แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมหารือคณะประสานงานระดับพื้นที่ ครั้งที่ 5/2566 ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ สร้างสันติสุขแบบองค์รวม
17 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ พร้อมด้วย พลโท อุทิศ อนันตนานนท์ แม่ทัพน้อยที่ 4, พลตรี วรเดช เดชรักษา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 / ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และคณะฯ ร่วมประชุมกับคณะประสานงานระดับพื้นที่ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2566
โดยมี พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานประชุมหารือฯ และชี้แจงความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยฯ เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานข้อเสนอแนะ และความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับทราบความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหมด 8 กลุ่ม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าร่วมการประชุมฯ
พลเอก วัลลภ รักเสนาะ เปิดเผยว่า ในห้วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล มีความห่วงใยเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มากนัก ยืนยันรัฐบาลได้กำหนดกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไว้ชัดเจนทุกระดับ ซึ่งจัดเป็นนโยบายระดับชาติ ที่ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อม
บูรณาการทำงานร่วมกัน
“ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ก็ต้องพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่ ให้ประชาชนได้เข้ามา
มีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง”
ส่วนการจัดทำแผนปฎิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP ก็ต้องมีการสานต่อ
เพื่อบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้ง และนำไปสู่สันติสุขที่ถาวรในพื้นที่พร้อมย้ำว่า ในอนาคตยังคงเป็นคณะพูดคุย
สันติสุขจากกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BarisanRevolusi Nasional: BRN) หรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ยืนยันในนามรัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทั้งประชาชนและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
โอกาสนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ กล่าวว่า การขับเคลื่อนในคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ยังคงเดินหน้า
ขับเคลื่อนต่อไป ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ คาดว่าไม่แตกต่างจากนโยบายเดิมที่เป็นยุทธศาสตร์เดิมที่ทำอยู่ นั่นคือการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
“เรามีจุดยืนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ไม่ว่ารัฐบาลไหน ช่วงการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลในขณะนี้
เราก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลกับทุกฝ่าย ประชาชนเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อเกิดความสันติสุขในพื้นที่” พลโท ศานติ กล่าว
ทั้งนี้ การเปิดเวทีการพูดคุยของคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ครั้งนี้ มีความคืบหน้าไปมากแล้ว นับเป็นกลไกที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความพยายามสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข และมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในทุกกลุ่มเวทีการพูดคุยมาโดยตลอด ไม่มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดเพราะที่สำคัญการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี คือกลไกที่ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม