Home » ข่าว » ‘จีเดค’ถอดใจขาย100ล.! “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะหาดใหญ่”

‘จีเดค’ถอดใจขาย100ล.! “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะหาดใหญ่”

#จีเดค4/2566

บริษัท จีเดค จำกัด ในเครือ IEC ถอดใจ ลดราคาขายโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ หาดใหญ่ ที่เป็นคู่สัญญากับเทศบาลนครหาดใหญ่ และเปิดดำเนินการมามาเกือบ 10 ปี เหลือ 100 ล้านบาท หลังถูกพักใบอนุญาต 6 เดือน เผยต้องการมุ่งธุรกิจที่มีความถนัด โรงแรม-อสังหาริมทรัพย์
มีรายงานข่าวว่า บริษัท จีเดค จำกัด ในเครือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (IEC) โดยผู้บริหารโรงกำจัดมูลฝอยและแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จีีเดค หาดใหญ่ คู่สัญญากับเทศบาลนครหาดใหญ่ และมีพื้นที่ตั้งโรงงานอยู่ใกล้กับ “ภูเขาขยะ” ในพื้นที่เทศบาลเมืองควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งถูกสั่งพักใบอนุญาต 180 วัน นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2566 ตามที่ “สงขลาโฟกัส” ได้นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ประกาศขายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จีเดค หาดใหญ่ ในราคา 100 ล้านบาท โดยได้มีการประกาศมาเป็นเวลา 1 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผู้สนใจ
“ตอนแรกเราประกาศขายในราคา 175 ล้านบาท แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 100 ล้านบาท ก็ยังไม่มีผู้สนใจ”
เหตุผลที่ประกาศขายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จีเดค หาดใหญ่ เนื่องจากผู้บริหารไม่อยากจะทำแล้ว ถามว่าเข้ามาทำไม ก็คือผู้บริหารเดิมที่บริหารมาจนถึงปี 2561 ก่อนที่ผู้บริหารปัจจุบันเข้ามา ซึ่งบริหารอยู่ 3 ปี บวกกับไม่มีอัตราค่าไฟส่วนเพิ่ม (Adder) โดยเมื่อปีที่แล้ว (2565) ขาดทุนประมาณ 100 ล้านบาท
และปีนี้ (2566) กระแสเงินสดติดลบเดือนละ 4-5 ล้านบาท ยิ่งถูกพักใบอนุญาตอีก ก็ทำให้ยิ่งติดลบไปเรื่อย ๆ ทางบริษัทประคับประคองมาตลอด
“เราต้องการปล่อยโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จีเดค หาดใหญ่มาตลอด ตอนนี้มีการเจรจากับกลุ่มทุนใหม่ อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ยังไม่จบกระบวนการ”
ทำให้บริษัทไม่อยากที่จะลงทุนมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว (2565) เพราะต้องการหาคนมาทำ หาคนมาซื้อ ทางบริษัทต้องการจะไปมุ่งธุรกิจที่มีความถนัด นั่นคือ ธุรกิจโรงแรม และอสังหาริมทรัพย์
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จีเดค หาดใหญ่ ภายใต้การบริหารบริษัท จีเดค จำกัด เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 โดยเทศบาลนครหาดใหญ่ ทำสัญญากับบริษัท จีเดค จำกัด เมื่อปี 2553 ให้เป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและบริหารจัดการขยะ เป็นเวลา 25 ปี
โดยมีข้อกำหนดว่า เป็นโครงการเตาเผาขยะมูลฝอยที่สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้ 300 ตันต่อวัน และเปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงานไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง

สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *