับดาวเด่นคนอื่น ๆ จึงเป็นสูตรที่น่าจะลงตัวที่สุด ณ ขณะนี้
ส่วน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้ยีดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ และยังพร้อมอยู่กับพรรค แต่ยอมรับเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ไม่ได้ ก็ต้องรอเวลาที่เหมาะสมในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งต่อไป หรือในคราวเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งใหม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมือง ในขณะนั้น โดยทุกฝ่ายในปชป. มองว่า รัฐบาลหน้า จะอายุสั้น
แต่หากเกมการจัดตั้งรัฐบาล “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ไม่พลิก วันที่ 9 กรกฎาคม “อภอสิทธิ์ เวชขาชีวะ” จะหวนคืนตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. โดยมี “นายกชาย” เป็นเลขาธิการพรรค
นี่จึงเป็นศึกในพรรค ที่ต้องหาจุดที่ลงตัว ใน “วาระส่วนตัว” และเป้าหมายทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ของทั้งสองก๊วน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นิพนธ์ บุญญามณี” กับ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง อีกครั้งหนึ่ง
#ขอบคุณข้อมูล-นายหัวไทร
☛ facebook : สงขลาโฟกัส – SongkhlaFocus
☛ Website : สงขลาโฟกัส