Home » ข่าว » ครม.เห็นชอบระเบียบ SEA ให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นเครื่องมือทำแผน

ครม.เห็นชอบระเบียบ SEA ให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นเครื่องมือทำแผน

ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. …. ตามที่สภาพัฒน์เสนอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดทำแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้สำนักงบประมาณรับความเห็นของกระทรวงพลังงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่สภาพัฒน์เสนอ เป็นการดำเนินการตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามระเบียบหรือกฎหมายอื่นใดไว้แล้ว การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย


โดยร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เป็นการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment. SEA) ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดทำแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช่น แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี)
เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ทั้งนี้ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีมติเห็นชอบแล้ว
ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ โดยมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำแผน กระบวนการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และการได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการเสนอร่างระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทได้บัญญัติให้อำนาจไว้
และมิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร) จึงเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร
สาระสำคัญของร่างระเบียบฯ ประเด็น รายละเอียด


1. แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (กยส.) (ร่างข้อ 4 – 13) กำหนดให้ กสย. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 คน เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 9 คน เช่น ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ SEA โดยมีรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
กำหนดให้ กสย. มีหน้าที่และอำนาจ เช่น (1) กำหนดนโยบาย แนวทางการพัฒนา และกลไกในการขับเคลื่อน SEA เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ (2) กำหนดรายชื่อแผนที่ต้องทำ SEA และ (3) กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง คู่มือ และวิธีการ SEA ที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำนักงานเลขานุการของ กสย. คือ สศช. มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องจัดทำ SEA เพื่อให้การประเมินในด้านต่าง ๆ มีความสอดคล้อง และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนศึกษา วิเคราะห์ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็น หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของ กสย.
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานดังกล่าว ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของ สศช.
2.แผนที่ต้องจัดทำ SEA (ร่างข้อ 14 – 16) กำหนดให้ กสย. ประกาศกำหนดรายชื่อแผนที่หน่วยงานของรัฐจะต้องทำ SEA ได้แก่ (1) คมนาคม (2) พลังงาน (3) อุตสาหกรรม (4) ทรัพยากรน้ำ (5) ทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ (6) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (7) ผังเมือง และ (8) เขตพัฒนาพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ให้ กสย. กำหนดรายชื่อหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำ SEA ตามรายชื่อแผนที่ กสย. ประกาศกำหนด โดย กสย. ต้องดำเนินการประกาศรายชื่อหน่วยงานของรัฐที่ต้องจัดทำ SEA ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่ร่างระเบียบนี้ใช้บังคับ (90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป)
3.การจัดทำ SEA (ร่างข้อ 17 – 22) กำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้แนวทาง SEA ที่ กสย. ประกาศกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินงาน และต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานของรัฐต้องจัดเตรียมงบประมาณและบุคลากรรองรับสำหรับ SEA ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐอาจจัดทำหรือปรับปรุงคู่มือ SEA รายสาขาหรือเชิงพื้นที่เพิ่มเติมก็ได้ เพื่อนำไปปรับใช้และบูรณาการให้เหมาะสมกับบริบทของการจัดทำแผนแต่ละประเภท
กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและกำกับการจัดทำ SEA โดยให้มีตัวแทนของคณะอนุกรรมการที่ กสย. แต่งตั้งอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำ SEA
กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเสนอแผนที่บูรณาการ SEA ต่อคณะกรรมการระดับนโยบายและ/หรือคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเสนอรายงาน SEA ให้ กสย. ทราบ เพื่อนำไปใช้ในการติดตามประเมินผล และพัฒนาระบบ SEA ของประเทศต่อไป

สำนักข่าวโฟกัส

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *